วงวิชาการชี้ ประชามติวนลูป ไม่ชัดเจน ไม่เเก้ปมขัดเเย้ง เผยคนยังเข้าใจคลาดเคลื่อน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 3 สิงหาคม ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม จุฬาฯ ร่วมกับ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล จัดงานถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญในหัวข้อ “ฟันธง ลงประชามติ” วิทยากรโดย นายอุกฤษฎ์ ปัทมานนท์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีต ส.ว. รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

กระบวนการวนลูป ประชามติไม่แก้ขัดแย้ง

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะสั้นกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 แต่ในรายมาตรายาวมาก ทำให้คนอ่านถอดใจได้ง่าย แนวโน้มคนไปลงประชามติจะกาด้วยเหตุผลที่อาจไม่ตรงกับที่เข้าใจ เช่นไม่ชอบเพียงเรื่องเดียวก็ไม่รับ หรือชอบเพียงเรื่องเดียวก็รับแล้ว อยากให้พิจารณาถึงความหวังและความกลัวของสังคมไทยที่อยู่กับความขัดแย้งรุนแรงเป็นสิ่งสั่นคลอนแก่นแกนระบบการเมือง ส่วนตัวจึงคาดหวังว่าอยากเห็นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ปรองดอง ใช้เวลาหาจุดร่วมเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาได้มากที่สุด แน่นอนว่าไม่ใช่หน้าตาแบบนี้ กระบวนการที่เห็นหน้าตาเหมือนเดิมคล้ายปี 2550 สะท้อนความเชื่อชุดที่ไม่สามารถแก้ปัญหาขณะนี้ได้ เหมือนเราวนอยู่ในลูปซ้ำๆ

“ปัญหาคือเราบอกไม่ได้ว่าคนที่ลงประชามติแปลว่าอะไร คนที่โหวตรับจำนวนมากไม่ได้โหวตรับตัวร่าง แต่โหวตเพราะรับขั้วการเมืองบางขั้ว คนโหวตไม่รับก็เช่นเดียวกัน วิธีการที่จะเสริมให้ช่วยประชาชนตัดสินใจในเรื่องซับซ้อนคือต้องเปิดให้คนพูดกันได้มาก ขณะนี้เราไม่รู้ว่าการกาอย่างใดอย่างหนึ่งแปลว่าอะไร ทำให้เกิดความมั่ว ความขัดแย้งที่สั่นคลอนแก่นแกนระบบการเมืองจะยังเหมือนเดิม ถ้าไม่เหมือนเดิมเราคงไม่ต้องกำกับการแสดงออกทางการเมืองมากขนาดนี้ การลงประชามติไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้ง หลังวันที่ 7 ส.ค. เป็นไปได้ไหมที่จะกลับมาสู่กระบวนการ เป็นไปได้ไหมที่ผู้มีอำนาจรัฐจะมองความหวังมากกว่าความกลัว ที่อาจทำให้เราเดินออกจากลูปนี้ก็เป็นได้” รศ.ดร.ชลิดาภรณ์กล่าว

รธน.มุ่งจำกัดอำนาจปชช. ใช้มาตรฐานจริยธรรมไม่ชัดเจน

ศ.ดร.โสรัจจ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไทยไม่มีสถานะอย่างรัฐธรรมนูญสหรัฐที่มีเพียงฉบับเดียว เขาไม่ได้เคารพบูชารัฐธรรมนูญ แต่เขาเข้าใจเนื้อหาและตั้งใจต่อสู้เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ในการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ สิ่งนี้คือสิ่งที่เราขาดไป เหมือนเป็นเพียงกติกาชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์บอกว่าไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ได้เขียน ผมว่าค่อนข้างถูก
“รัฐธรรมนูญนี้ในมาตรา 219 เรื่องมาตรฐานจริยธรรม ทำไมจึงไม่ให้มีพ.ร.บ.กำหนดจริยธรรมไปเลย แน่นอนเป้าหมายสูงสุดไม่ได้อยู่ที่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป้าหมายอยู่ที่สมาชิกสภา โดยเฉพาะคนที่ได้รับเลือกตั้ง ปรัชญาพื้นฐานของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประสงค์ชัดเจนที่จะจำกัดอำนาจของประชาชนที่แสดงออกทางการเลือกตั้ง คำถามคืออะไรที่เรียกว่าผิดมาตรฐานจริยธรรม ส.ส.ไม่มาประชุมผิดมาตรฐานจริยธรรมถึงขนาดต้องตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตไหม มาตรฐานจริยธรรมถูกนำจริยธรรมของสังคมมาผนวกโดยให้ศาลตัดสิน” ศ.ดร.โสรัจจ์กล่าว

Advertisement

รธน.ฉีกเรื่องสิทธิฯ ไม่อ้างอิงอนุสัญญา

นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมีแบบหนึ่งที่ให้อำนาจมหาศาลแก่รัฐ เนื่องจากประชาชนยังเป็นเด็กยังต้องฟังพ่อขุนอุปถัมภ์ วิธีคิดรัฐไทยเป็นองค์ประกอบข้าราชการประจำกับนักการเมือง รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ในอดีตจึงสนองสภาพการเมืองเช่นนี้ จนเมื่อคุณบรรหาร ศิลปอาชาที่หาความชอบธรรมทางสังคมที่จะทำให้ท่านทำหน้าที่ได้ดี จัดทำรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับ 2540
“เมื่อเราไม่สามารถพึ่งรัฐบาลได้เราต้องพึ่งองค์กรระหว่างประเทศที่มีมาตรฐานสูงในเรื่องสิทธิ โดยคนที่ถูกละเมิดมากสุดคือคนที่ไม่ใช่คนไทยกลุ่มชาติพันธุ์กับคนที่เข้ามาใช้แรงงานในไทย เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญคุณมีชัย ถูกฉีกทิ้งไป คุณไม่ต้องเป็นมนุษย์แล้วแต่เป็นประชาชนที่เชื่อฟังอำนาจรัฐ ไหนจะ250 ส.ว. เรื่องป่า ชุมชน เสรีภาพสื่อ ไม่เอาอะไรสักเรื่องแล้วจะให้บอกว่าเห็นด้วยอย่างไร ไม่ควรจะเห็นด้วย ส่วนเรื่องอื่นตามกันมาสิทธิทางการศึกษาต้องเป็นคนไทยเท่านั้น ไม่มีสักประโยคที่จะอ้างอิงอนุสัญญาต่างๆที่อ้างอิงความเป็นมนุษย์ไม่ว่าคนไทยหรือชาติพันธุ์ต่างๆ กระบวนการตรวจสอบเหลือ 5 องค์กรอิสระ กำกับว่าต้องเชียร์รัฐบาล” นายไกรศักดิ์กล่าว

ชี้เขียนรธน.ต้องให้เข้ากับสังคม

นายอุกฤษฎ์ กล่าวว่า ประชามติทราบว่ากรธ.เตรียมตั้งวอร์รูมกันที่สภาไม่รู้ว่าลุ้นอะไรถ้ามั่นใจว่าร่างสิ่งที่ดีที่สุดมาแล้ว รัฐธรรมนูญนี้กลับไปคล้ายปี 2521 นายกฯมาจากคนนอก มีกลไกอย่างเป็นระบบ แต่สังคมการเมืองไม่ไ่ด้มีแค่รัฐธรรมนูญ มีทั้งเงิน ปืน ประชาชน เป็นโจทย์ที่มีพลวัตรต่อสังคม ที่ผ่านมา 15 ปี มีคนสองกลุ่มสู้กันเพื่อยกสังคมให้เป็นแบบมาเลเซีย คนซวยคือคนไทย ไม่ดูว่ามาเลเซียมีการละเมิดข่มเหงกันขนาดไหน ผมไม่ฟันธง แต่อยากให้คนที่เกี่ยวข้องการเมืองดูให้รอบด้าน อย่าติดกับว่ากล่องพลาสติกโยนแล้วแตกไหม ใช้งบประมาณเท่าไหร่ บอกเขาว่าให้รับผิดชอบแล้วคุณเคยรับผิดไหม คนอื่นเขามีรัฐธรรมนูญฉบับเดียว เรามีหลายฉบับแล้วก็แก้ให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย จะเดินหน้าได้

เผยคนโหวตเข้าใจคลาดเคลื่อนมาก

นายเอกพันธุ์ กล่าวว่า เมื่อวาน (2 ก.พ.) ผมได้รับเชิญไปเวทีดีเบตของกกต.ในฐานะผู้ไม่เห็นด้วย ผมชี้ประเด็นว่ามีใครไหมเข้าใจว่าคำถามพ่วงคืออะไร แต่ไม่มีใครตอบได้ชัดเจน สะท้อนว่าเรากำลังเดินสู่การทำประชามติโดยไม่แน่ใจว่าคนรู้หรือไม่ จากการพูดคุยกับชาวบ้านมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนหลายอย่าง เช่น คนที่จะโหวตรับเพราะอยากเลือกตั้งเร็ว คำถามพ่วงที่ตั้งขึ้นขัดแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญ หากคำถามพ่วงผ่านต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ แล้วจึงร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หากใช้เวลาสูงสุดเบ็ดเสร็จ 4-9-5 แน่นอนเราจะมีการเลือกตั้งปี 2560 แต่อาจเป็น 31 ธ.ค. 2560 ก็ได้

Advertisement

“บางคนบอกว่ารับแล้วค่อยไปแก้ แน่นอนว่าแก้ไม่ยากขึ้นอยู่กับว่าใครแก้ ถ้าส.ส.รวมตัวทั้งสภา 500 คน แต่ส.ว.เห็นด้วยไม่ถึง 84 คน ก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ กลับกันส.ว.250คนไปหาส.ส.อีก 125 คนก็แก้ได้ ตัวเลขที่เกิดขึ้นอาจเพราะคิดว่าส.ว.มีคุณภาพกว่าส.ส. การคิดว่ารับไปก่อนค่อยแก้ก็ขึ้นอยู่ว่าท่านเป็นใคร

“ส่วนคนที่รับเพราะอยากปราบโกง เป็นจริงเพียงบางส่วน มีความพยายามทำให้องค์กรอิสระร่วมมือกันปราบนักการเมืองโกง ทั้งที่องค์กรอิสระควรขัดกันเพื่อตรวจสอบซึ่งกัน โดยที่ไม่มีการพูดถึงการโกงของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ แม้ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่รัฐธรรมนูญก็มีข้อดีอยู่บ้างเพียงแต่ไม่ได้ดีกว่าที่มีในปี 2540 หรือ2550 จึงไม่จำเป็นต้องพูด เพราะมีความพิศดารพันลึกกว่ารัฐธรรมนูญที่เคยมีมา” นายเอกพันธุ์กล่าว

 

เสวนาประชามติ จุฬา
เสวนาประชามติ จุฬา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image