สถานีคิดเลขที่ 12 : ถนนสู่ท่าพระจันทร์ โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ถนนสู่ท่าพระจันทร์

ถนนทุกสายมุ่งสู่ท่าพระจันทร์ในวันเสาร์นี้ กำลังเป็นคำพูดติดปาก เห็นได้จากบรรยากาศในบ้านเมืองขณะนี้ ไม่ว่าใครก็ล้วนกล่าวถึงการชุมนุม 19 กันยายน ของนักเรียนนักศึกษาอย่างจดจ่อ และด้วยความพร้อมสูงที่จะเข้าร่วม

ถนนหลายสาย รวมทั้งจากต่างจังหวัด ก็ล้วนมุ่งหน้าสู่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ยิ่งมีคำสั่งปิดประตู ห้ามเข้า ยิ่งมีหน้าม้าออกมาเคลื่อนไหวแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์ ไม่ยอมให้มีการใช้พื้นที่ ก็เหมือนการเพิ่มถนนอีกหลายสาย เชิญชวนให้มุ่งหน้าสู่ธรรมศาสตร์กันมากยิ่งขึ้น

สำหรับประเด็นข้อเสนอสำคัญของการชุมนุมครั้งนี้ ก็ดังที่รู้กัน โดยถ้วนกันอยู่แล้ว

แต่ที่น่าพูดถึง คือ การนัดหมายในวันที่ 19 กันยายน เชื่อว่าต้องมีส่วนเชื่อมโยงถึงเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2549 ค่อนข้างแน่

Advertisement

เพราะในมุมมองของคนรุ่นใหม่ และคนที่เชื่อในระบอบประชาธิปไตย มองว่าการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 คือ จุดเริ่มต้นของกระบวนการล้มประชาธิปไตย และฉุดบ้านเมืองให้ถอยหลังอย่างรุนแรง เป็นการเริ่มต้นของปัญหาความวุ่นวายขัดแย้งแตกแยกมาตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

โดยสภาพบ้านเมืองเราในช่วงระยะนั้น นับจากเริ่มใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นช่วงที่กำลังพัฒนาก้าวหน้า ทั้งยกระดับประชาธิปไตยรัฐสภาให้เข้มแข็งขึ้น มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ

จนทำให้ฝ่ายอำนาจล้าหลัง หวาดผวา ยอมไม่ได้ที่เห็นระบบพรรคการเมืองเติบโตเฟื่องฟู นักการเมืองกลายเป็นคนที่ประชาชนนิยมกว้างขวาง ทนไม่ได้จนเกิดแผนโค่นล้ม

Advertisement

ม็อบเสื้อเหลือง และการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือ การเริ่มต้นกระบวนการดังกล่าว และลงมือซ้ำด้วยม็อบนกหวีดกับการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ระหว่างที่ประชาธิปไตยกำลังไปได้ดี เศรษฐกิจการค้ากำลังรุดหน้า แล้วจู่ๆ ก็มาอ้างเหตุอ้างสถานการณ์บางอย่าง จัดการล้มประชาธิปไตย ทำลายอำนาจการเมืองที่อยู่ในมือประชาชน

นับจากเหตุการณ์ในปี 2549 เป็นต้นมา สังคมเราก็เต็มไปด้วยปัญหา ขัดแย้งแตกแยกระหว่างสี เพราะมีการใช้อำนาจกองทัพเข้ามาแทรกแซง ทำให้ระบบที่ควรเดินไปตามครรลองปกติ ต้องสะดุดล้มลุกคลุกคลาน แล้วยังใช้องค์กรอิสระอื่นๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือจัดการกับการเมือง จนเกิดความอยุติธรรม เกิดปัญหา 2 มาตรฐาน

หากยึดหลักประชาธิปไตย มีปัญหาอะไรให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ตัดสิน ถ้าเป็นเช่นนี้บ้านเมืองเราจะไม่เละเทะกันขนาดนี้

ถ้ารัฐบาลขณะนั้นถูกคนฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นทุนชั่วช้าสามานย์ ก็ต้องออกมาเปิดโปง แสดงข้อมูลพยานหลักฐานให้สังคมได้ประจักษ์ ให้ประชาชนมองเห็น แล้วต้องให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ตัดสินในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

แต่นี่ไปลากเอารถถัง เอาปืน เอาทหาร ออกมายึดอำนาจ กลายเป็นการทำลายระบบ และฉุดทุกอย่างให้ถอยหลังไปหมด

ลองดูสังคมการเมืองทั่วโลก ที่ทหารยังยุ่งการเมือง ยังมีการรัฐประหาร ประเทศที่เป็นเช่นนี้มีที่ไหนบ้าง ที่การเมืองมั่นคง เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้า ในทางความจริงคือ ล้วนแต่ตกต่ำดำดิ่งทั้งสิ้น

กระบวนการที่ทำให้ประเทศชาติล้าหลังตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ทั้งหลายทั้งปวงนี่แหละ ที่ทำให้เกิดเป็นขบวนการเยาวชนนักเรียนนักศึกษา ลุกฮือออกมาในปี พ.ศ.นี้

คำกล่าวที่ว่า อดีตตามไล่ล่า ก็เป็นเช่นนี้เอง

ทำอะไรกันไว้ในอดีต วันนี้ถึงเวลาที่เด็กรุ่นใหม่พากันลุกขึ้นมาจัดการชำระสะสางอย่างจริงจังแล้ว

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image