‘ม็อบ19ก.ย.’กดดันแก้รธน. เสียงสะท้อนส.ส.-จับตาส.ว.

‘ม็อบ19ก.ย.’กดดันแก้รธน. เสียงสะท้อนส.ส.-จับตาส.ว.

หมายเหตุ – ความเห็นจาก ส.ส.กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ อาทิ ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก และให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะเป็นแรงกดดันกับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นลดบทบาท ส.ว.หรือไม่ โดยวิป 3 ฝ่าย ได้แก่ วิปรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิก (ส.ว.) จะนัดหารือกันในวันที่ 22 กันยายนนี้ ก่อนสภาจะมีการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 24 กันยายนนี้

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

Advertisement

เท่าที่ดูข้อเรียกร้องการชุมนุมที่เกิดขึ้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ประเด็นการเมืองเรื่องร่างรัฐธรรมนูญน่าจะมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะวันที่ 23-24 กันยายน ทางสภาก็จะมีวาระการพิจารณาประเด็นเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นมาตรา 256 กับการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ถูกบรรจุไว้แล้วและเมื่อเป็นร่างของรัฐบาลซึ่งเป็นเสียงข้างมากในสภา รวมทั้งเสียงของฝ่ายค้านที่คิดตรงกันเรื่องแก้มาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร. ก็น่าจะเป็นไปในทางเดียวกัน

ดังนั้น ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ ส.ว. ว่าจะคิดอย่างไร ไม่แน่ใจว่าเมื่อถึงจุดนี้ ทางฝ่าย ส.ว.มีท่าทีอย่างไรบ้าง เพราะดูเหมือนจะเงียบไปกว่า 2 อาทิตย์แล้ว และประเด็นที่กังวล เมื่อมีประเด็นการเรียกร้องเรื่องอื่น อาจจะไปกระทบต่อความรู้สึกของหลายฝ่ายได้ และบางฝ่ายมีท่าทีรับไม่ได้กับข้อเสนอในหลายเรื่อง จึงอยากให้ ส.ว.แยกเรื่องออกจากกัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไม่ได้เป็นการกดดัน ส.ว.เพราะเงื่อนไขมาตรา 256 เสียง ต้องมาจาก 2 ฝ่ายคือ ส.ส.และ ส.ว. ประเด็นคือ ส.ส.แสดงเจตนาชัด แต่ ส.ว.ยังไม่ชัดเจน แต่ก็พอเห็นสัญญาณที่ดี ส.ว.หลายคนออกมาแสดงท่าทีบ้าง ต้องการ 84 เสียง ก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

ทราบข่าวมาว่าทางแกนนำรัฐบาลพยายามต่อสายพูดคุยกับทาง ส.ว.หลายฝ่าย คิดว่าเป็นท่าทีที่ดี เพราะการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. เป็นทิศทางที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยอยู่แล้ว ส่วนอีก 4 ฉบับ คิดว่าสภายังมีเวลาจะพิจารณาได้ เช่น ก่อนปิดสมัยประชุมนี้สมมุติว่ามีการพิจารณามาตรา 256 กับการตั้ง ส.ส.ร.ไปก่อน อีก 4 ฉบับอาจจะหารือว่าจะขยายเวลาการประชุมสภาหรือรอการพิจารณาในสมัยการประชุมหน้าอีกประมาณ 1 เดือน

Advertisement

สุทิน คลังแสง
ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.)
ประธานคณะกรรมการประสานงาน
พรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)

การเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมเขาเรียกร้องมาตั้งแต่แรก เราก็ถือว่าได้รับไม้ และทำงานประสานสัมพันธ์กับทาง
ผู้ชุมนุมในเรื่องนี้มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ยิ่งเขามาย้ำบนเวทีเมื่อค่ำวันที่ 19 กันยายน ก็ทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น เราถือว่าเราทำตามเสียงของประชาชน
ไม่เฉพาะผู้ชุมนุม แต่เราได้ฟังเสียงของคนที่ไม่มาชุมนุมด้วย เป็นไปในแนวทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับเสียงจากทางฟากฝั่ง ส.ว. จำเป็นต้องมีเสียง ส.ว.ร่วมด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราได้มีการพูดคุยกันอยู่ในระดับหนึ่ง เช่น การคุยกันของวิป 3 ฝ่าย ก็มีการรับฟังแนวคิดกัน เบื้องต้นเขาเห็นอย่างไร เราเห็นอย่างไร อันไหนพอจะพูดคุย หรือขอความร่วมมือกันได้ เราก็จะขอ แต่ถ้าอันไหนขอกันไม่ได้ หรือเขาไม่สนับสนุนให้ร่างนี้ประสบผลสำเร็จ เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้ากระบวนการในสภาจบ เราเป็นคนในสภาก็ต้องจบ ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของนอกสภาไปดำเนินการต่อ

สำหรับการชุมนุมเรียกร้องในเรื่องนี้ เราไม่จำเป็นต้องนำไปกดดันใคร เพราะการที่กลุ่มนักศึกษาเขาขยับก็เป็นการกดดันในตัวอยู่แล้ว ส.ส.ไม่ต้องไปพูดย้ำอีก ถือว่าทาง ส.ว.เขารับรู้ รับทราบอยู่แล้ว ขณะที่เนื้อหาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นร่างของฝ่ายการเมืองในสภา หรือประชาชนนั้น เราคิดว่าอยู่ที่ประเด็น อย่างประเด็นแรกเขาอยากได้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทางตรง ในร่างของฝ่ายค้านใช่เลย ตรงกัน แต่ของทางฝ่ายรัฐบาลอาจจะไม่มาจากการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของรายละเอียดสามารถปรับแก้กันได้ในวาระ 2 ส่วนเรื่องเนื้อหาอื่นๆ ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ก็รับฟังร่วมกันจากเวทีเมื่อคืน และต่อจากนี้เป็นเรื่องที่นักการเมืองทั้ง ส.ว.และ ส.ส. ต้องรับฟังความต้องการของประชาชน อาจจะไปทำในขั้น ส.ส.ร. หรือหากมาตราใดสามารถทำได้เลยตอนนี้ เช่น 4 ญัตติเราได้เสนอไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจ ส.ว. หรือเรื่องระบบเลือกตั้งก็ต้องรับฟังข้อเรียกร้อง

นพคุณ รัฐผไท
ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย

การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชน เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล มาจากอำนาจเผด็จการ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ผู้ชุมนุมสามารถแสดงออกได้ภายใต้กรอบกฎหมาย ข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ยอมรับว่าเดาใจยาก เพราะปัญหาอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรีคนเดียวเท่านั้น ถ้าลาออกทุกอย่างก็สงบ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการทางสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะรัฐธรรมนูญยังใช้อยู่ ไม่ได้ถูกฉีกอย่างใด

หาก พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือขั้วรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีอาจมาจากพรรคสนับสนุนประชาธิปไตยและประชาชนเลือกมาเป็น ส.ส.ส่วนใหญ่ แต่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ยอมง่ายๆ เพราะมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หนุนหลังอยู่ โดยอ้างว่ามีภารกิจสานต่ออีกมาก ทั้งที่ทำสำเร็จเพียงเรื่องเดียวคือ สภาอนุมัติกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทเท่านั้น ไม่ตอบโจทย์ความต้องการประชาชน

นราพัฒน์ แก้วทอง
รองหัวหน้าพรรค ปชป.

กรณีม็อบทั้งนักการเมืองนักศึกษาจำนวนมากออกมาชุมนุมเรียกร้องแล้วบุกไปธรรมศาสตร์ จนถึงสนามหลวงนั้น อยากให้มองย้อนหลังไปยังอดีตว่าความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตไปจนยังปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองอย่างเดียว แต่มีเรื่องของความคิดต่าง วันหนึ่งที่มีการชุมนุมใหญ่ มีทางทหารเข้ามารัฐประหารเพื่อยึดอำนาจ สาเหตุประเด็นแรกย้อนกับไปดูว่าสาเหตุอะไร ต้องดูว่าการที่เขามายึดอำนาจเพื่อแก้ไขอะไร หลังจากแก้ไขแล้วจนได้กฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้นมา อาจออกแบบมาเพื่อให้เหมาะสมต่อสถานการณ์นั้นๆ จึงได้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมา แต่หลังจากที่มีการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบนี้แล้ว ก็ต้องมาดูช่วงระยะเวลา ปัจจุบันสถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลาย ไปในทิศทางที่ดีแล้วอย่างไร

หากต้องการเรียกร้องว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญจะต้องออกมาแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงข้อเรียกร้องหลายฝ่ายที่อยากให้ประเทศกลับมาสู่การเลือกตั้งสมบูรณ์แบบ เข้าใจว่าทุกคนน่าจะคิดเห็นตรงกัน น่าจะค่อยๆ ถอดบทเรียน อาจต้องกลับมาสู่การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นไปตามเหมาะสมความต้องการของประชาชนหรือคนส่วนใหญ่ อันนี้ก็เป็นอีกวิธีการหรือจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา หรือแบบตั้งคณะ ส.ส.ร. เพื่อออกมาแก้ไขทั้งฉบับ

วันนี้การชุมนุมเรียกร้องไม่ใช่เรียกร้อง แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่มีการสอดแทรกประเด็นอื่น ตรงนี้ต้องแบ่งออกมาเป็นกลุ่มว่า กลุ่มไหนใครเรียกร้องอะไร ดังนั้นรัฐบาล ควรออกมาจัดการว่าจะแก้ไขอย่างไร เท่าที่จับกระแสประชาชนอยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่วนกรณีเพนกวินจะนัดหยุดงานทั่วประเทศ วันที่ 14 ตุลาคม เชื่อว่าประชาชนคงไม่หยุดงานแน่นอน เพราะเขาต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ยิ่งเศรษฐกิจอย่างนี้ เชื่อว่าหากจะมีคนหยุดก็ส่วนน้อย ส่วนใหญ่น่าจะไม่หยุดงานไปชุมนุม เพราะไม่เกิดประโยชน์ไม่เป็นผลดีต่อบ้านเมืองแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image