‘อดีตขุนคลัง’ เสนอ 4 แนวคิดแก้เศรษฐกิจ แนะรัฐบาลทำควบคู่กับการไม่สร้างหนี้

‘อดีตขุนคลัง’ เสนอ 4 แนวคิดแก้เศรษฐกิจ แนะรัฐบาลทำควบคู่กับการไม่สร้างหนี้

เมื่อวันที่ 12 กันยายน นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยที่มีข้อเสนอให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีก​ 1 ล้านล้านบาท​มาใช้จ่าย​ ทั้งนี้ ตนขอตั้งข้อสังเกต และเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแบบกว้างๆ 4 แนวทาง คือ 1.ปรับค่าเงินบาทจาก 31 บาท เป็น 35 บาท และแม้เราได้เงินจากส่งออก​ 1 เหรียญสหรัฐเท่าเดิม​ แต่แลกได้เพิ่มอีก​ 4 บาท​ เพิ่ม​ 13% ต่อให้ส่งออกและท่องเที่ยวเท่าที่เป็นอยู่​ ก็ได้เงินบาทเพิ่มขึ้น​ แต่จริงๆ แล้ว​ ส่งออกจะดีขึ้น GDP​ จะติดลบน้อยลง ทั้งนี้ คนที่ส่งออกและรับนักท่องเที่ยวที่แท้จริง​ คือกรรมกรและชาวนา ดังนั้น เกือบทุกคนในประเทศไทยจะได้ประโยชน์ 2.คนไทยส่วนใหญ่ยังทำงานอยู่​ 34 ล้านคน​ มีคนว่างงานตอนนี้​ 4​ ล้านคน​ หากรัฐบาลแจกเงิน​บ่อยๆ​ จะทำให้คนไทยเสียนิสัย​ เหมือน​เวเนซุเอลา ซิมบับเว ฯลฯ คนจะเลิกทำงาน​ แล้ววันต่อๆ มาก็มาเรียกร้องอีก​ ประเทศจะล่มจม 3.นักอุตสาหกรรม​ที่เรียกร้องรู้ แต่ระดับ Micro ไม่รู้​เรื่อง เศรษฐศาสตร์​มหภาค คิดแต่เรื่องประโยชน์ตนเอง​ อยากให้รัฐบาลช่วยจ่ายค่าแรงโรงงานตนเอง และ 4.ให้เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศให้เต็มพื้นที่แบบจีน​ และเปิดการท่องเที่ยวกับจีนก่อน​ และ​ประเทศในเอเชียต่อมา ให้ยอมรับว่ามึการติดเชื้อได้โควิด-19 บ้าง​ ครอบครัวคนจนๆ​ อย่างคนไทย​ กลัวติดเชื้อมาก​ จนไม่มีรายได้​ ตั้งหน้าตั้งตา ไปกู้เขามากินอย่างเดียว​ ครอบครัวต้องล่มจม​

นายสุชาติกล่าวต่อว่า แนวคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจมี​ 4 เครื่องยนต์​ หากเศรษฐกิจแย่​ ให้เพิ่มรายจ่ายภาครัฐ (G) และกระตุ้นการบริโภค​ (C)​ เพื่อเพิ่ม​ GDP​ นั้น​ ไม่ถูกต้อง​ เป็นเศรษฐศาสตร์ 101 ทำอย่างนี้มากๆ​ รัฐบาลและประชาชนจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว​ ในระยะยาวประเทศจะไม่เจริญเติบโต​ เพราะต้องเอาเงินมาใช้หนี้แต่วิชาเศรษฐศาสตร์ระดับสูงบอกว่า​ เศรษฐกิจไม่ดี​นั้น เนื่องจาก ครอบครัวประเทศไทยขายสินค้าออกไปได้น้อย GDP จึงโตต่ำ​ ให้ลดราคาสินค้าให้แข่งขันให้ขายได้​ คือลดค่าเงินบาท​ลง​ เพื่อครอบครัว ประเทศไทยขายส่งออกและท่องเที่ยวได้มากขึ้น​ เมื่อราคาค่าเงินบาทแข่งขัน​ได้​ ก็จะขายได้มากมาย​ GDP​ จะเติบโตมากเป็น​ 10% ประเทศและประชาชนไทยจะร่ำรวย

“การเพิ่มตัว​ C หรือ​ตัว​ G นั้นไม่ได้ช่วย​เท่าไร​ เพราะนโยบายการคลังมีผลน้อยต่อ GDP (ดูรูป)​ โดยนโยบายการเงินมีผลมากกว่า​ และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน​มีผลมากที่สุดต่อ​ GDP​ โดยรัฐบาลไม่ต้องสร้างหนี้” นายสุชาติกล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image