องอาจ ออกโรงโต้แทน ‘มาร์ค’ ชี้ ‘มีชัย’ควรเป็นผู้ใหญ่ใจกว้าง อย่ามัวตีขลุม-ด่ากราด

“องอาจ” ออกโรง โต้แทน “มาร์ค” ชี้ “มีชัย” ควรเป็นผู้ใหญ่ใจกว้าง พร้อมรับคำท้วงติง อย่าเอาแต่ตีขลุม-ด่ากราด หากคนรู้จริงออกมาพูดจี้ใจดำ ซัด เปิดช่องอุทธรณ์คดีอาญาอ้างหลักสิทธิมนุษยชนเหตุผลฟังไม่ขึ้น

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้กล่าวถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ที่กล่าวถึงการเปิดช่องให้มีการอุทธรณ์ในศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า เราเห็นใจที่กรธ.ทำงานหนัก แต่ควรเป็นผู้ใหญ่ที่เปิดใจกว้าง เพื่อรับฟังคำท้วงติงต่างๆ ด้วยเหตุผล เพราะเราไม่ได้มีการชี้นำหรือพูดโกหกบิดเบือน แต่พูดอยู่บนพื้นฐานของสาระเหตุและผลในร่างรัฐธรรมนูญ และการที่บอกว่า หากเชื่อนักการเมืองจะเป็นอันตรายได้นั้น ทางกรธ.ต้องแยกแยะ เพราะนักการเมืองก็มีที่เชื่อได้ และเชื่อไม่ได้ มีทั้งทำลายประเทศและสร้างสรรค์ประเทศ เช่นเดียวกับข้าราชการและคนในวงการอื่น ๆ เพราะฉะนั้นท่านไม่ควรเหมารวมว่า สิ่งที่นักการเมืองพูดเป็นสิ่งที่เชื่อไม่ได้ แต่ควรดูเนื้อหาสาระที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่า ดังนั้นกรธ.ควรเปิดใจกว้างรับฟังข้อโต้แย้งมากกว่าที่จะตีขลุม ด่ากราด เพียงเพราะไม่ถูกใจที่มีคนที่รู้จริงออกมาจี้ใจดำ

นายองอาจ กล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องการให้สิทธิอุทธรณ์อีกชั้นหนึ่งได้โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ และอ้างว่าให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้น เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ได้กำหนดให้มีการอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้อยู่แล้ว แต่ฉบับของนายมีชัย เอื้อประโยชน์ให้กับจำเลยที่ถูกดำเนินคดีในศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างชัดเจน เพราะ 1. สามารถยื่นอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ 2. สามารถต่อสู้คดีได้ในอีกองค์คณะหนึ่งทั้งตั้งขึ้นมาใหม่ 3. หากศาลฎีกาตัดสินครั้งแรกแล้ว จำเลยมีโทษจำคุกก็จะมีปัญหาในเรื่องการประกันตัว เพราะจำเลยอาจจะอุทธรณ์แล้วหาช่องทางกลบหนีก็ได้ และ 4. การพิจารณาของศาลฎีกาชั้นเดียวกัน องค์คณะก็มีศักดิ์และสิทธิเท่ากัน และหากคำพิพากษาที่ขัดแย้งกัน แล้วจะฟังองค์คณะชุดใด นี่คือเหตุผลที่เราท้วงติงด้วยหลักเหตุและผลว่า จะเป็นประเด็นปัญหาที่จะทำให้การปราบปรามทุจริตอ่อนแอลง

“ที่กล่าวว่าอย่านึกว่าคนที่เราไม่ชอบจะเป็นพวกเดียวที่ไปสู่ศาลได้ วันดีคืนดี คนที่เราชอบ ก็อาจจะไปที่ศาลนั้นได้เหมือนกัน ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่า คุณอภิสิทธิ์ พูดไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องของหลักการ ตามหลักสากลก็ได้เปิดโอกาสให้เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายของแต่ละประเทศด้วย ข้อเห็นแย้งของคุณอภิสิทธิ์ก็ชี้ให้เห็นว่าไท้จำเป็นว่าเป็นพวกเดียวกันหรือไม่ เพราะหากพวกเรากระทำความผิด ก็ไม่ได้รับการยกเว้นเช่นกัน ถ้า กรธ.บัญญัติเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 น่าจะถือให้เกิดความเด็ดขาดหลาบกับนักการเมืองทุจริตมากกว่า แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การปราบปรามเอาผิดกับผู้ทุจริตอ่อนแอลง จึงเป็นความจำเป็นที่นายอภิสิทธิ์ ต้องออกมาแสดงให้เห็นเพื่อประโยชน์ของส่วนร่วม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของนักการเมือง” นายองอาจ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image