ส่องรายงาน กมธ.สภา บทสรุป-ข้อเสนอ‘แฟลชม็อบ’

ส่องรายงาน กมธ.สภา บทสรุป-ข้อเสนอ‘แฟลชม็อบ’

ส่องรายงาน กมธ.สภา
บทสรุป-ข้อเสนอ‘แฟลชม็อบ’

หมายเหตุบทสรุปและข้อเสนอแนะในรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณามีมติให้รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เป็นประธานหลังผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯ และส่งต่อรัฐบาลไปดำเนินการ

บทสรุป

จากการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการที่ได้เชิญบุคคล หรือหน่วยงานที่มีประสบการณ์ด้านการชุมนุม มาให้คำปรึกษาหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ข้อเสนอแนะด้านประสบการณ์และด้านวิชาการ ทำให้คณะกรรมาธิการได้รับทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่มีนโยบาย หรือคำสั่งห้ามครู หรือนักเรียนแสดงออกทางความคิดเห็น แต่การแสดงความคิดเห็นของนักเรียนนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง และทราบว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ใช้ความรุนแรง ไม่มีการคุกคาม หรือข่มขู่ผู้ชุมนุม หรือการกระทำที่มีลักษณะ เป็นการคุกคาม หรือข่มขู่ผู้ชุมนุมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ทำให้ทราบถึงบทบาทของศูนย์ทนายความ เพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่างไรก็ตาม จากการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการยังชี้ให้เห็นว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนยังมีข้อกังวลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ กล่าวคือ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีข้อกังวล และไม่มีความเชื่อมั่นต่อความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ รวมถึงมีการถูกข่มขู่ หรือคุกคามหลากหลาย รูปแบบและเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ดังนั้น แนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้สถานการณ์ของปัญหาคลี่คลาย หรือลดระดับความรู้สึกของกลุ่มผู้ชุมนุมลงได้ คือ ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรง หยุดคุกคาม กระทำโดยเปิดเผย ตรงไปตรงมา เพื่อสร้างหรือเพิ่มระดับความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้ชุมนุม ซึ่งจากการประสานงานเพื่อเชิญตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมมาร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการเพื่อแสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่ผู้แทนกลุ่มผู้ชุมนุมได้ให้การปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการเดินทางไปรับฟังความคิดเห็น และสังเกตการณ์ในพื้นที่การชุมนุม จำนวน 7 เวที การชุมนุม เพื่อนำข้อเสนอมาประกอบการพิจารณา พร้อมกันนี้คณะกรรมาธิการยังได้เดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งคณะกรรมาธิการได้แสดงความเห็นว่า เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และบุคลากรในสถาบันการศึกษาจัดกิจกรรมการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็น ตลอดทั้งรูปแบบการจัดกิจกรรมภายในสถานศึกษาได้อย่างอิสระ สร้างสรรค์ และอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย จึงควรเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรในสถานศึกษา แสดงความคิดเห็นในสถานการศึกษา สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หน้าที่ความเป็นพลเมือง ตลอดทั้งคุณธรรมและจริยธรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา กำหนดมาตรการความปลอดภัยให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และป้องกันการแทรกแซง จากบุคคลภายนอก นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการได้รับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ

Advertisement

1.การรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์โดยการรวบรวมความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ ลักษณะเป็นการทั่วไปเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา จำนวน 192 กลุ่ม ซึ่งจากการรวบรวมความคิดเห็นสรุปได้ ดังนี้ 1) ขอให้มีการยุบสภา 2) หยุดคุกคามประชาชน 3) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 4) โจมตีการบริหารงานของรัฐบาล เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาการว่างงาน เป็นต้น และ 5) เรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำผู้ชุมนุม

2.การรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์โดยรูปแบบของการตอบคำถาม จำนวน 11 ข้อ ระหว่างวันที่ 20 ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2563 รวมจำนวนผู้ตอบทั้งสิ้น 2,505 คน สรุปได้ ดังนี้

2.1 ติดตามข่าวการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา คิดเป็นร้อยละ 45.4

Advertisement

2.2 เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คิดเป็นร้อยละ 54.2

2.3 เห็นด้วยกับที่จะให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 59.1

2.4 เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่เสนอให้มีการยุบสภา คิดเป็นร้อยละ 51.1

2.5 เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่เสนอให้หยุดคุกคามประชาชน คิดเป็นร้อยละ 58.4

2.6 เห็นด้วยกับการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชน ต้องไม่มีประเด็นอื่นแอบแฝง คิดเป็นร้อยละ 47.4

2.7 เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชน ครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิ แสดงถึงจุดยืนทางการเมืองตามวิถีประชาธิปไตย โดยไม่มีผู้ให้การสนับสนุน คิดเป็นร้อยละ 52.3

2.8 เห็นด้วยกับการแสดงออกทางการเมืองของเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 51.5

2.9 เห็นด้วยกับการที่ สพฐ.สั่งทุกโรงเรียนในสังกัดเปิดพื้นที่ให้นักเรียนชุมนุม โดยห้ามมีคนนอกร่วม คิดเป็นร้อยละ 55.3

2.10 เห็นด้วยกับสถานการณ์ของการออกมาชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชน คิดเป็นร้อยละ 50.1

3.การรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์โดยรูปแบบการจัดทำแบบสำรวจทัศนคติของประชาชน ที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชน โดยแยกเป็นทัศนคติเชิงบวก ทัศนคติเชิงลบ ทัศนคติเชิงทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อทราบว่าประชาชนคิดอย่างไรกับการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชน จากข้อมูล ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นนักวิชาการ ตลอดทั้งความคิดเห็นในรูปแบบการตอบแบบสอบถาม เป็นการชี้ให้เห็นว่าการแสดงความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน มีวัตถุประสงค์ของการแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน จึงมีความจำเป็นที่ควรเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น

สำหรับประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน และคณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า หากมีความจำเป็นที่ต้องมีการพูดคุย หรือการแสดงความคิดเห็นในรูปแบบวิชาการ ต้องแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และควรใช้ วิธีการสื่อสารสองทาง กล่าวคือ การสื่อสารที่มีผู้พูดและผู้ฟังสามารถโต้ตอบกันได้โดยมีสื่อกลางเดียวกัน ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังความคิดเห็น ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมได้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และสถานศึกษามีการเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นมากขึ้น พร้อมกันนี้คณะกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการไว้ท้ายรายงานของคณะกรรมาธิการเพื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาด้วยแล้ว

ข้อเสนอแนะ

คณะกรรมาธิการมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มีหน้าที่ และอำนาจที่เกี่ยวข้องควรเปิดโอกาส และรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณา เช่น คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น

2.กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

(1) สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ความเป็นพลเมืองตลอดทั้งคุณธรรมและจริยธรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา อย่างถูกต้อง

(2) สถานศึกษามีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียน และบุคลากรในสถานศึกษา จัดกิจกรรมการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็น ตลอดทั้งรูปแบบการจัดกิจกรรมภายในสถานศึกษาได้อย่างอิสระ สร้างสรรค์ และอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย จึงควรเปิดพื้นที่ให้นักเรียนและบุคลากรในสถานศึกษา เพื่อแสดงความคิดเห็นในสถานศึกษาได้

(3) ควรกำหนดมาตรการความปลอดภัยให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษาในการคัดกรองบุคคลภายนอกที่เข้า-ออกสถานศึกษาและประสานงานกับสถานีตำรวจในพื้นที่เพื่อดูแลความปลอดภัยและป้องกันการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก

(4) ให้คำแนะนำแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมที่มีการรวมตัว คนจำนวนมากมีความเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)

3.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(1) การนำมาตรการตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาใช้นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา แต่ปรากฏว่าในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำมาตรการดังกล่าวไปใช้กับกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ผิดวัตถุประสงค์

(2) ควรสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการชุมนุมในช่วงการบังคับใช้พระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เท่านั้น

(3) ควรสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการชุมนุมภายหลังวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ได้มีการประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการ บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 13) เพื่อยกเว้นความในมาตรา 9 ของพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จึงส่งผลให้การชุมนุมสามารถกระทำได้แต่ต้องอยู่ ในบังคับพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

(4) การให้คำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางการจราจรหรือระบบการขนส่งสาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อยที่สุด

(5) การรักษาความปลอดภัยหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมในสถานที่ชุมนุม

(6) ต้องไม่ใช้ความรุนแรง คุกคามหรือข่มขู่ผู้ชุมนุม หรือการกระทำที่มีลักษณะเป็นการคุกคามหรือข่มขู่ผู้ชุมนุม

ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณามีมติให้รับฟังความคิดเห็น ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ได้พิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและผ่านระบบออนไลน์แล้ว คณะกรรมาธิการเห็นควรมีข้อสังเกตที่คณะรัฐมนตรี องค์กรอัยการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรทราบหรือควรปฏิบัติมีดังนี้

1.สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มีหน้าที่ และอำนาจที่เกี่ยวข้องควรเปิดโอกาสและรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณา เช่น คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทาง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น

2.คณะรัฐมนตรี ในฐานะที่มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบ บริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คณะรัฐมนตรีควรเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน เพื่อแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ สร้างสรรค์ และอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งนี้ การรับฟังความคิดเห็นควรเป็นไปด้วยความจริงใจและปราศจากอคติ

3.กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในฐานะที่มีหน้าที่ในการกำกับและดูแลโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาจัดกิจกรรมการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็น ตลอดทั้งรูปแบบการจัดกิจกรรมภายในโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาได้อย่างอิสระ สร้างสรรค์ และอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย จึงควรเปิดพื้นที่ให้นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา เพื่อแสดงความคิดเห็นในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หน้าที่ความเป็นพลเมือง ตลอดทั้งคุณธรรมและจริยธรรม กำหนดมาตรการ ความปลอดภัยให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษาในการคัดกรองบุคคลภายนอกที่เข้า-ออกโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก

4.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และขั้นตอนการชุมนุมที่กฎหมายกำหนด และการบังคับใช้กับผู้ชุมนุม ต้องไม่ใช้ความรุนแรง และไม่มีการคุกคาม หรือข่มขู่ผู้ชุมนุม หรือการกระทำที่มีลักษณะเป็นการคุกคาม หรือข่มขู่ผู้ชุมนุม ตลอดทั้งการรักษาความปลอดภัย หรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมในสถานที่ชุมนุม และการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม ควรคำนึงถึงหลักรัฐศาสตร์มาประกอบการพิจารณากับหลักนิติศาสตร์ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image