09.00 INDEX การเชิญตัว จตุพร พรหมพันธุ์ ‘เหตุผล’ แท้จริงมาจากอะไร

แม้ในที่สุดแล้ว การเชิญตัว นายจตุพร พรหมพันธุ์ เข้าไป “ปรับทัศนคติ” ในกองทัพภาคที่ 1 จะมาจาก
ความเข้าใจที่ “คลาดเคลื่อน”

แต่ก็ต้องยอมรับว่า “กระบวนการ” ทั้งหมดมี “ราก”งอกมาจากการปรากฏขึ้นของ “ร่าง” รัฐธรรมนูญ
หาก “ศึกษา” จาก “ถ้อยคำ” อันมาจาก “คสช.” ก็จะได้ “คำตอบ”

หาก “ศึกษา” จาก “ถ้อยคำ” อันมีการแถลงอย่างยาวเหยียดจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็จะได้ “คำตอบ”
เริ่มจาก “บทสรุป” ของ “สปท.” ที่เป็น “ทนายความ”

เป็นบทสรุปที่ว่า “ร่าง” รัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่มุ่ง “ปราบโกง” ส่งผลให้นักการเมืองบางคน
มี “สภาพ” เหมือนผีถูก”น้ำมนต์”

Advertisement

สมาชิก”สปท.”ซึ่งเป็น “ทนายความ” ผู้นั้น เป็นใคร มีชื่อเสียงเรียงนามอย่างไร คนที่ติดตามข่าวสารย่อมรับรู้อยู่เป็นอย่างดี
ไม่จำเป็นต้องระบุว่าเป็นชื่อหรือเป็นใคร

ตรงนี้เอง คือ แรงบันดาลใจให้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ตอบโต้อย่างถึงลูกถึงคนออกมาทันทีทันความว่า
“เผด็จการ” ต่างหากที่มีสภาพเหมือนหมาถูก “น้ำร้อนลวก”

หากรับรู้ในฐาน”ข้อมูล”ระหว่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ กับสมาชิก”สปท.”ซึ่งเป็นทนายความคนนั้น
ก็ถือได้ว่าเป็น “ขนม” อันพอสมคมกับ “น้ำยา”

Advertisement

บังเอิญที่คำว่า “เผด็จการ” มีลักษณะอันครอบคลุม กว้างไกล ลึกซึ้ง จึงมีบางคนบางท่านคิดว่าเป็นการอุปมาอุปไมยอันซับซ้อน
ซับซ้อนแบบ “ตีวัว” กระทบ”คราด”

จึงกลายเป็น “ภาระ” ที่คณะทำงานกฎหมายของคสช.ต้องศึกษาและหาหนทางเพื่อยุติเรื่องนี้
การเชิญตัว นายจตุพร พรหมพันธุ์ จึงเกิดขึ้น

และลงเอยด้วยคำแถลงจาก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. ชัดถ้อยชัดคำ

“คสช.ไม่เคยห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ หรือห้ามแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ

เพียงแต่การให้ความเห็นของบางกลุ่มหรือบางบุคคลมีลักษณะใช้กิริยาวาจารุนแรงผิดธรรมชาติและไม่สร้างสรรค์

บางครั้งมีลักษณะเหมือนปลุกปั่นให้เกิด ความเกลียดชังหรือเกิดความขัดแย้ง”
ซึ่งได้รับการอธิบายโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่า

“ไม่ได้ห้าม วิจารณ์ได้ แต่ต้องไพเราะหน่อย โตป่านนี้แล้ว เป็นสามัญชนแล้ว ไม่ชอบไม่ว่าอะไรแต่ใช้วาจาดีๆ”
ปมเงื่อนจึงอยู่ที่ “วาจา”

ถามว่าการเชิญตัว นายจตุพร พรหมพันธุ์ เข้าไปหารือและ”ปรับทัศนคติ”โดยกองทัพภาคที่ 1 จะยุติการวิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่
หากดูจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ไม่ได้

สถานการณ์จึงเหมือนกับที่มีความพยายามไป “เชิญตัว” นายจตุพร พรหมพันธุ์ จากตลาดมหาชัยเมืองใหม่
จริงอยู่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่ได้ไป”อุทยานราชภักดิ์”

แต่คำถามก็คือ แล้วความสงสัย แคลงใจและกังขาในเรื่องการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์หมดสิ้นไปหรือไม่
เห็นกันชัดๆ ว่า “ไม่จบ”

ตรงกันข้าม กลับดำเนินไปในลักษณะอัน “ต่อความยาว สาวความยืด” ชวนให้เกิดประเด็นใหม่ติดตามมา
ทั้งๆ ที่โบราณสอนว่า “รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ”

น่าสนใจก็ตรงที่ กรรมวิธียุติปัญหา ยุติเรื่องราวใน”กระบวนการ”แบบนี้ล้วนมาจากสมอง”ก้อนโต”ของคณะทำงานกฎหมาย คสช.

ทำให้นึกถึง “ขอนแก่นโมเดล” ทำให้นึกถึง”สถานีบ้านโป่ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image