‘สตง.’ เผยผลสอบบังคับใช้กม.ควบคุมอาคารและผังเมือง พบปัญหาไม่มีแนวปฏิบัติชัดเจน

สตง.เผยผลตรวจสอบบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารและผังเมือง พบปัญหาไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค และข้อขัดข้องจากการดำเนินงาน เพื่อให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานและพัฒนางานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล จากการตรวจสอบพบว่า การควบคุม กำกับดูแล และตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กำหนด ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

1. คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก กฎหมายควบคุมอาคารได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งใด ๆ แก่ผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมอาคาร เช่น คำสั่งให้ระงับการกระทำ คำสั่งให้รื้อถอนอาคาร ห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคาร ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2561 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในจังหวัดที่สุ่มตรวจสอบ 5 จังหวัด ได้มีคำวินิจฉัยเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำนวน 452 เรื่อง จากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่พิจารณาแล้วเสร็จทั้งหมด 681 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 66.37 โดยเห็นว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นขาดข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ การอ้างอิงกฎหมายไม่ถูกต้องตามสภาพแห่งการกระทำความผิด และการออกคำสั่งดำเนินการไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น ซึ่งการเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าว ส่งผลให้เจ้าของอาคารยังคงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในอาคารต่อไปได้ แม้ว่าจะได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมอาคารก็ตาม

2. การดำเนินงานในขั้นตอนของการวินิจฉัยอุทธรณ์ล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนด จากการตรวจสอบพบว่า งานอุทธรณ์ได้รับหนังสืออุทธรณ์พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำนวน 774 เรื่อง แต่มีเพียง 19 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 2.45 ของหนังสืออุทธรณ์ทั้งหมดที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยแล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ขณะที่หนังสืออุทธรณ์อีกจำนวน 755 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 97.55 มีผลการดำเนินการวินิจฉัยอุทธรณ์ล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนด

3. เจ้าของอาคารที่ได้รับคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นยังไม่มีการแก้ไขหรือปฏิบัติตามคำสั่ง จากการตรวจสอบพบว่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยยังคงมีการใช้ประโยชน์จากอาคารที่ก่อสร้าง ดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ทั้งที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือผู้ควบคุมงานระงับการกระทำ หรือมีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคาร

Advertisement

ทั้งนี้ สาเหตุที่สำคัญเกิดจากการออกคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อใช้ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ประกอบกับเจ้าหน้าที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ของตน อีกทั้งแบบคำสั่งแนบท้ายกฎกระทรวง (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2528 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นปัจจุบัน นอกจากนี้ ในขั้นตอนการพิจารณาอุทธรณ์มิได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการดำเนินการ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การดำเนินงานล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมถึงยังขาดการติดตามผลการออกคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ ทำให้ปัญหาอุปสรรคบางส่วนยังไม่นำมาสู่การหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนางานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายควบคุมอาคาร

จากข้อตรวจพบดังกล่าว สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พิจารณาดำเนินการทบทวนแก้ไขแบบคำสั่งแนบท้ายกฎกระทรวง (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2522 ให้เลขมาตราในแบบคำสั่งถูกต้องตรงกันกับเลขมาตราใหม่ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งจัดให้มีคู่มือหรือแนวปฏิบัติในการดำเนินงานการใช้อำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น คู่มือหรือแนวปฏิบัติในการจัดทำสำนวน ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อเสนอความเห็นไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ รวมถึงการอบรมให้ความรู้เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในแนวทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการติดตามและประเมินผลการดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานและนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขพัฒนางานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายควบคุมอาคารต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image