บทนำ : ส.ว.และ‘วิกฤต’

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังมีปัญหาที่วุฒิสภา ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขในส่วนที่สำคัญ อาทิ การปิดสวิตช์ ส.ว. หรือการยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งควรเป็นอำนาจของ ส.ส. ไปจนถึงการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ แม้ว่ามี ส.ว.บางคนออกมาสนับสนุนการแก้ไข อาทิ นายวันชัย สอนศิริ ได้ประกาศปิดสวิตช์ตัวเอง สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าหากไม่แก้ไข จะเกิดวิกฤตลุกลามได้ แต่ ส.ว.จำนวนมาก โดยเฉพาะที่มาจากกองทัพ ยังยืนยันท่าทีเดิม

ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า มีการตั้งกลุ่ม ส.ว. 60 คน ใช้ชื่อว่ากลุ่ม ส.ว.อิสระ ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ไม่มีทหาร ตำรวจ ได้ตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แนวทางของกลุ่มเห็นตรงกันว่า สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้มีการแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยพร้อมให้แก้ไขมาตรา 272 เรื่องการยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

นายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ หนึ่งในกลุ่ม ส.ว.อิสระ เผยว่า ตนเองเห็นว่าควรแก้ไขแบบรายมาตรา ไม่ใช่การตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรีก็ไม่ขัดข้อง เพราะห็นตรงกันว่า หมดความจำเป็นที่จะให้ ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯแล้ว ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ต้องใช้ความสามารถตัวเองไปหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เอง จะได้มีความสง่างาม

เสียงจาก ส.ว.มีความสำคัญมากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าร่างแก้ไขจะผ่านรัฐสภาได้ ต้องมีเสียง ส.ว.สนับสนุนอย่างน้อยหนึ่งในสามของ ส.ว.ทั้งสภา หรือ 84 คน ขณะที่ ส.ว. 250 คน มีที่มาจาก คสช. ดังนั้น หากนายกฯไม่ส่งสัญญาณ การแก้ไขไม่สำเร็จแน่นอน น่าสนใจว่าสุดท้ายแล้ว ส.ว.จะเลือกหนทางใด ระหว่างการสนับสนุนตัวบุคคล กับการคืนประชาธิปไตย ที่มีผลแก้วิกฤตทางการเมืองด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image