สภาหวั่นม็อบบุกปิด 24 ก.ย. จัดเฮลิคอปเตอร์-ตร.น้ำดูแล 24 ชม. ฝ่ายค้านเตือน ส.ว.ยึดประโยชน์ประเทศ

สภาฯ หวั่นม็อบบุกปิด 24 ก.ย. จัดเฮลิคอปเตอร์-ตำรวจน้ำดูแล 24 ชั่วโมง ตร.รปภ.รอบพื้นที่ ฝ่ายค้านเตือน ส.ว.ให้ยึดประโยชน์ประเทศชาติ ครูหยุยชี้ ส.ว.ทุกคนมีจุดยืน-เอกเทศ

เมื่อวันที่ 22 กันยายน การโหวตวาระแรกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติที่จะพิจารณาในสภาฯระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน นอกจากจะถูกจับตามองว่าท้ายที่สุดแล้ววุฒิสภาจะเห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หลายฝ่ายยังจับจ้องการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาที่นัดรวมตัวหน้ารัฐสภาในวันที่ 24 กันยายน ล่าสุด นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 กันยายน ว่า สภาไม่ได้กีดกันการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยจะมีการจัดสถานที่ให้เหมือนกับเป็นลานประชาชนที่สามารถรองรับได้มากกว่าหมื่นคน และจะมีการอำนวยความสะดวกทั้งเรื่องห้องน้ำและร้านอาหาร แต่ขณะนี้ลานดังกล่าวยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ขณะนี้จะพูดว่ายินดีต้อนรับก็ยังไม่ค่อยสะดวก เนื่องจากถนนสามเสนคับแคบเป็นเพียงถนนสี่ช่องทางการจราจรเท่านั้น เมื่อมีข่าวว่าม็อบจะมาในวันที่ 24 กันยายน ได้มีการหารือกับรองเลขาธิการสภาและผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความปลอดภัย มีการประสานงานไปยังหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีตำรวจนครบาลบางโพและหน่วยทหารที่ดูแลเรื่องความมั่นคง และสั่งยกระดับแผนการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด และเริ่มแผนนี้ในวันที่ 23 กันยายน วันประชุมรัฐสภา โดยจะให้มีเวรยามมากขึ้นและดูแลบริเวณโดยรอบรัฐสภาตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งหมดนี้ได้เรียนให้กับนายชวน หลีกภัยประธานรัฐสภาได้รับทราบแล้วŽ

เมื่อถามว่า สภาได้เตรียมทางหนีออกจากรัฐสภาหรือไม่ หากเกิดสถานการณ์วุ่นวายและปิดล้อมทางเข้าออก นายสรศักดิ์กล่าวว่า ได้เตรียมไว้ทุกทาง 1.ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ สามารถดำเนินการ โดยสามารถจอดได้บริเวณชั้นบนสุดของอาคารรัฐสภา 2.ตำรวจน้ำที่จะดูแลความปลอดภัยบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตลอด 24 ชั่วโมง และ 3.เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความปลอดภัยโดยรอบ

วิปฝ่ายค้านเชื่อม็อบส่งผลแก้รธน.

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงแนวทางการหารือในที่ประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย ระหว่าง ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ในวันที่ 22 กันยายน เพื่อเตรียมความพร้อมการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า มีญัตติเยอะ แต่เวลาที่พิจารณามีน้อย จึงกังวลถึงวิธีการบริหารการประชุมและการลงมติในเวลาที่จำกัด ส่วนเรื่องท่าทีคงจะมีการพูดคุยกันบ้าง สิ่งใดที่พอจะเป็นไปได้ ติดใจในประเด็นใด หรือเคลือบแคลงในเจตนาอะไรจะพูดคุยกัน โดยชักชวนให้คิดถึงเสียงเรียกร้องของประชาชน ทั้งส่วนที่มาชุมนุมและไม่มาชุมนุม พิจารณาถึงทางออกของบ้านเมือง เชื่อว่าทุกคนคิดได้เป็นผู้ใหญ่กันแล้ว ถึงเวลาหรือไม่ที่จะต้องเอาประเทศออกจากความขัดแย้ง เดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยหรือจะจมอยู่อย่างนี้ และถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องเสียสละแล้วหรือไม่ ส่วนการชุมนุมวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา จะมีผลต่อการตัดสินใจของ ส.ว.ในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น การชุมนุมที่เกิดขึ้นแม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะดูไม่ได้เป็นประเด็นหลักที่มีการปราศรัย แต่หากแยกแยะออกคงเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องหลัก เพราะข้อเรียกร้องใดๆ ก็ตาม รัฐธรรมนูญคือกุญแจ หากไม่จัดการที่รัฐธรรมนูญ เสียงเรียกร้องต่างๆ ก็เดินไม่ได้ ไปไม่ได้ จึงเชื่อว่ามีผลต่อการตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอยากให้ตระหนักว่า หากไม่รับข้อเสนอหรือไม่ทำอะไรเลย อาจจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นบ้าง นอกจากนี้การชุมนุมในวันที่ 24 กันยายนนี้ ที่หน้ารัฐสภา ยิ่งเป็นโอกาสดีของสมาชิกรัฐสภาที่ประชาชนมาแสดงความต้องการแบบทางตรงให้เห็น

Advertisement

เตือนส.ว.ให้ยึดประเทศชาติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การลงมติของ ส.ว.ที่อาจมีการควบคุมเสียงโดย ส.ว.ที่เป็นผู้นำเหล่าทัพ นายสุทินกล่าวว่า เมื่อได้โอกาสดีที่ได้เข้ามาทำงานกำหนดทางเลือกให้กับประเทศ ส.ว.ควรมีความเป็นอิสระ วันนี้ยังเชื่อว่าปัจจัยหลักอยู่ที่รัฐบาล จุดที่น่าสนใจอยู่ที่การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งรัฐบาล ดังนั้น ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลคิดอย่างไรก็ตาม อยากฝาก ส.ว.ว่าทุกคนรักชาติบ้านเมืองอยู่แล้ว พอถึงจุดหนึ่งจะต้องเลือกเอาระหว่างชาติบ้านเมืองกับกลุ่มคนที่อยากจะให้ ส.ว.ทำอะไรให้

เมื่อถามถึงร่างฉบับประชาชนที่กลุ่มไอลอว์จะมายื่นวันในวันที่ 22 กันยายน นายสุทินกล่าวว่า คงไม่สามารถเข้าสู่ระเบียบวาระได้ทันวันที่ 23-24 กันยายน แต่เบื้องต้นก็มีความคิดกันว่าจะเอาภาคประชาชนมาร่วมเป็นคณะ กมธ.วิสามัญ และยังมีโอกาสอีกครั้งในกระบวนการสรรหาสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่เปิดกว้างอยู่แล้ว หากมีเหตุพลาดพลั้งก็ยังมีโอกาสยื่นญัตติซ้ำได้ หรืออาจนำเอาประเด็นความคิดต่างๆ ที่อยู่ในร่างของภาคประชาชนกลุ่ม ไอลอว์เข้าไปเติมในชั้น กมธ.ได้หากสอดคล้องในหลักการ

นายสุทินกล่าวว่า การพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่ 23-24 กันยายนนี้ ยังวางใจไม่ได้ว่าฝ่ายที่ไม่อยากให้แก้ไขจะใช้วิชามารอะไรหรือไม่ จึงต้องทำงานหนัก เพราะหาก ส.ว.ยกมือสนับสนุนครบ 84 เสียง แต่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่ยกมือให้ก็ไปไม่รอด หลักใหญ่อยู่ที่รัฐบาลว่าจะเอาอย่างไรก็อยากให้เรียกร้องไปยังฝ่ายรัฐบาลด้วย

Advertisement

ครูหยุยค้านรื้อหมวด1-2

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อลดอำนาจของ ส.ว.ว่า ส.ว. ทั้ง 250 คน มีความหลากหลายทางความคิด แต่ถ้าความเห็นส่วนตัว คิดว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญทุกข้อ แก้รายมาตรา ไม่ติดใจอะไรทั้งสิ้น แต่ห้ามยุ่งกับหมวด 1 และ 2 คือเรื่องแบ่งแยกดินแดน และกระทบกับสถาบัน เชื่อว่าทั้ง ส.ว. ส.ส. และประชาชน คงรับเรื่องนี้ไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปราศรัยของแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม เชื่อมั่นว่านายกฯสามารถสั่ง ส.ว.ทั้ง 250 คนได้ นายวัลลภกล่าวว่า สั่งไม่ได้ ส.ว.ทุกคนมีเอกเทศ เชื่อว่าทุกคนมีจุดยืนของตัวเอง ขณะนี้ที่ยังสับสนเพราะมี 6 ร่าง จะโหวตกันอย่างไร ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ต้องไปดูรายละเอียด ถ้ามีแค่ 2 ร่างแรกอาจจะโหวตง่ายหน่อยยืนยันว่าสั่งไม่ได้หรอกและนายกฯก็ไม่เคยสั่งเลยที่ผ่านมา แม้ตอนโหวตเลือกนายกฯ ไม่มีใครสั่งให้โหวตใครเป็นนายกฯŽ”นายวัลลภกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image