สถานีคิดเลขที่ 12 : 19 กันยายน 2563 โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : 19 กันยายน 2563 โดย ปราปต์ บุนปาน

ตลอดสัปดาห์นี้ แทบทุกฝ่ายคงจับจ้องและพยายามคาดการณ์สถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2563

ท่ามกลางความวิตกกังวลและการประกอบสร้างความกลัวของคนบางฝ่ายว่าการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ซึ่งคณะผู้จัดกิจกรรมวางแผนจะใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นพื้นที่รวมพลนั้น อาจนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรง

ในทำนอง “6 ตุลา ภาคสอง”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความรุนแรงในวันเสาร์หน้าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลากหลายองค์ประกอบและตัวแสดง

ลำพังแกนนำการชุมนุมคราวนี้ซึ่งเป็นนักศึกษาคนรุ่นใหม่ รวมทั้งบรรดาผู้ชุมนุม คงไม่เที่ยวไปก่อความรุนแรงใดๆ ต่อตนเองและฝ่ายอื่นๆ หากประเมินจากแนวทางการเคลื่อนไหวเท่าที่ผ่านมาของพวกเขา

อย่างมากที่สุด สิ่งที่จะยกระดับขึ้นในวันที่ 19 กันยายน ก็คือการรุกคืบในเชิง “พื้นที่” ซึ่งมิได้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งถึงขั้นต้องลงมือใช้กำลังกันโดยตรง

ทางด้านผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีส่วนร่วมต่อเรื่องดังกล่าวอยู่ไม่น้อย เพราะมีการบ้านต้องคิดใคร่ครวญและประเมินสถานการณ์ให้ละเอียดรอบคอบว่าระหว่างการอนุญาตให้มีการจัดการชุมนุมภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย กับการยืนกรานไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่นั้น

ทางเลือกแบบไหนจะส่งผลดีและสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุม ตลอดจนสังคมไทย มากกว่ากัน?

แน่นอนว่ารัฐบาลและเครือข่ายอำนาจรัฐ เช่น หน่วยงานด้านความมั่นคง ย่อมมีบทบาทสำคัญในสถานการณ์วันที่ 19 กันยายน

ด้านหนึ่ง ต้องยอมรับความจริงว่ารัฐคือปัจจัยชี้ขาดว่าจะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเป็นฝ่ายที่ถือครองอาวุธและมีกำลังพลตำรวจ-ทหารอยู่ในมือ (ทั้งยังควบคุมสื่อกระแสหลักได้)

อีกด้านหนึ่ง คงต้องคำนึงถึงการอภิปรายของ ส.ส.บางราย เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ที่เอ่ยเตือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าการตัดสินใจใดๆ และตำแหน่งแห่งที่ของนายกรัฐมนตรีนั้น มิได้ยึดโยงอยู่กับสถานภาพของรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น แต่ยังผูกพันกับสถาบันทางสังคมการเมืองอื่นๆ อย่างลึกซึ้งด้วย

หากลองมองออกไปในมุมที่กว้างขวางขึ้น เราคงต้องพยายามทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก รวมถึงความคิดและปฏิบัติการทางการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่ ในยุคหลังความขัดแย้งเหลือง-แดง

และคงต้องประเมินว่าสังคมไทยยังมี “มวลชนขวาจัด” ที่ทรงพลังอยู่อีกหรือไม่? มากน้อยแค่ไหน?

องค์ประกอบเหล่านี้ (เป็นต้น) จะถักทอประสานกันขึ้นเป็น “ดุลอำนาจทางการเมือง” ของสังคมไทยร่วมสมัย ซึ่งช่วยบ่งชี้ถึงโอกาสความเป็นไปได้ต่างๆ ในอนาคตอันใกล้

หากดุลอำนาจมิได้ปรับเปลี่ยนขยับเขยื้อนไปไหนเลย “6 ตุลา” ก็อาจเกิดขึ้นซ้ำรอย

แต่ถ้าดุลอำนาจเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว กระทั่ง “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549” ก็ยังอาจเกิดขึ้นได้ยากใน พ.ศ.นี้

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image