เสวนาชี้ ความไม่เป็นธรรมผลักดัน น.ร.-น.ศ. ยุคตุลาลุกสู้ เผยเฉียด 50 ปียังต้องเถียงกันเรื่องเดิม

เสวนาชี้ ความไม่เป็นธรรมผลักดัน น.ร.-น.ศ. ยุคตุลาลุกสู้ เผยเฉียด 50 ปียังต้องเถียงกันเรื่องเดิม

เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ มติชนอคาเดมี มีการจัดกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมเสวนา หัวข้อ ‘การเมืองกับนักเรียนนักศึกษา ก่อนจะถึง 6 ตุลา 19’ ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ 6 ตุลา กล่าวว่า เมื่อครั้งเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ ไม่ได้ตั้งใจเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง คิดว่าจบไปก็ทำงานเท่านั้น แต่ปีที่เข้าเรียนคือ พ.ศ.2511 เป็นปีที่ร่างรัฐธรรมนูญมาเป็นปีที่ 8 คนเบื่อมากว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ ตอนนั้นรัฐบาลประกาศว่าจะมีเลือกตั้งทั่วไปในปี 2512 เพราะฉะนั้นต้องพูดว่า ‘การเมืองมาหาเรา เราไม่ได้ไปหาการเมือง’ หัวข้อโต้วาทีในมหาวิทยาลัยก็วนอยู่แต่ประเด็นประชาธิปไตย บรรยากาศฟักตัวมาเรื่อยๆ

“รุ่นผมมีโต๊ะหน้าคณะรัฐศาสตร์ คุยแต่เรื่องการเมืองทั้งวันตั้งแต่เช้าจนเย็น สั่งโอเลี้ยงแก้วนึง กระทั่งปี 2512 มีการตั้งชื่อกลุ่มว่า สภาหน้าโดม ทุกศุกร์ บ่าย 3 เจอกัน ห้าคนสิบคนก็ว่าไป มีการพิมพ์หนังสือการเมืองเล่มละหนึ่งบาท 8 หน้ายก ขายที่ประตูท่าพระจันทร์ เล่มที่มีหัวข้อแตกตื่นกันมาก คือ หนังสือชื่อภัยขาว มีประเด็นยุบการแข่งขันฟุตบอลประเพณี เพราะสร้างอภิสิทธิ์ชน มีการแปลบทกวีชื่อ แด่ปัญญาชนผู้ไม่สนใจการเมือง ผมใช้นามปากกาแธนส์ มีตำรวจมาขอซื้อ มีคนโทรมาตามว่าใครทำ สถานทูตอเมริกาก็ขอซื้อ สุดท้ายพิมพ์ครั้งที่ 2 ขึ้นราคาเป็น 3 บาท (หัวเราะ)” ศ.ดร.ธเนศกล่าว

ศ.ดร.ธเนศกล่าวว่า ถ้าดูบรรยากาศโดยรวมในตอนนั้น สถานการณ์ในตอนนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทำกันมานานแล้ว ระบบสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ทำให้คนคับข้องใจ สะกิดนิดเดียวเกิดเหตุ ไม่มีการจัดตั้ง แต่จัดตั้งกันเองโดยธรรมชาติ

ADVERTISMENT

นายพลากร จิรโสภณ อดีตประธานศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ปี 2516 กล่าวว่า บทบาทของนักเรียน แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อน 14 ตุลา 2416 กับหลัง 14 ตุลา ก่อน 14 ตุลา มีการเคลื่อนไหว การตื่นตัวของนักเรียนอยู่แล้วกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่ากลุ่มยุวชนสยาม ซึ่งเป็นการรวมตัวของเด็กนักเรียนซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากหนังสือสังคมศาสตร์ปริทรรศน์ ที่คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็น บก. และแนวคิดของโกมล คีมทอง นักเรียนที่มาร่วมมีหลายโรงเรียนดังๆ ส่วนใหญ่เป็นหัวกะทิ รวมตัว พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

“ในจุดเริ่มต้น ไม่ได้เริ่มต้นที่ความคิดทางการเมืองโดยตรง แต่สนใจปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ ศาสนา ถ้าพูดๆ ก็คือ เป็นเรื่องการแสวงหา ในขณะเดียวกันก็ได้รับอิทธิพลทางความคิด จากการเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัย เริ่มมีการเคลื่อนไหวจากรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยแล้ว ยุวชนสยามตั้งขึ้นราวปี 2514 มีบทบาทมากๆ คือ 2515 ยุคที่มีการเคลื่อนไหวก่อนเกิด 14 ตุลา 2516


“บางส่วนก็ตั้งคำถามกับระบบการศึกษา การเรียน เรียนไปเพื่ออะไร มีบทกลอนของคุณวิทยากร เชียงกูล ฉันจึงมาหาความหมาย ส่วนศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อมีการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ที่มีคุณธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้น้ำตอนนั้นเป็น ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยแล้ว ไปชุมนุมกันที่หน้าห้างไดมารู ถนนราชดำริ มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งไปร่วมกัน”
นายพลากรกล่าว

นายพลากรกล่าวว่า นอกจากความตื่นตัวในการแสวงหาคำตอบ ในขณะเดียวกันก็มีความคิดของการทำกิจกรรม มีสมาชิกบางส่วนขยับขยายไปทำกิจกรรมร่วมกับนิสิต ในเวลานั้น มีการทำหนังสือชื่อ ‘กดกดกด’ ปกเป็นภาพมือกดหัวนักเรียน จอมพลถนอม กิตติขจร เอาไปพูดในที่ประชุม ครม.ว่าหนังสือเล่มนี้มีแนวคิดรุนแรง ศูนย์กลางนักเรียนจึงโด่งดังมาก สำหรับสถานการณ์ในตอนนี้ สิ่งที่ต่อสู้ ยังเป็นประเด็นเดียวกับเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน แต่ยุคนี้แตะไปถึงประเด็นโครงสร้าง

“นักเรียนไทยในวันนี้ยังต่อสู้ในประเด็นที่เหมือนกับเด็กนักเรียนเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว ยังต้องมาต่อสู้เรื่องผมสั้น ผมยาว ถูกครูกล้อนผม เวลานั้นพวกผมต่อสู้เรื่องกางเกง ขาสั้น ขายาว เรื่องหลักสูตร การเรียนการสอน การใช้อำนาจนิยม ปัญหาเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ในโรงเรียน ปัญหาการใช้อำนาจของครู ปัญหาเรื่องการเรียนการสอนที่ไม่สอนให้เด็กคิด ครูไม่มีคุณภาพ ใช้อำนาจ ใช้อารมณ์” นายพลากรกล่าว

นายกฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตนายกองค์การนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ปี 2521 กล่าวว่า สมัยเด็กเรียนหนังสือ คิดแค่ว่าเรียนจบก็ทำงาน แต่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตอนเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตนไม่ได้ทำกิจกรรมเยอะ แต่ได้แรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือ ตอนนั้นอ่าน ‘ไผ่แดง’ ของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แล้วมีรุ่นพี่นำหนังสือชีวประวัติของ เชเกวารา มาให้อ่าน เป็นแพทย์ที่ช่วยเหลือคน เสียสละชีวิตช่วยคน โดนจับติดคุก ก็ยังต่อสู้ พัฒนาการความคิดของเด็กในยุคตน สมัยนั้นต้องท่องชื่อรัฐมนตรี ซึ่งตนยอมสอบตกเพราะรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรชื่อยาวมาก เป็นพระยา และตนสงสัยว่าถ้าเปลี่ยนรัฐบาลไม่ต้องท่องกันใหม่หรืออย่างไร

“ผมมาสัมผัสการเมืองในปี 2514 ตอนนั้นอยู่ มศ.2 ขณะกำลังกลับบ้าน โดยนั่งรถเมล์จากโรงเรียนสวนกุหลาบผ่านสนามหลวง ซื้อหนังสือพิมพ์ เห็นว่ามีการปฏิวัติแล้ว มีการจับนักศึกษาไปที่ สน.สำราญราษฎร์ ต่อมา ตอน 14 ตุลา 2516 อยู่ มศ.4 จำได้ว่าวันนั้นเป็นวันจันทร์ซึ่งเรียน รด. มีประธานนักเรียนมาบอกว่า เราต้องไปแล้วนะ ก็เดินไปร่วมชุมนุมที่ธรรมศาสตร์” นายกฤษฎางค์กล่าว และว่า ความรู้สึกถึงความไม่ถูกต้องคือสิ่งที่สั่งสมมา เมื่อได้เห็นความไม่เป็นธรรมก็อยากแก้ไข โดยไม่มีเรื่องของผลประโยชน์แต่อย่างใด