รสนา ขอรอดูความจริงใจปมปฏิรูปพลังงานจากนายกฯ ก่อนตัดสินใจรับ-ไม่รับร่างฯ

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในช่วงสถานการณ์การลงประชามติขณะนี้ในหัวข้อ “ลงประชามติอย่างไรขึ้นอยู่กับความจริงใจของรัฐบาล คสช.” ระบุว่า

โค้งสุดท้ายของการลงประชามติ “รับ” หรือ”ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญสำหรับดิฉัน จะขอดูความจริงใจของรัฐบาลคสช.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ว่ารับฟังเสียงประชาชนมากน้อยเพียงใดเรื่องกฎหมายปิโตรเลียมและการปฏิรูปพลังงาน

ดิฉันเคยแสดงความเห็นว่าร่างรธน.ฉบับนี้เป็นฉบับทุนขุนนาง ที่ให้ “ข้าราชการและทุนเป็นใหญ่” ส่วนสิทธิของประชาชนเป็นเพียงผู้รอรับบริการจากรัฐ มีสิทธิให้ความเห็นแต่ไม่มีสิทธิคัดค้านสิ่งที่รัฐทำ จึงไม่ต้องพูดถึงสิทธิการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและการปฏิรูปบ้านเมืองในฐานะเจ้าของอธิปไตยดังที่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี2540 ปี2550 และในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย
เพียงฉายา

รธน.ปราบโกงก็ทำให้ผู้ที่เกลียดนักการเมืองพร้อมจะลงมติรับโดยไม่ต้องอ่านเนื้อใน

Advertisement

การโกงหรือใช้อำนาจในการฉ้อราษฎร์บังหลวงมีความซับซ้อนที่ซ่อนตัวอยู่ในกลไกการบริหาร อยู่ในกระบวนการบัญญัติกฎหมายของรัฐสภาที่โกงได้หากขาดธรรมาภิบาล ขาดหลักความชอบธรรม ขาดหลักความสมเหตุสมผล ขาดการตรวจสอบที่ประชาชนมีส่วนร่วม

เนื้อหาในร่างรธน. ความสำคัญอยู่ที่กระบวนการเข้าสู่อำนาจรัฐ ในร่างรธน.ฉบับนี้ออกแบบวาระ5ปีแรกหลังเลือกตั้งให้มีสว.จากการสรรหาทั้งหมดโดยคสช.และมีคำถามพ่วงให้สว.สรรหามาเลือกนายกรัฐมนตรีอีกด้วย โดยอ้างว่าเพื่อสานต่อยุทธศาสตร์การปฏิรูป20ปีหลังเลือกตั้ง

ออกแบบเช่นนี้ย่อมคาดหมายได้ว่าสว.สรรหาโดยคสช. อาจจะมาจากผู้เป็นสนช.บางส่วนในปัจจุบัน และน่าจะคาดหมายผู้มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้เลยว่าเป็นใคร?

Advertisement

รัฐบาลคสช.และสนช.ที่หวังอาศัยการเข้าสู่อำนาจต่อไปตามการออกแบบของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรแสดงความจริงใจว่าการปฏิรูปหลังเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ฟังเสียงประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมจริงหรือไม่

ถ้าวันที่ร่างรัฐธรรมนูญก่อนผ่านประชามติ ก็ยังไม่ฟังเสียงประชาชนเสียแล้ว ย่อมหวังได้ยากว่าเมื่อคนเหล่านี้ได้อำนาจแล้วจะฟังเสียงประชาชน หรือจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปแค่ไหนเพียงใด

กรณีการเรียกร้องการปฏิรูปพลังงานเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร

การคัดค้านการเปิดสัมปทานรอบ21ตั้งแต่ปี2554 เพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ทำให้ประเทศเสียเปรียบเสียก่อน ซึ่งทำให้ท่านนายกฯประยุทธ์สั่งให้เลื่อนการเปิดสัมปทานรอบ21 ออกไปจนกว่าจะมีการแก้ไขพ.ร.บปิโตรเลียมพ.ศ.2514และพ.ร.บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ.2514 และมอบหมายสนช.ศึกษาจุดอ่อนในกฎหมายดังกล่าว

แต่แล้วจู่ๆร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง2ฉบับที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้เสนอสนช.พิจารณาซึ่งมีการรวบรัดรับหลักการไปแล้วนั้นเป็นร่างแก้ไขของกระทรวงพลังงานที่ไม่ได้แก้ไขตามผลการศึกษาของสนช.แต่อย่างใด การเขียนให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตในร่างแก้ไขนั้น ก็สักแต่ว่าเขียนอำพรางไว้โดยทางปฏิบัติแล้ว ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะขาดกลไกบรรษัทพลังงานแห่งชาติที่รัฐเป็นเจ้าของ100% มารองรับระบบแบ่งปันผลผลิตเหมือนบริษัทปิโตรนาสของมาเลเซีย

ร่างกฎหมายที่เข้าสนช.เป็นร่างแก้ไขที่แก้ไขอย่างซ่อนเงื่อนเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มทุนพลังงานมากกว่า โดยร่างแก้ไขนี้ยังเป็นระบบที่ยกกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมให้เอกชนต่อไปอีก39ปี ซึ่งรวมถึงแหล่งสัมปทาน2แหล่งใหญ่คือเอราวัณและบงกช ที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานและกฎหมายไม่ให้ต่อสัมปทานอีก ต้องนำกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศ แต่ร่างแก้ไขนั้นยังออกแบบให้ต่อสัมปทานแหล่งดังกล่าวได้อีกโดยอำพรางว่าจะใช้ระบบใหม่ที่บัญญัติไว้ในร่างแก้ไข

ประชาชนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่าเหตุใดท่านนายกฯประยุทธ์จึงเปลี่ยนท่าทีมาเสนอร่างพ.ร.บ ปิโตรเลียมพ.ศ…2ฉบับที่ชงโดยกระทรวงพลังงาน ทั้งที่ขัดแย้งต่อผลการศึกษาของสนช. อีกทั้งขัดต่อหลักความมีเหตุมีผลและขัดต่อเจตนาของประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร เหตุใดที่ความต้องการของกระทรวงพลังงานจึงมีอำนาจเหนือรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี หรือว่าแท้ที่จริง เป็นอำนาจของกลุ่มทุนเอกชนด้านพลังงานต่างหากที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลคสช.ที่ทำให้ท่านนายกฯพร้อมหักกับประชาชน ใช่หรือไม่?

การเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ ปิโตรเลียม พ.ศ …ฉบับของภาคประชาชน ได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากประชาชนทั้ง77 จังหวัด รวมทั้งคนไทยในต่างประเทศอีกหลายประเทศ เพียงเวลาเดือนเศษ มีผู้ส่งรายชื่อเข้ามาเกือบ 2หมื่นรายชื่อ เป็นประจักษ์พยานว่าประชาชนได้แสดงการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

สมควรที่ท่านนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาถอนร่างพ.ร.บ ปิโตรเลียมฉบับสัมปทานจำแลงทั้ง2ฉบับของกระทรวงพลังงาน ซึ่งไม่ได้แก้ไขจุดอ่อนที่ทำให้ประเทศเสียประโยชน์ ออกจากการพิจารณาของสนช.

ส่วนร่างพ.ร.บ ปิโตรเลียม ฉบับประชาชนที่ร่างขึ้นตามผลการศึกษาของสนช.ที่มีประชาชนเข้าชื่อสนับสนุนเกือบ 2หมื่นรายชื่อจาก 77จังหวัดนั้น สนช.ควรที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในการเสนอร่างกฎหมายปิโตรเลียมของประชาชนเข้าสภา ซึ่งต้องการรายชื่อสมาชิกสนช.สนับสนุนเพียง25 คนเท่านั้น

หากทำได้เช่นนี้จึงจะถือได้ว่าทั้งท่านนายกฯและสนช.มีความจริงใจที่จะปฏิรูปโดยรับฟังเสียงความต้องการของประชาชน มากว่าความต้องการของกลุ่มทุนขุนนางบางคนประกาศรับ รธน.เพราะต้องการโหวตตรงข้ามกับนักการเมือง เพราะเชื่อว่าเมื่อนักการเมืองค้านแสดงว่าเป็นร่างรธน.ที่ดี ?

สำหรับดิฉันและประชาชนที่ร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปนโยบายพลังงาน จะตัดสินใจ “รับ”หรือ”ไม่รับ” ร่างรธน. ก็ขึ้นอยู่กับความจริงใจและความเห็นแก่ประโยชน์แห่งประเทศชาติของคสช.ในประเด็นปฏิรูปพลังงานนี่แหละ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image