‘สุรชาติ’ อัดปฏิวัติ 49 จุดเริ่มต้นหายนะการเมือง ‘พิชญ์’ ชี้ ทหารอาชีพคือทำรัฐประหารเป็นอาชีพ

เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาเรื่อง “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับการเมืองไทยร่วมสมัย” โดยมี ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ น.ส.ญาณิศา วรารักษพงศ์ นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเสวนา

ผศ.ดร.พิชญ์กล่าวว่า ข้อถกเถียงบางประการว่าด้วยเรื่องทหารกับการเมือง เรียกว่าความเป็นทหารอาชีพ คือความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน ซึ่งนักวิชาการไทยจำนวนมากเชื่อว่า 1.ทหารมืออาชีพจะไม่ทำรัฐประหาร หรือจะไม่แทรกแซงการเมือง 2.การป้องกันการแทรกแซง คือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร ให้พลเรือนมีอำนาจเหนือทหาร คือภาพกว้าง โดยนักวิชาการไทยพยายามออกแบบองค์กรเพื่อให้ทหารอยู่ภายใต้พลเรือน ซึ่งมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ทหารไม่สามารถอยู่ใต้พลเรือนได้

สำหรับประเทศไทย ทหารมืออาชีพคือทหารที่ชำนาญในการทำรัฐประหารเป็นอาชีพ จะสังเกตเห็นได้ว่าในโมเมนต์แรกของการทำรัฐประหารในประเทศไทย ทหารจะพยายามบอกว่าเขาจะไม่ทำรัฐประหาร เพราะเขาเป็นทหารอาชีพ ซึ่งโมเมนต์แห่งความหวังของประชาชนจะไปอยู่ที่ทหาร หลังจากนั้นทหารก็จะมีความชอบธรรมในฐานะ Guardian of The Nation ซึ่งหากสังเกตการรัฐประหารจะมีการออกบัตรเชิญโดยมวลชนที่เป็นปัญญาชนก่อน แล้วทหารก็จะต้องแสดงออกถึงความเป็นทหารอาชีพ ดังนั้น ถ้าเราจะอ่านสัญญาณแบบนี้ คุณประยุทธ์บอก ‘แน่นอนไม่ทำรัฐประหาร’ สนธิก็ ‘ไม่ได้ทำรัฐประหารแน่ๆ’ สุจินดาก็หัวเราะเล่น บอก ‘อยากทำรัฐประหารก็ส่งไปรษณีย์มา’ ไม่มีใครคิดว่าบิ๊กแดงจะทำรัฐประหาร ขณะเดียวกัน ถ้าใช้บทเรียนของสนธิ ไม่พูดก็รู้ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจ” ผศ.ดร.พิชญ์กล่าว

ผศ.ดร.พิชญ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ความเข้าใจเรื่องการทำรัฐประหารในสังคมไทย หมายถึงทหารยึดอำนาจสำเร็จแล้วใช้อำนาจเด็ดขาด โดยมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นไอดอล ในทางกลับกัน หลัง 2549 จะเห็นบทบาทที่เกี่ยวข้องขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคณะทหารยึดครองอำนาจสำเร็จ จึงกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คำสั่งของคณะรัฐประหารจึงชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คำว่า ‘ล้างผลพวงรัฐประหาร’ จึงเริ่มชัดเจนว่า หากจะต่อสู้ทางการเมือง ไม่ได้ต่อสู้เฉพาะการจัดตั้งระบอบประชาธิปไตย และการมีระบบเลือกตั้ง แต่หมายถึง การเข้าไปมีเงื่อนไขทางกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาตลอด

Advertisement

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า ขอพูดถึงปี 2549 เป็นหลัก โดยโจทย์ของปี 2549 โยงกับปัญหาเส้นแบ่งเวลา ใช้วิธีการตัดตอน เชื่อว่ามาจากรัฐธรรมนูญ 2540 โดยในปี 2544 เราเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดคือการขึ้นสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทย จากนั้นปี 2556 มีการกำเนิดของกลุ่ม กปปส. แล้วสวิงกลับมา 2557 คือการรัฐประหาร ปัจจุบัน 2563 พบว่าความน่าตื่นเต้นคือเราเห็นการกำเนิดม็อบเยาวชน อย่างไรก็ตาม หากคิดอีกมุมหนึ่งแล้ว นี่คือการต่อสู้กันของ 2 พลังในการเมืองไทย ระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม โดยการขับเคลื่อนของ 2 พลังนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ สร้างมิติความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ

รัฐประหาร 2549 คือจุดเริ่มต้นของความหายนะของสังคมการเมืองไทย เพราะได้ทิ้งมรดกที่เป็นปัญหาชุดใหญ่ๆ ไว้ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับของความพ่ายแพ้ของกลุ่มอนุรักษ์นิยม หรือพลังเก่า เนื่องจากตอนทำรัฐธรรมนูญ 2540 หากไปดูคำสัมภาษณ์ของ ส.ส.ร. หรือคนที่เกี่ยวข้องกับส่วนนี้จะไม่คิดว่าระบบ 2 พรรคการเมืองจะเกิดเร็ว คิดว่าอย่างน้อยการเมืองไทยก็อยู่ในระบบที่เป็นรัฐบาลผสม แต่พอพรรคไทยรักไทยเกิด มันเกลายเป็นชัยชนะของการเมืองอีกชุดหนึ่ง ซึ่งการเข้าสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทยมากับนโยบายใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่ และเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองชนะด้วยเสียงข้างมากในสภา สำหรับปีกที่รับไม่ได้กลายเป็นวาทกรรม ‘เผด็จการรัฐสภา’ ซึ่งคำนี้เป็น เฟคนิวส์ ที่สุดคำหนึ่งในทางรัฐศาสตร์ เพราะไม่สามารถอธิบายได้ เนื่องจากรัฐสภาต้องการเสียงข้างมาก” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

Advertisement

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า ด้านหนึ่งแล้วการรัฐประหาร 2549 เป็นชัยชนะของปีกอนุรักษนิยมที่ต้องการควบคุมการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงของการขึ้นสู่อำนาจของไทยรักไทย ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่า ในชัยชนะของกลุ่มอนุรักษ์นิยมชุดนี้สะท้อนความพ่ายแพ้ที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่สามารถสู้กับเกมการเมืองระบบรัฐสภาได้ หากการเลือกตั้งในปี 2554 พรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยมชนะ พรรคทหารจะไม่เกิดในปี 2549 เพราะเขายังคุมอำนาจได้ อย่างไรก็ตาม รัฐประหาร 2549 เหมือนไม่สะเด็ดน้ำเพราะพอถึงปี 2554 ใครจะคิดว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ชนะด้วยเสียงข้างมากอีก เมื่อเกิดสภาวะอย่างนี้ก็เริ่มมีความรู้สึกว่ารัฐประหาร 2549 เสียของ แต่ถ้าย้อนกลับไปอ่านรายละเอียดจริง จะพบว่ามันมีเงื่อนไขของต่างประเทศพอสมควร

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวอีกว่า ในแฟลชม็อบครั้งแรกเราเห็นการเคลื่อนไหวของ “ม็อบขายาวกระโปรงบาน” และในครั้งที่ 2 เราเห็นการกำเนิดของ “ม็อบขาสั้นคอซอง” สิ่งนี้กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทย ซึ่งอันที่จริงแล้วภูมิทัศน์การเมืองไทยถูกเปลี่ยนด้วยเงื่อนไขระหว่างประเทศ และมันถูกเปลี่ยนโดยเงื่อนไขภายในอยู่พอสมควร ทั้งนี้ การกำเนิดของม็อบขาสั้นคอซอง และม็อบขายาวกระโปรงบานครั้งนี้เกิดในบริบทที่การเมืองไทยกำลังถูกท้าทายครั้งใหญ่ นั่นคือในสภาวะโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่วนตัวคิดว่าเป็นเหมือนระฆังช่วยให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ต่อได้ อีกมุมหนึ่งคือ ใครที่บริหารประเทศในยุคโควิดนั้นเหมือนทุกขลาภ ซึ่งยังมีเวลาให้ตัดสินใจลาออกได้

ด้าน น.ส.ญาณิศากล่าวว่า ขบวนการของนักศึกษา เราไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนผู้เล่นในเกม แต่ต้องการจะเปลี่ยนเกม ถ้าเราพยายามรักษาอาการไปเรื่อยๆ โรคก็ไม่หาย ต้องไปที่ต้นตอ หากจะมีการรัฐประหารในอนาคตก็เป็นเพียงอาการที่เกิดจากสิ่งที่ใหญ่ว่า เห็นได้ว่า 3 ข้อเรียกร้องของประชาชนปลดแอกและองค์กรอื่นๆ ที่มาสนับสนุนคือการพยายามเปิดทาง หาวิธีเพื่อเปลี่ยนเกม และเพื่อรักษาโรค ไม่ใช่แค่อาการ ซึ่งจะยังเห็นการพยายามสร้างมาตรฐานใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหว รวมทั้งเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น เราจะเห็นการเคลื่อนไหว ตั้งแต่เสรีไทยพลัส ผู้ญิงปลดแอก การตั้งเวทีของขบวนการแรงงาน เริ่มมีการสร้างมาตรฐานใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลง

“แม้ว่าเยาวชนในยุคนี้จะเกิดไม่ทันรู้เรื่องรัฐประหาร 2549 และ 2557 ต้องใช้วิธีมองย้อนกลับไป เป็นประวัติศาสตร์ที่สะสม ที่ยิ่งมองยิ่งเห็นภาพชัด โดยเฉพาะเมื่อมองจากข้างนอก ที่โลกาภิวัตน์ทำให้เราเห็นไม่ติดอยู่ในกรอบเดิม” น.ส.ญาณิศากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image