เช็กขุมกำลังรับม็อบ‘19กันยา’ เปิด4ขั้นตอนปฏิบัติ‘กรกฎ52’

หมายเหตุสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จัดกำลังเพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” โดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ระหว่างวันที่ 19 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และจะเคลื่อนตัวไปยังทำเนียบรัฐบาลในรุ่งเช้าวันที่ 20 กันยายน

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์

ผู้ช่วย ผบ.ตร.

มีหนังสือวิทยุในราชการศูนย์ปฏิบัติการ ตร. เลขที่ 0007.33/160 ลงวันที่ 16 กันยายน ถึง ผบช.น., ภ.1-8, และ ตชด. ข้อความว่า

Advertisement

1.อ้างถึงหนังสือ บช.น. ลง 14 กันยายน 2563 ขอรับการสนับสนุนกองร้อยควบคุมฝูงชน จำนวน 57 กองร้อย จาก ตร. เพื่อปฏิบัติภารกิจการรักษาความปลอดภัยและรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ได้เชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ใน
วันที่ 19 กันยายน 2563 ตั้งแต่เวลา
14.00 น. เป็นต้นไป ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ

2.เพื่อให้การดูแลการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนภารกิจของ บช.น. ตามข้อ 1 จึงให้หน่วยต่างๆ ดำเนินการดังต่อไปนี้
2.1 ให้หน่วยงานจัดกำลังควบคุมฝูงชนพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ประจำกาย สนับสนุน บช.น. โดยมีบัญชีรายชื่อที่ใช้ยอดกำลังพลดังต่อไปนี้ ตชด. จำนวน 9 กองร้อย, ภ.1 จำนวน 10 กองร้อย, ภ.2 จำนวน 7 กองร้อย,
ภ.3 จำนวน 6 กองร้อย, ภ.4 จำนวน 6 กองร้อย, ภ.5 จำนวน 1 กองร้อย, ภ.6 จำนวน 8 กองร้อย, ภ.7 จำนวน 8 กองร้อย, และ ภ.8 จำนวน 2 กองร้อย รวมทั้งหมด 57 กองร้อย กว่า 8,550 นาย
2.2 ให้ บช.น.จัดเตรียมสถานที่สำหรับรองรับดูแลควบคุมฝูงชนที่สนับสนุนภารกิจและดำเนินการในการจัดกำลังดูแลการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
2.3 ให้กำลังควบคุมฝูงชนที่สนับสนุน บช.น.รายงานตัวในวันศุกร์ที่ 18 กันยายน 2563 โดยให้สอบถาม
เวลา สถานที่ และประสานการปฏิบัติกับ พ.ต.ต.อนันต์ จันทร์ศรี สว.ฝอ.3 บก.อก.บช.น.
2.4 ให้หน่วยจัดสรรงบประมาณในการเดินทางของหน่วยไปก่อนแล้วแจ้งรายละเอียดของงบประมาณที่ใช้มายัง ตร. เพื่อจัดสรรให้ต่อไป

สำหรับหน่วยสนับสนุนกองร้อยควบคุมฝูงชน ที่จะมาร่วมปฏิบัติในวันที่ 19 กันยายน ประกอบด้วย กก.ตชด.ที่ 11, 12, 13, 14, 21, 24, 31, 34 และบก.สอ.,

ภ.1 ประกอบด้วย ปทุมธานี, สมุทรปราการ, ลพบุรี, สิงห์บุรี, ชัยนาท, พระนครศรีอยุธยา, อ่างทอง และสระบุรี, ภ.2 ประกอบด้วย ตราด, ชลบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา, จันทบุรี, นครนายก และปราจีนบุรี, ภ.3 ประกอบด้วย ชัยภูมิ, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, กาฬสินธุ์ และศรีสะเกษ, ภ.4 ประกอบด้วย มหาสารคาม, ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, เลย, หนองบัวลำภู และอุดรธานี, ภ.5 แพร่, ภ.6 ประกอบด้วย นครสวรรค์, ตาก, พิจิตร, อุทัยธานี เพชรบูรณ์, พิษณุโลก, สุโขทัย และอุตรดิตถ์, ภ.7 ประกอบด้วย นครปฐม, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม และราชบุรี และ ภ.8 ประกอบด้วย ชุมพรและระนอง

การจัดกำลังควบคุมฝูงชน (คฝ.) เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย กระจายกำลังปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด 14 จุด แบ่งช่วงเวลา 6 ผลัด ตั้งแต่เวลา 14.00 น.วันที่ 19 กันยายน -เวลา 14.00 น.วันที่ 20 กันยายน โดยแต่ละจุดจัดวางกำลัง ดังนี้

1.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รวม 3 กองร้อย แบ่งเป็น บก.1, ภ.จว.ตราด 1 และ ภ.จว.ชลบุรี
2.พระบรมมหาราชวัง 4 กองร้อย แบ่งเป็น บก.น.5 บก.น.6 และ บก.น.3 ภ.จว.มหาสารคาม
3.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 3 กองร้อย ภ.จว.ชัยภูมิ, ภ.จว.ปทุมธานี และ ภ.จว.สมุทรปราการ
4.แยก จปร. 3 กองร้อย จากบก.น.1 ภ.จว.ชลบุรี และ ภ.จว.ตราด
5.แยกสะพานมัฆวาน 3 กองร้อย จาก กก.ตชด.11 กก.ตชด.12 ภ.จว.สระแก้ว
6.แยกสะพานวิศสุกรรมนฤมาณ ภ.จว.นครปฐม 1 กองร้อย
7.แยกสะพานเทเวศรนฤมิตร ภ.จว.สุพรรณบุรี 1 กองร้อย
8.แยกสวนมิสกวัน ภ.จว.กำแพงเพชร 1 กองร้อย
9.แยกอู่ทองนอก ภ.จว.ลพบุรี 1 กองร้อย
10.สถานีดับเพลิงวชิระ ภ.จว.สิงหบุรี 1 กองร้อย
11.แยกเทวกรรม ภ.จว.กาญจนบุรี 1 กองร้อย
12.แยกพาณิชยกรรม 2 กองร้อย จาก กก.ตชด.13 ภ.จว.ชัยนาท
13.แยกเสาวนี ภ.จว.เพชรบุรี 1 กองร้อย
14.แยกอุภัยเจษฎุทิศ ภ.จว.ประจวบคีรีขันธ์ 1 กองร้อย

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา
ผู้บัชาการตำรวจนครบาล

ได้เตรียมแผน “กรกฎ 52” เป็นแผนปฏิบัติการ พร้อมบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยแผนกรกฎ 52 คือแผนปฏิบัติการหลัก แนวทางแก้ไขสถานการณ์วิกฤต ใช้ในการรับมือการชุมนุม การก่อความไม่สงบ ตร.ได้ทำขึ้นในช่วงที่มีการชุมนุมของเสื้อสีต่างๆ
มี 4 ขั้นตอนหลัก

ขั้นตอนที่ 1
ขั้นเตรียมการก่อนเกิดเหตุ
เช็กการข่าว หน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้านการข่าว ประสานงานกับหน่วยงานข่าวต่างๆ อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง

สิ่งที่ต้องทำ คือ

– ตั้งหน่วย หรือชุดเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุนตามแผน
– เตรียมกำลังหน่วยต่างๆ ทั้งหน่วยปฏิบัติ หน่วยสนับสนุน
– ซักซ้อมการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ฝึกอบรม
กำลังพล
– จัดหาอุปกรณ์ เตรียมการด้านส่งกำลังบำรุง
– เตรียมความพร้อมการเคลื่อนย้ายหน่วยกำลังพลเข้าปฏิบัติภารกิจและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
– เตรียมสถานที่ควบคุม สถานที่สอบสวน กรณีมีการจับกุมและควบคุมผู้ก่อความไม่สงบจำนวนมาก
– ดำเนินการด้านชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ทุกรูปแบบให้เป็นธรรม และเตรียมปฏิบัติการด้านประชาสัมพันธ์และจิตวิทยาต่อประชาชน หรือปฏิบัติการด้านข่าวสาร หรือไอโอ
– จัดทำแผนปฏิบัติการเฉพาะกรณีเฉพาะพื้นที่ในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบทุกรูปแบบ
– เตรียมตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า (ศปก.สน.) ในพื้นที่ เพื่อควบคุมสั่งการแต่ละพื้นที่ แต่ละขั้นตอนไว้ให้ชัดเจน
– มีสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ (สยศ.ตร.) ติดตามประเมินผลการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เป็นรูปธรรมชัดเจน

ขั้นตอนที่ 2
การเผชิญเหตุ

ซึ่งในกรณีนี้คือ การชุมนุม
– ตำรวจท้องที่จัดส่งกำลังเข้าดูแลความสงบเรียบร้อย หรือระงับเหตุ รักษากฎหมาย
– จัดระเบียบบริเวณที่เกิดเหตุและบริเวณโดยรอบ ด้วยการแยกพื้นที่เกิดเหตุออกจากพื้นที่ทั่วไป
– กันประชาชน (ที่ไม่เกี่ยวข้อง) ให้อยู่ห่าง ไม่ให้เข้าพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อความปลอดภัยและสะดวกต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่
– รักษาความปลอดภัยสถานที่และบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะเป้าหมายที่อยู่ใกล้สถานที่เกิดเหตุ
– จัดการจราจรบริเวณที่เกิดเหตุ และพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อให้กระทบต่อสาธารณชนน้อยที่สุด
– ใช้ศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.) ของกองบังคับการและกองบัญชาการ ในการติดตามควบคุมสั่งการ
– รักษาความสงบและแก้ไขปัญหาตามขั้นตอน
– ใช้การเจรจาต่อรองหรือปฏิบัติการ โดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก
– เร่งสืบสวนข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐาน เช่น ภาพถ่าย ชื่อสกุล ข้อมูลแกนนำ ผู้ปฏิบัติการต่างๆ
– รวมทั้งจัดเก็บภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ เพื่อใช้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการดำเนินคดีอาญา
– ประชาสัมพันธ์ให้ทราบข้อเท็จจริงของสถานการณ์และการกระทำว่าผิดตามกฎหมายใด มีอัตราโทษอย่างไร
– กรณีที่ยังไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ทันทีหรือเป็นการละเมิด เป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่สาธารณชน สังคม ให้ใช้มาตรการตามกฎหมายโดยร้องขอต่อศาล ให้ผู้ก่อความไม่สงบหรือผู้มารวมตัว ยุติการ
กระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น

ขั้นตอนที่ 3
เมื่อสถานการณ์วิกฤต

และจำเป็นต้องใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์
-เมื่อการเจรจาต่อรองหรือปฏิบัติการอื่นใดไม่เป็นผล สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และของทางราชการ ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์พิจารณาสั่งใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์ และรายงานให้ ตร.ทราบ ผ่าน ศปก.ตร.ทันที
-กรณีความไม่สงบจากการชุมนุมเรียกร้อง เมื่อเกิดการละเมิดกฎหมายและอาจนำไปสู่ความรุนแรงนอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ประสานปรึกษากับผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ได้รับมอบหมายก่อนสั่งใช้กำลังเพื่อเข้ายับยั้งหรือคลี่คลายสถานการณ์
-กรณีการชุมนุมเรียกร้องหากมีการกระทำผิดกฎหมายชัดเจน และผลการกระทำอาจก่อให้เกิด
ความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือผู้กระทำผิดอาจหลบหนีไปก่อน ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน แล้วรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับบัญชาทราบ
-กรณีต้องยับยั้งวิกฤต ควบคุมสถานการณ์ชุมนุม ดำเนินการตาม “กฎการใช้กำลัง”

การใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์ให้เป็นไปตามสมควรแก่เหตุ ดำเนินการ ตามลำดับ ดังนี้
1.การแสดงกำลังของตำรวจ
2.การใช้คำสั่งเตือน
3.การใช้มือเปล่าจับกุม
4.การใช้มือเปล่าจับล็อกบังคับ
5.การใช้เครื่องพันธนาการ ปืนยิงตาข่าย
6.การใช้คลื่นเสียง
7.การใช้น้ำฉีด
8.อุปกรณ์เคมี เช่น แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย
9.กระบองหรืออุปกรณ์ที่ใช้ตี
10.อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น กระสุนยาง และอุปกรณ์ชอร์ตไฟฟ้า
หากยังไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ ให้เสนอ ตร. ผ่าน ศปก.ตร.เพื่อเสนอรัฐบาลใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และมอบหมายให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวเข้ารับผิดชอบ หรือพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะพื้นที่ เพื่อเพิ่มอำนาจในการปฏิบัติตามกฎหมายให้แก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ หรือประกาศกฎอัยการศึกเพื่อปราบปรามขั้นเด็ดขาด ซึ่งการปฏิบัติการขั้นนี้ฝ่ายทหารจะเป็นผู้รับผิดชอบสั่งการ

ขั้นตอนที่ 4
การฟื้นฟู
เมื่อสถานการณ์คลี่คลายสู่สภาวะปกติ ให้ดำเนินการสอบสวน ดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด จัดหน่วยทำหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของผู้ปฏิบัติงาน สนับสนุนส่วนราชการที่มีหน้าที่ฟื้นฟู บูรณะทรัพย์สินของทางราชการ เมื่อได้รับการร้องขอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image