อดีต ส.ส.ร.ปี 2539 จวกเละรัฐธรรมนูญ 60 แนะสเปก ส.ส.ร.ชุดใหม่ มีทั้งคนรุ่นเก่า-ใหม่อย่างละครึ่ง

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) และองค์กรเครือข่าย จัดเสวนาวิชาการและเวทีระดมความคิดหัวข้อ “สสร.แบบไหน…ที่คนไทยต้องการ” โดยมีนักวิชาการ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมแสดงความเห็น

นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พ.ศ.2539 และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้คุยกับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านการพัฒนาพรรค พรรคเพื่อไทย และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พ.ศ.2539 และเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เลวที่สุด คิดว่าทุกท่านคงเห็นพ้องต้องกันอย่างฉันทามติ ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันเรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ แต่การร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ช่วยร่างทุกครั้ง เท่าที่ตรวจสอบพบว่าผู้ที่เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ และเป็น ส.ส.ร.มีเพียง 4 ครั้งคือ 1.ส.ส.ร.คณะแรกในปี 2491 เกิดจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2490 แก้ไขเพิ่มเติ่มครั้งที่ 2/2491 โดย ส.ส.ร.ที่เกิดขึ้นนี้เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2492 ทั้งนี้ เหตุที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพราะมีการทำรัฐประหาร

นายพนัสกล่าวว่า 2.ปี 2500 มีการปฏิวัติอีกครั้งโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก กระทั่งเกิดปัญหา จอมพลสฤษดิ์ทำการปฏิวัติตนเองอีกครั้งหนึ่งในปี 2502 มีธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2502 ขึ้นมา ซึ่งมีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา มีสมาชิก 240 คน ส่วนใหญ่เป็นทหารและข้าราชการประจำ แต่งตั้งโดยจอมพลสฤษดิ์ 3.เรามี ส.ส.ร.อีกครั้งในปี 2539 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2534 ฉบับที่ 6 มาตรา 211 และ 4.รัฐธรรมนูญ 2540 ใช้ได้ 10 ปีก็เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา โดยมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 กำหนดให้ตั้ง ส.ส.ร.2550 ท้ายที่สุดมีการรัฐประหาร 2557 มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นมา แต่รัฐธรรมนูญ 2557 ไม่ได้กำหนดให้มี ส.ส.ร. แต่ให้เป็นลักษณะของกรรมาธิการ ในคณะแรกมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ต่อมาสภาปฏิรูปแห่งชาติไม่เอาฉบับของนายบวรศักดิ์ จึงตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีประธานคือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเราอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับนั้นมาจนถึงตอนนี้ และขณะนี้คิดว่าน่าจะถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว ซึ่งอันที่จริงควรจะเปลี่ยนแปลง หรือไม่ควรมีเลยด้วยซ้ำ

“เรามีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนายอนุสรณ์ อุณโณ ประธาน ครช.ที่รณรงค์อย่างหนักมากๆ ช่วงแรกๆ เราคิดว่าไม่ค่อยมีความหวังเท่าไหร่ แต่เนื่องจากเหตุการณต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง จึงคิดว่ามีแสงที่ปลายอุโมงค์ และมันสว่างขึ้นเรื่อยๆ” นายพนัสกล่าว

Advertisement

นายพนัสกล่าวว่า ข้อเหมือนและแตกต่างระหว่างร่าง ส.ส.ร.ของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น ข้อเหมือนคือ 1.คุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และไม่กำหนดคุณวุฒิการศึกษา 2.ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 1-2 3.มีการรับฟังความเห็นประชาชนอย่างทั่วถึง สำหรับข้อแตกต่าง อาทิ 1.จำนวน ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ตามแบบของรัฐบาลคือ 150 คน แบบฝ่ายค้านคือ 200 คน 2.ร่างของรัฐบาลมี ส.ส.ร.ที่มาจากที่อื่น 50 คน แต่ร่างของฝ่ายค้านไม่มีจากที่มาเหล่านี้ 3.การกำหนดให้ กกต.จัดการเลือกตั้งแตกต่างกัน โดยร่างของรัฐบาลเสนอ 90 วัน ส่วนฝ่ายค้านเสนอ 60 วัน

“ส่วนตัวเห็นด้วยกับร่างของพรรคร่วมฝ่านค้านซึ่งให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เราไม่ควรมีติ่งทั้งหลายอีก 50 คน แม้กระทั่งในประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ให้ กกต.เลือกมา ซึ่งก็คงเลือกเด็กของเขามาทั้งหมด นอกจากนี้ ร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ต้องผ่านรัฐสภาอีก เมื่อร่างเสร็จก็จัดทำประชามติได้เลย เราอยากรู้ว่าประชาชนอยากได้รัฐธรรมนูญแบบไหนก็ต้องให้เขาลงประชามติ ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยอย่างยิ่งหากร่างของพรรคร่วมฝ่านค้านล็อกไว้ว่า ส.ส.ร.ชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงเลือกตั้งว่า ควรมีอายุเกิน 35 ปี และไม่ควรต่ำกว่า 18 เพราะคนแก่ๆ คิดว่าไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ทั้งนี้ก็ต้องมีคนรุ่นเก่าด้วย เพราะต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญอื่นๆ อาจเป็นแบบครึ่งต่อครึ่ง แต่จะหาทางล็อกอย่างไรก็ขออนุโมทนาด้วย” นายพนัสกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image