“ชวน”ถกวิป 3 ฝ่ายวางกรอบอภิปรายแก้ รธน. แบ่งเวลาฝ่ายละ7ชม. ลงมติรวดเดียว ทั้ง 6 ญัตติ

“ชวน”ถกวิป 3 ฝ่ายวางกรอบอภิปรายแก้ รธน. 23-24 ก.ย. แบ่งเวลาอภิปรายฝ่ายละ 7 ชม.20นาที ลงมติในคราวเดียวทั้ง 6 ญัตติ คาดใช้เวลาลงมติลากยาว4ชม.

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย ทั้ง วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา อาทิ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรปประชาธิปัตย์ รองประธานวิปรัฐบาล นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายสมชาย แสวงการ ส.ว. นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. เป็นต้น เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกรอบการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ ในวันที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 23-24 ก.ย.

ต่อมาเวลา 11.20 น. นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงผลการประชุมวิป 3 ฝ่ายว่า ได้แบ่งเวลาการอภิปรายให้ 3 ฝ่ายคือ ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา อย่างละเท่าๆกันคือ ฝ่ายละ 7ชั่วโมง 20 นาที โดยรูปแบบการประชุมร่างแก้ไขรัฐ ธรรมนูญนั้น จะให้พิจารณารวมทั้ง 6ญัตติไปพร้อมๆกันจนจบ จากนั้นจะให้ลงมติโดยใช้การขานชื่อรายบุคคล แต่ละคนจะขานทีเดียวว่า จะรับหรือไม่รับญัตติทั้ง 6ฉบับ เพื่อประหยัดเวลา ส่วนกรอบเวลาการประชุมวันที่ 23 ก.ย.จะเริ่มเวลา 09.30น. เลิกเวลา 01.30 น. ส่วนวันที่ 24 ก.ย.จะต้องยุติการอภิปรายในเวลา 18.00 น. เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติโดยการขานชื่อรายเป็นบุคคล ซึ่งจะใช้เวลานาน ส่วนข้อกังวลเรื่องการตีรวน ประท้วง อาจทำให้ไม่สามารถยุติการอภิปรายได้ทันในเวลา 18.00น. วันที่ 24 ก.ย.นั้น หากฝ่ายใดประท้วง หรือตีรวน จะให้หักเวลาของฝ่ายนั้น

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หลังจากอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติจบในเวลา 18.00 น.วันที่ 24ก.ย.แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติที่ใช้วิธีขานชื่อรายบุคคล โดยแต่ละคนจะกล่าวในครั้งเดียวว่า จะลงมติรับหรือไม่รับทั้ง 6ญัตติ คาดว่าจะใช้เวลาลงมตินานถึง 3-4 ชั่วโมง หลังลงมติแล้ว ถ้ามีการรับหลักการวาระแรก จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯมาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาในวาระ 2 จำนวน 45 คนได้แก่ ส.ว. 15 คน พรรคพลังประชารัฐ 8คน พรรคเพื่อไทย 8 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคก้าวไกล 3 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3คน และพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 1คน

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image