แฟลชสปีช : คำตอบ‘19 กันยา’ : โดย การ์ตอง

แฟลชสปีช : คำตอบ‘19 กันยา’ : โดย การ์ตอง

แฟลชสปีช : คำตอบ‘19 กันยา’ : โดย การ์ตอง

ชั่วโมงนี้ ที่นัดหมายของการรวมตัวเครือข่าย “ประชาชนปลดแอก” ไปอยู่ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพื่อให้กำลัง อานนท์ นำภา และ ไมค์ ระยอง ที่ถูกถอนประกันตัวถูกขังในเรือนจำ

“ประชาชนปลดแอก” ซึ่งวิวัฒนาการจาก “เยาวชนปลดแอก” อันมีเครือข่ายกระจายไปสู่การก่อการชุมนุมในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ
รุกไปถึงเด็กๆ ในโรงเรียนมัธยมต่างๆ จัดกิจกรรมชู 3 นิ้ว ร้องเพลงชาติกระหึ่มไปทั่วประเทศ

ความเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา นักเรียนทั่วประเทศ แม้จะมีความหลากหลายในการแสดงออก สร้างนักพูด ดาวเด่นการปราศรัยขึ้นมามากมาย แต่หากติดตามแบบจับประเด็นจะพบว่า มีจุดหมายเดียวกัน

Advertisement

นั่นคือ “คืนอำนาจให้ประชาชน”

พวกเขาต้องการ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่ให้ความสำคัญกับ “อำนาจประชาชน” อย่างแท้จริง

ความเคลื่อนไหวที่พิสูจน์พลังและความหนักแน่นในข้อเรียกร้องว่ามีอยู่จริง เกิดขึ้น 2 ครั้งคือ เวทีที่ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต” และที่ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ที่มีผู้เข้าร่วมเกินคาด เป็นเรือนหมื่นครั้งแรกของ “ม็อบที่นำโดยเยาวชน”

Advertisement

หลังจากนั้นม็อบกระจายไปตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศอีกครั้ง หากติดตามแบบจับประเด็นจะพบว่าสาระหลักอย่างหนึ่งคือ การกระตุ้นเตือนให้ร่วมชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

หากเฝ้าฟังการปราศรัยในทุกเวทีจะพบการยืนยันเหมือนๆ กันจากแกนนำว่า “19 กันยายน จะเป็นการชุมนุมใหญ่ และมีเป้าหมายที่จะให้พลังให้เกิดบางสิ่งบางอย่างที่ก้าวสู่อำนาจเป็นของประชาชนที่ชัดเจน”

แม้ใน “มหกรรมประชาชน นอนแคมป์ไม่นอนคุก #เราคือเพื่อนกัน” ที่กลุ่มดาวดิน สามัญชน เป็นแกนนำจัดขึ้นที่ “อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม” จะประกาศ 5 ข้อเรียกร้อง ที่เชิญชวนให้ทุกคนทุกฝ่ายมาช่วยผลักดันในเวทีธรรมศาสตร์ “19 กันยายน” แต่คำตอบว่าบางอย่างที่คาดหวังจะสำเร็จคืออะไร

คงต้องย้อนไปดูวาทกรรมที่ย้ำในหลายเวทีการชุมนุมก่อนหน้านั้น ซึ่งจะพบว่ามีอยู่ 2 วาทกรรมที่น่าสนใจคือ “นี่ไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการปฏิวัติ” และ “วุฒิสภาจะต้องยุติบทบาทภายในเดือนกันยายนนี้”

ทั้ง 2 วาทกรรมว่ากันให้ถึงที่สุดแล้วเป็นเรื่องเดียวกับ “คืนอำนาจให้ประชาชน”

“วุฒิสภา” ที่ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของ “คสช.” อันไม่ยึดโยงประชาชน ถูกมองว่าเป็น “หัวใจของกลไกสืบทอดอำนาจ” เพราะมีอำนาจล้นเหลือในโครงสร้างอำนาจของประเทศ ไม่ว่าจะมีส่วนสำคัญที่จะเชิดให้มาเป็น “นายกรัฐมนตรี” และการมีอำนาจแต่งตั้ง “องค์กรอิสระ” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในเกมการเมือง เป็นศูนย์กลางของ “ความยุติธรรม 2 มาตรฐาน” เช่น งานคู่ต่อสู้ ช่วยเหลือพวกเดียวกัน

เมื่อการจัดการ “วุฒิสภา” ทำไม่ได้ หากยังไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ และเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้เลยในกลไกปกติ
มีหนทางเดียวคือ “ปฏิวัติ” เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
เพียงแต่การปฏิวัติเที่ยวนี้มีความหวังว่าจะไม่ใช่โดยทหาร โดยกองทัพ แต่จะเป็นการปฏิวัติโดยประชาชน
และด้วยความหวังนี้ทำให้ “การชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์” มีความน่าสนใจยิ่ง
น่าสนใจว่า “การยุติบทบาทของวุฒิสภา” ที่ประกาศไว้ทุกเวที จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

การปฏิวัติโดยประชาชนอันเป็นของใหม่จะถูกนำเสนอด้วยรูปแบบอย่างไร

ถึงวันนี้ การชุมนุมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพื่อหยั่งเชิงผู้มีอำนาจ และปลุกเร้าอารมณ์ร่วมจากพลังที่เกิดจากความรู้สึกต่อชะตากรรมของเพื่อนผู้ร่วมต่อสู้ อานนท์ นำภา จึงน่าสนใจยิ่ง

ว่าจะนำไปสู่ “19 กันยายน” ที่ร้อนแรงได้แค่ไหน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image