เดินหน้าชน : แรงกดดัน

กิจกรรมของกลุ่ม “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ภายในรหัส “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” แสดงพลังนักศึกษา ประชาชน และแนวร่วมกลุ่มต่างๆ ณ ท้องสนามหลวงระหว่างวันที่ 19 กันยายนต่อเนื่องเช้า
20 กันยายน

ยุติลงอย่างสวยงามท่ามกลางความโล่งอก โดยเฉพาะในฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายความมั่นคง

จะมีความวุ่นวายบ้างประปราย ก็เป็นธรรมดาของการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมเรือนหมื่น

แม้ก่อนวันชุมนุมมีความพยายาม “เตะสกัด” ลดทอนปริมาณ

Advertisement

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ เตือนผู้จะออกมาร่วมชุมนุมรวมตัวจำนวนมาก จะเพิ่มความเสี่ยงแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่สำคัญ “ทำลายสมาธิ” ของภาครัฐที่จะจัดการกับโรคระบาดและปัญหาเศรษฐกิจ

ตบท้ายด้วยว่า การชุมนุมอาจเพิ่มความเสี่ยงจะทำลายการทำมาหากินของคนไทยอีกหลายสิบล้านคน

ทำนองหากโควิด-19 ระบาดขึ้นมาอีก ผู้ชุมนุมนั่นแหละทำคนทั้งประเทศเดือดร้อน

Advertisement

รวมไปถึง ส.ว.คนดังก็ออกมากระตุกการชุมนุม ด้วยการเปิดข้อมูลที่อ้างว่าเป็นรายงานลับจากหลายหน่วย
ข่าวกรองเกี่ยวแผนการเคลื่อนไหว เหมือนบอกเป็นนัยถึงการแทรกแซงของพรรคการเมือง หาใช่พลังบริสุทธิ์ของบวนการนักศึกษา

เป็นแผนการระดมผู้คนของพรรคการเมืองแบ่งสายเกณฑ์ผู้ชุมนุม

จัดวางสตอรี่เป็นฉากๆ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคลื่อนขบวนปิดถนนราชดำเนินไปทำเนียบรัฐบาล ไปกองบัญชาการกองทัพบก

รายงานลับของ ส.ว.คนดัง ระบุว่าจุดสุดท้ายของกลุ่มผู้ชุมนุมคือลานพระบรมรูปทรงม้า นั่นคือเป้าหมายที่แท้จริง

แต่ดูเหมือนการปรามไม่สามารถตัดกำลังได้ซักกี่มากน้อย

เพราะจากจำนวนการชุมนุมที่ผู้เข้าร่วมนับหมื่นเรียกร้อง 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.พล.อ.ประยุทธ์ลาออก

สำทับด้วยกลุ่มไอลอว์รณรงค์ล่ารายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีผู้ร่วมลงชื่อเกือบ 1 แสนราย

ต้องยอมรับความจริงถึงพลังที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง

แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หนึ่งในประเด็นหลักของข้อเรียกร้อง กำลังเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา หรือการประชุมร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ในวันที่ 23-24 กันยายน อันประกอบด้วย 6 ญัตติ

หนึ่ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย
หนึ่ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่เสนอโดย พรรคร่วมรัฐบาล
หนึ่ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 270 และมาตรา 271 ในเรื่องการปฏิรูปประเทศ
หนึ่ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 เรื่องยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี
หนึ่ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้ยกเลิก มาตรา 279 ที่ให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ หนึ่ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้ยกเลิก มาตรา 93 และ มาตรา 101 (4) เรื่องให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. 2 ใบ ตามรัฐธรรมนูญปี 2540

แต่เป็นตัวแปรสำคัญอยู่วุฒิสมาชิกในการโหวตวาระแรก ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า
84 เสียง เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญไปต่อ

ทว่า ในช่วงที่ผ่านมายังมีทิศทางไม่ชัดเจน ทั้งส่วนใหญ่ยังออกไปในทางไม่เห็นด้วยน่าสนใจ เมื่อย้อนไปดูพลังนักศึกษา ประชาชน อัดแน่นท้องสนามหลวงในวันนั้น

บรรดา ส.ว.คงระคายคอเอาเรื่อง หากออกเสียง “ไม่เห็นด้วย” กับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image