นักวิชาการชี้ ข้อเรียกร้อง น.ศ.มาจากการเมืองบริสุทธิ์ ย้ำประเทศวิกฤตแค่ไหน ก็ต้องไม่ทำรัฐประหาร

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนา “What is to be done? ก้าวต่อไปของนักเรียน นิสิต นักศึกษาประชาชน” ร่วมเสวนาโดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นายเซีย จำปาทอง ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (TWFT), น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และหนึ่งในแกนนำคณะประชาชนปลดแอก และนายสรวิศ ชัยนาม อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

น.ส.จุฑาทิพย์กล่าวว่า การปรับแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นการตอบสนองจากรัฐไม่มีความยึดโยงกับประชาชน เนื่องจากสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ และในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีการตั้ง ส.ส.ร. มีความปราถนาอย่างยิ่งให้การร่างในครั้งนี้เป็นไปอย่างเสรี

นายเซียกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นแรงงานและประชาชนคนหนึ่งโดนกดขี่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง สวัสดิการ ความปลอดภัย รวมถึงความมั่นคงในการทำงานที่ไม่รู้เลยว่าจะตกงานวันไหน ทั้งนี้ หากปีไหนที่การเมืองดี เศรฐกิจดี เรายื่นข้อเรียกร้องกับนายจ้างให้เพิ่มค่าแรงได้ แต่ในตอนนี้เคราะห์ร้ายแรกที่มีคือรัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการมาบริหาร เคราะห์ร้ายต่อมาคือเจอโรคโควิค-19ระบาด สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้แรงงานเป็นอย่างมาก การเมืองเป็นตัวกำหนดให้เรามีสภาพการเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือต่ำลง และแม้ประเทศจะเกิดวิกฤตอย่างไรก็ไม่ควรให้เกิดการรัฐประหาร เพราะทำให้ประเทศล้าหลัง และทุกครั้งที่มีการรัฐประหารก็ไม่ได้ทำให้เศรฐกิจไทยดีขึ้น

น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์

นายจาตุรนต์กล่าวว่า สังคมไทยไม่ได้พัฒนาแนวความคิดเรื่องเสรีประชาธิปไตย หมายถึงเรื่องความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ การถ่วงดุลของรัฐและระบบการปกครอง ที่ประชาชนตรวจสอบได้ แต่ก็ได้มีการพัฒนาเองบ้าง ตามบริบทของการเมืองไทยที่ได้มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังคงมีการยึดอำนาจ ป้องกันไม่ให้ประชาชนกำหนดอะไรได้ อีกทั้งยังใช้กลไกลรัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจอยู่ในมือของพวกเขา

Advertisement

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ในตอนนี้สิ่งที่พวกเขาวางแผนมากำลังจะกลายเป็นจุดอ่อนของพวกเขาที่เป็นรัฐบาลซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศ และตอบโจทย์ของประชาชนได้ ที่สำคัญ ในอดีตที่ผ่านมาหลายครั้ง เรารู้สึกว่าได้ถึงประชาธิปไตย แต่แล้วสุดท้ายก็โดนเผด็จการดึงกลับไป เพราะทุกครั้งที่ได้มานั้นเราลืมคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยนั้นยั่งยืน

นายสรวิศกล่าวว่า ขอรับบทเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ ท่านได้เปิดประเด็นมาอย่างร้อนแรงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของนักศึกษา โดยข้อเรียกร้องมาถึงรากได้มากกว่านี้ไหม หรือนี่คือสุดๆ แล้วหรือ ส่วนตัวมองว่าข้อเรียกร้องต่างๆ ในตอนนี้เป็นข้อเรียกร้องจากการเมืองบริสุทธิ์ เพราะมันชัดในการเปลี่ยนแปลงการเมือง แต่มันไม่ชัดว่าต้องการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมไปในทิศทางใด เพราะปัญหาไม่ใช่แค่เพียงรัฐบาล แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวทุนนิยม สิ่งที่ไร้ประสิทธิภาพคือตัวทุนนิยม ไม่ใช่แค่นักการเมือง ไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่ตัวระบบคือวิกฤต คือสิ่งที่ไร้ประสิทธิภาพ นำมาสู่คำถามที่ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่ปราศจากเผด็จการ แต่ต้องปราศจากทุนนิยม การขับเคลื่อนเสรีประชาธิปไตยสามารถไปได้ไกลกว่านี้ ทำไมเราต้องเลือกระหว่างทุนนิยมที่เป็นเผด็จการหรือทุนนิยมที่เป็นประชาธิปไตย และถ้าไม่เอาทุนนิยมล่ะ?

นายเซีย จำปาทอง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image