อ.นิติ จุฬาฯ โต้ ไพบูลย์ ส.ส.ลงชื่อซ้ำญัตติแก้ รธน.ไม่ผิด อ้างขัดคำสั่งศาล รธน.มิได้

อ.จุฬาฯ ยกหลักวิชาการ โต้ ไพบูลย์ ชี้ลงชื่อซ้ำญัตติแก้ รธน.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ผิด

เมื่อวันที่ 18 กันยายน ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นกรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พปชร. ที่ยื่นญัตติให้นายชวนในฐานะประธานรัฐสภา ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยปัญหาว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ให้เหตุผลว่ามีการลงชื่อของสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายค้านซ้ำซ้อนกันใน 5 ญัตติที่เสนอขึ้นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ถือว่ากระทำไม่ได้โดยอ้างถึงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563

ผศ.ดร.พรสันต์ระบุว่า ด้วยความเคารพ ผมไม่เห็นพ้องด้วย เพราะหากถือตามแนวทางของคุณไพบูลย์นั้น จะส่งผลกระทบต่อหน้าที่และอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงการตีความรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐสภา โดยสามารถอธิบายได้โดยสังเขปดังนี้

1.ตามหลักกฎหมายรัฐสภา หลักการพื้นฐานสำคัญคือ “หลักการประชุมที่มีประสิทธิภาพ” (Efficient Meeting Principle) ซึ่งมีหลักการย่อยที่สำคัญหลักการหนึ่งได้แก่ “หลักหนึ่งข้อเสนอหนึ่งการพิจารณา” ที่มุ่งหมายต้องการให้รัฐสภาได้พินิจพิจารณาข้อเสนอ หรือ “หลักการ” หนึ่งๆ ที่ถูกเสนอในรูปแบบของญัตติ (Motion) โดยสมาชิกฯ อย่างละเอียดรอบคอบจนนำไปสู่การตัดสินใจในข้อเสนอข้างต้นผ่านการลงมติ (Resolution) ในท้ายที่สุด ซึ่งก็เป็นการสอดคล้องกับ “กฎหมายและประเพณีของรัฐสภา” (lex et consuetudo parliament) ในกระบวนการพิจารณาญัตติและตัวบทกฎหมายต่างๆ (แบ่งออกเป็น 3 วาระ) อันเป็นผลมาจากการใช้อำนาจนิติบัญญัติซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยได้บัญญัติรับรองไว้อย่างชัดเจน

2.จากเหตุผลข้อ 1. การพิจารณาของรัฐสภาจึงมีลักษณะเป็น “การแยกการพิจารณา” (Separate consideration) เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของญัตติต่างๆ ที่ประกอบไปด้วยข้อเสนอ หรือหลักการที่เป็นเอกเทศในตัวเอง เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภานั้นได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนจนสิ้นกระแสความและตัดสินใจเป็นข้อเสนอๆ ไปอย่างชัดเจน ดังนั้น ญัตติที่ประกอบไปด้วยข้อเสนอที่มีหลักการเดียวกันบ้าง คล้ายคลึงกันบ้าง กับญัตติอื่นจึงตกอยู่ “ภายใต้เงื่อนไขบางประการ” ของ “หลักข้อเสนอที่รับไว้พิจารณาได้ของรัฐสภา” (Principle of Parliamentary Admissibility) ด้วยการนำเอาญัตติดังกล่าวที่มิได้มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญไปรวมพิจารณาพร้อมกันก็ย่อมทำได้ ดังที่ได้มีการกำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

Advertisement

3.ญัตติทั้ง 5 ของพรรคการเมืองฝ่ายค้านมิได้ขัดแย้งต่อหลักการตามที่ได้อธิบายมาแล้วทั้ง 2 ข้อในข้างต้นแต่อย่างใด กล่าวคือ หากพิจารณาในเนื้อหาของญัตติของพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 5 ญัตติตามข้อเท็จจริงจะพบว่า มีลักษณะของ “ข้อเสนอ หรือหลักการที่แตกต่างกันออกไป” อาทิ การยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการร่วมเห็นชอบเลือกนายกฯ (ม.272) การยกเลิกการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. (ม.279) ฯลฯ หาได้มีข้อเสนอ หรือหลักการที่ซ้ำซ้อนกับญัตติที่มีการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วย ม.256 ที่เกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น และข้อเสนอจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อประเด็น หรือ “วัตถุในการพิจารณา” แตกต่างกัน จึงต้องแยกพิจารณา (Separate consideration) ตามปกติ ตามหลักหนึ่งข้อเสนอหนึ่งการพิจารณา

4.การตรวจสอบว่าญัตติใดๆ ซึ่งรวมถึงญัตติเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอขึ้นโดยสมาชิกรัฐสภาว่ามีข้อเสนอ หรือหลักการที่ซ้ำซ้อนหรือไม่อย่างไร ตามหลักกฎหมายรัฐสภาแล้ว ถือเป็นเรื่องในส่วน “กระบวนการของรัฐสภา” (Parliamentary proceeding) หรือที่ในประเทศไทยเราเรียกกันว่า “เรื่องวงงานรัฐสภา” ซึ่ง ม.256 (1) ของรัฐธรรมนูญประกอบกับข้อ 117 ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาก็กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ให้ “ประธานรัฐสภาเป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจ” ในการตรวจสอบและบริหารจัดการไปตามหลักการที่ถูกต้องเหมาะสม หากพบข้อบกพร่องก็ต้องแจ้งกลับไปยังผู้เสนอ ทั้งนี้เป็นไปตาม “หลักการบริหารจัดการภายในของฝ่ายนิติบัญญัติเอง” หาใช่เรื่องภายใต้หน้าที่และอำนาจขององค์กรตุลาการ (Sub judice) อย่างศาลรัฐธรรมนูญไม่ ซึ่งก็สอดคล้องกับคำอธิบายและข้อโต้แย้งของคุณไพบูลย์เองเสียด้วยซ้ำไปที่กล่าวว่า การอนุญาตให้สมาชิกฯ เสนอหลายๆ ญัตติได้ในคราวเดียวจะต้องใช้เวลาในการเรียกชื่อและลงคะแนนหลายชั่วโมง อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องกิจการภายใน (Internal Affairs) ของรัฐสภาเอง หาใช่ศาลรัฐธรรมนูญ

5.กรณีที่จะให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า การปรากฏรายชื่อของสมาชิกของพรรคการเมืองฝ่ายค้านซ้ำซ้อนกันในหลายญัตติ (5 ญัตติ) เป็นการไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ ม.256 (1) กำหนดไว้โดยอ้างถึงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ของคุณไพบูลย์เป็นการเทียบเคียงที่ไม่ตรงนัก ทั้งนี้เนื่องจากในกรณีดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญถือว่าการลงชื่อซ้ำซ้อนไม่เข้าเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นกรณีที่มีการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาใน “ประเด็นเดียวกัน” มาก่อนนี้อยู่แล้ว (เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเรื่องการลงชื่อแทนกันในคำวินิจฉัยที่ 2-3/2563 ว่าด้วยเรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณ) แต่สำหรับกรณีการยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 5 ญัตติของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ณ ปัจจุบัน หาใช่ประเด็นเดียวกันไม่ จึงไม่อาจอ้างอิงแนวบรรทัดฐานของคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ได้

Advertisement

6.ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐสภาประกอบกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ไม่มีข้อห้ามใดๆ ที่มิให้สมาชิกฯ ร่วมลงนามเพื่อเสนอหลายญัตติ กล่าวอีกนัยหนึ่ง สมาชิกแต่ละท่านสามารถที่จะร่วมเสนอข้อเสนอมากกว่าหนึ่งข้อเสนอได้ (Multiple proposals) เพียงแต่เป็นเรื่องของ “กระบวนการของรัฐสภา” ในการบริหารจัดการการประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอต่างๆ เหล่านั้นตามหลักการแยกพิจารณาและลงมติ หากเห็นว่ามีข้อเสนอที่เหมือน หรือคล้ายกันประธานรัฐสภาก็อาจสั่งให้มีการรวมพิจารณาได้ตาม “หลักการประชุมที่มีประสิทธิภาพ” หลายท่านอาจลืมไปว่ากรณีสมาชิกรัฐสภากลุ่มเดียวกันลงนามเพื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมากกว่า 1 ญัตติเป็นเรื่องปกติที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ขณะนั้นมีการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 50 เรื่องระบบเลือกตั้งและเรื่องการลงนามของรัฐบาลในหนังสือสนธิสัญญาต่างประเทศ จนนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 50 ดังนั้น จึงมิใช่เรื่องผิดแผกแปลกประหลาดอะไร หรือขัดแย้งต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

อนึ่ง ประเด็นผู้เสนอเรื่อง หรือผู้ริเริ่มให้ดำเนินการใดๆ (Sponsor) อันนำไปสู่การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ (กรณีนี้คือ ผู้เสนอญัตติให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) นั้น ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญมีข้อความคิดที่คอยกำกับอธิบายอยู่เช่นเดียวกัน ซึ่งผมเองอาจมีความเห็นที่แตกต่างไปจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานไว้ ทั้งนี้คงจะได้มานำเสนอแลกเปลี่ยนกันในโอกาสต่อไปครับผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image