สถานีคิดเลขที่ 12 : แบบไหนเรียกเผด็จการ : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : แบบไหนเรียกเผด็จการ : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

ตลอด 16 ชั่วโมงของการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการเมือง สร้างบรรยากาศคึกคักในสภาผู้แทนราษฎรได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนคนดูได้ประโยชน์มากที่สุด

ได้ฟังการตอบโต้ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล จะได้รู้ว่าใครมีเหตุผล ใครมีน้ำหนักกว่ากัน สำคัญที่สุด ฝ่ายไหนที่รักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนได้ดีกว่า

มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายค้านกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเป็นเผด็จการ ซึ่งดูจะสอดรับกระแสการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่กำลังมาแรง โดยมองว่าการเมืองไทยในยุคนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย เนื้อแท้คือเผด็จการ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบโต้กลับ ด้วยการย้อนถึงการเมืองบางยุคว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา เสียดสีไปถึงเรื่องคนหนีคดีอีกด้วย

Advertisement

ฟังแบบนี้ถ้าเป็นกองเชียร์รัฐบาลก็อาจเฮชอบใจ ที่ได้ตอบโต้เอาคืน

แต่คนทั่วไปฟังแล้ว พิจารณาไตร่ตรองแล้ว จะรู้สึกว่า เป็นคนละเรื่องเดียวกัน จะเอามาเปรียบเทียบเอามาเสียดสีกันได้อย่างไร

เผด็จการรัฐสภามีจริงหรือไม่ หรือแค่วาทกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อจะล้มประชาธิปไตย

Advertisement

ขณะที่เผด็จการแท้ๆ ชัดเจนอยู่แล้วว่าคือระบบอะไร

รัฐบาลทหารเข้าสู่อำนาจด้วยการนำกองทัพออกมายึดอำนาจ ล้มประชาธิปไตย ปกครองประเทศด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่มีรัฐสภา ไม่มีผู้แทนราษฎร ไม่มีพรรคฝ่ายค้านมาตรวจสอบ

อันนี้เผด็จการแน่นอน

ส่วนที่ยังโยงมายังนายกฯปัจจุบัน เพราะมองกันว่า การเขียนรัฐธรรมนูญปี’60 การเอา 250 ส.ว.มาโหวตตั้งนายกฯ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อนั้น เป็นประชาธิปไตยแค่เปลือก
แต่แก่นคือการทำให้เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ถูกกดทับโดยเสียงของผู้มาจากการแต่งตั้ง

แล้วการปฏิบัติของกลไกรัฐบาลต่อนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวในขณะนี้ มีการจับกุมดำเนินคดีสารพัดข้อหา ไม่ต่างจากในยุค คสช.เลย

ไม่ใช่บรรยากาศเสรีภาพเช่นรัฐบาลในยุคประชาธิปไตยปกติ

ส่วนคำว่า เผด็จการรัฐสภา นี่คือคำกล่าวหาการเมืองในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งท่วมท้น มีเสียงในสภาแน่นหนา

แต่การที่ได้ ส.ส.เข้ามาจนเป็นเสียงข้างมากอย่างล้นหลามนั้น มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย

อีกทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ชนะเลือกตั้ง ขณะที่ผู้จัดเลือกตั้งคือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นการชนะที่จะหาว่า ใช้อำนาจไปโกงผลคะแนนคงไม่ได้

ส่วนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ชุดปัจจุบันมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนหลัก ซึ่งไม่ได้ชนะเลือกตั้งโดยมี ส.ส.เป็นอันดับ 1 ทั้งเป็นการเลือกตั้งในยุคที่รัฐบาล คสช.เป็นผู้จัด เป็นผู้กุมอำนาจรัฐ อีกทั้งยังมีประเด็นกติกาพิสดาร ปาฏิหาริย์ มี 250 ส.ว.กำหนดการตั้งรัฐบาลด้วย

เป็นปมประเด็นให้โดนนักเรียนนักศึกษาออกมาประท้วงในวันนี้ จนเกิดกระแสร้อนแรงต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ดังนั้น การกล่าวถึงการเมืองในยุคเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยปกติ แล้วพรรครัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา ว่าเป็นเผด็จการรัฐสภาไม่น่าจะถูกต้อง

เพราะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน ขณะ
เดียวกัน พฤติกรรมของรัฐบาลเสียงข้างมากนั้น หากเลอะเทอะเหลวไหล ก็จะถูกประชาชน
ลงโทษในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ส่วนเผด็จการแท้จริงนั้น ประชาชนไม่มีส่วนร่วมใดๆ ไม่ได้เลือกเข้ามา และไม่มีขั้นตอนให้ประชาชนลงโทษได้

ถึงที่สุดคำว่าเผด็จการรัฐสภา มีการโหมขึ้นมาในยุคนั้น เพื่อปูทางสร้างกระแสไปสู่การล้มประชาธิปไตยเสียมากกว่า

ล้มแล้วก็เข้าสู่ยุคเผด็จการแท้จริงนั่นเอง

 

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image