รายงานหน้า 2 : ‘รัฐสภา-ฝ่ายค้าน’โชว์ธง แก้ รธน.ปลดล็อกการเมือง

รายงานหน้า 2 : ‘รัฐสภา-ฝ่ายค้าน’โชว์ธง แก้ รธน.ปลดล็อกการเมือง

‘รัฐสภา-ฝ่ายค้าน’โชว์ธง
แก้ รธน.ปลดล็อกการเมือง

หมายเหตุนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ร่วมอภิปรายร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 จำนวน 6 ฉบับ ที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในการประชุมร่วมรัฐสภา

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์
ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.)
ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

รายงานหน้า 2 : ‘รัฐสภา-ฝ่ายค้าน’โชว์ธง แก้ รธน.ปลดล็อกการเมือง

Advertisement

พรรค พท.ได้คัดค้านและไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่เมื่อยกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แล้ว เพราะเห็นถึงแนวคิดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ส่งผ่านไปยัง กรธ.ว่า สิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นคือ การถอยหลังประเทศ ถอยหลังประชาธิปไตย และจะต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะได้มา ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารนั้นมีการนำวิธีคิดที่พิสดารผิดเพี้ยนไปจากที่เคยใช้มาในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ สิ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องเลวร้ายที่ไม่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็คือ การวางกลไกในการสืบทอดอำนาจของ คสช. เป็นผู้ทำการรัฐประหาร โดยในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ให้อำนาจหัวหน้า คสช. คือ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ถึง 250 คน และกำหนดให้ ส.ว.ชุดนี้ มีอำนาจในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรได้ในระยะ 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญได้ด้วย ตรงนี้เองที่ทำให้เห็นชัดเจนว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้ปูทางและเปิดทางไว้ให้สำหรับหัวหน้า คสช.ในขณะนั้น การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีแบบที่เป็นอยู่นี้ไม่ควรจะมีอยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศเสรีประชาธิปไตย จึงเป็นที่มาที่กระผมและคณะต้องแก้ไขในเรื่องนี้ให้ได้

ประเด็นถัดมาคือ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ได้มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญให้มียุทธศาสตร์ชาติอย่างน้อย 20 ปี การกำหนดยุทธศาสตร์ชาตินั้น เห็นว่ามีหลักสำคัญอยู่ 2 ประการ ประการแรก ยุทธศาสตร์ชาติตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ถูกกำหนดโดยกรอบความคิดของ คสช.เป็นผู้นำเหล่าทัพเป็นหลัก แม้จะมีการแต่งตั้งบุคคลเป็นคณะกรรมการร่วมด้วย แต่กรอบความคิดหลักคือ คสช. โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมใดๆ ทั้งสิ้น

ประการที่สอง ยุทธศาสตร์ชาตินั้นไม่ควรกำหนดระยะเวลาที่ยาวเกินไป เพราะสถานการณ์โลกและภายในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ผมจึงเห็นว่ายุทธศาสตร์ชาตินั้นควรบัญญัติไว้โดย พ.ร.บ.น่าจะเหมาะสม สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ทันสถานการณ์ ไม่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อพรรคการเมืองและรัฐบาลในอนาคตที่จะมีนโยบายในการบริหารประเทศ

Advertisement

ต่อมาเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 จะเห็นได้ว่า นอกจากจะได้มีการกำหนดกลไกการสืบทอดอำนาจไว้อย่างชัดเจนแล้ว ยังมัดตราสังรัฐธรรมนูญไว้เพื่อมิให้มีการแก้ไขได้ง่ายด้วย ผมยังไม่มั่นใจว่าในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะทำสำเร็จหรือไม่ ถ้าทำไม่สำเร็จก็ต้องถือว่าเป็นความโชคร้ายของประเทศชาติอย่างมหันต์ เพราะไปเขียนในรัฐธรรมนูญว่า ในวาระแรกขั้นรับหลักการ นอกจากได้เสียงข้างมากของทั้งสองสภาแล้วจะต้องมี ส.ว.ให้ความเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คน เช่นเดียวกับวาระที่ 3 นอกจากต้องมีเสียง ส.ว. เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 แล้ว ถ้าเป็นการแก้ไขในบางหมวด เช่น หมวดที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระ จะต้องไปลงประชามติอีกด้วย กระผมไม่ได้ห่วงเรื่องการทำประชามติ เพราะเคารพในเสียงของประชาชน แต่เป็นห่วงเรื่องเสียงของ ส.ว. 1 ใน 3 ที่จะมีผลต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าจะสำเร็จหรือไม่

เมื่อรัฐธรรมนูญมีปัญหาในหลายส่วนเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันไปหมด การจะแก้ไขเป็นรายมาตราก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้หมด เหตุนี้ผม และคณะจึงได้เสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยผ่านกระบวนการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยมี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในแต่ละจังหวัด และ ส.ส.ร.ตั้งคณะ กมธ.ขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จและได้รับความเห็นชอบจากสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ โดยระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมีการรับฟังข้อเสนอของประชาชนโดยตลอด จะถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนโดยประชาชน และเพื่อประชาชนโดยแท้จริง

สำหรับอีก 4 ญัตติที่ได้เสนอนั้น ญัตติแรก ให้ยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271 เกี่ยวกับอำนาจ ส.ว.ในการติดตามเสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ การจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ผมเห็นว่าเป็นอำนาจตามปกติของสภาผู้แทนราษฎรในการดำเนินการอยู่แล้วจึงไม่จำต้องกำหนดไว้

ญัตติต่อมาคือ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 เกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากรายชื่อของพรรคการเมืองที่แจ้งไว้ แก้ไขเพิ่มเติมเป็น ให้มาจาก ส.ส.ก็ได้ ขณะเดียวกันก็ให้ยกเลิกมาตรา 272 เกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ญัตติต่อมา เป็นการยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล มาตรานี้มีผลเป็นการสร้างความถูกต้องชอบธรรมให้กับการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้ การใช้อำนาจของ คสช. และหัวหน้า คสช. ที่ผ่านมามีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมาก เป็นอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าควรยกเลิกมาตราดังกล่าว

ญัตติสุดท้าย เป็นเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. โดยให้นำระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้แทนระบบปัจจุบัน เนื่องจากเป็นระบบที่ใช้ในการเลือกตั้งมาหลายครั้งและประชาชนมีความเข้าใจและคุ้นเคยเป็นอย่างดี เป็นระบบที่ไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติมีความเป็นธรรมแก่ทุกพรรคการเมืองและสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นอย่างดี

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.)

รายงานหน้า 2 : ‘รัฐสภา-ฝ่ายค้าน’โชว์ธง แก้ รธน.ปลดล็อกการเมือง

การอภิปรายญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะประชาชนจับตามองการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคต ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน สาระสำคัญของการอภิปรายในวันนี้คือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขนั้น ไม่ใช่เพียง เพราะเป็นเครื่องมือการสืบทอดอำนาจ คสช. แต่ยังฝืนธรรมชาติ ยื้อรั้ง ฉุดกระชากลากถูประเทศไทยกลับไปสู่ในอดีต ทวนเข็นนาฬิกา ย้อนยุคประเทศไทยให้ล้าหลัง ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ คือรัฐธรรมนูญปี 2521 ซึ่งเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผ่านมาแล้ว 40 ปี ลูกสาวผมเกิดในช่วงรัฐประหารปี 2557 มีหัวหน้าคณะรัฐประหารชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนนี้เธออายุ 4 ขวบแล้ว ยังมีแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ในรัฐธรรมนูญจากคณะรัฐประหารอยู่อีก ยังให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งเลือกนายกฯ ยังมีรัฐธรรมนูที่เปิดช่องให้นายกฯไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง

นี่คือความเหมือนที่ไม่บังเอิญของรัฐธรรมนูญปี 21 และปี 60 แม้เวลาจะผ่านมา 40 ปี ก็ยังใช้วิธีการเดิมๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ นวัตกรรม ทางการเมืองเพื่อการผูกขาดอำนาจ โดยการใช้องค์กรอิสระต่างๆ ที่ไม่อิสระจริง

จากรุ่นพ่อ ถึงรุ่นลูก ประเทศไทยยังไม่ไปไหน วนเวียนอยู่กับที่เหมือนม้าหมุน แค่เปลี่ยนจากประชาธิปไตยครึ่งเดียวในรุ่นพ่อ กลายเป็นประชาธิปไตยสลึงเดียวในรุ่นลูก การหมุนนาฬิกาทวนเข็มแบบนี้อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญปี 60 เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2521

เรื่องที่น่าเศร้าใจของสังคมไทยคือ สิ่งที่พยายามพูดคุย ถกเถียงในวันนี้ไม่ได้ก้าวหน้าไปไหนเลย

รัฐธรรมนูญ 2560 ในแง่หนึ่งจึงไม่ใช่การสืบทอดอำนาจขอ คสช. แต่เป็นความพยายามพาสังคมไทยกลับไปสู้อดีตเพื่อกดทับให้อำนาจที่มาจากประชาชนอยู่ใต้อำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนตลอดไป ทั้งที่ต้องเสียเลือด เสียเนื้อกันไปไม่รู้เท่าไหร่ เท่ากับว่าผู้มีอำนาจของประเทศไทยไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากชีวิตของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในหลายสิบปีที่ผ่าน

จนถึงจุดนี้ผมยังมีความหวังว่าการที่มาอภิปรายกันในวันนี้จะให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เหมือนทุกครั้ง ยังมีความหวังอันริบหรี่ที่เกิดจากพลานุภาพของประชาชนที่อยู่นอกสภา ไม่สามารถปล่อยให้โอกาสที่จะพาประเทศไทยออกจากหลุมดำทางการเมืองถูกปล้นไปต่อหน้าต่อตา จึงวิงวอนทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ไม่ปล่อยให้โอกาสนี้สูญเปล่า ช่วยกันถอนฟืน ออกจากกองไฟแก้รัฐธรรมนูญโดยการโอบอุ้มความฝันของคนทุกกลุ่ม ทุกประเภท ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องเป็นตัวแทนกลุ่มทางสังคม และตัวแทนทางอุดมการณ์ที่หลากหลาย มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ไม่ใช่ให้ ส.ส.ร.เป็นกลไกของการสืบทอดอำนาจอีกทีหนึ่ง เป็นสืบทอดอำนาจยกกำลัง 2 อย่างที่ปรากฎในร่างแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาลที่เปิดให้ส.ส.ร.มาจากการแต่งตั้งอีก

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะถอนฟืนออกจากกองไฟนั้น สำคัญคือการออกแบบรัฐธรรมนูญต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีข้อจำกัด ไม่จำกัดความฝันของประชาชนกลุ่มใด

ทั้งที่ความฝันของกลุ่มนิสิต นักศึกษา เป็นสิ่งที่ธรรมดามาก พวกเขาไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าระบอบการเมืองที่คนเท่ากัน และทุกคนเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย เป็นนิติรัฐ ใครก็ตามที่ใช้อำนาจสาธารณะต้องถูกตรวจสอบได้ ต้องการเห็นสังคมที่ไม่มีการรัฐประหารอีก

ทั้งนี้ การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อถอนฟืนออกจากกองไฟนั้นต้องคำนึงถึงเงื่อนไขเวลา มีความจริงใจ ไม่ใช่การยื้อเวลา ให้ระบอบประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อไป ลำพังการแก้ไขมาตรา 256 คงไม่พอที่จะลดอุณหภูมิทางการเมืองได้ ใจกลางของปัญหาความขัดแย้งของการเมืองไทย คือ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนที่มีอำนาจเลือกนายกฯ ระบบการเลือกตั้งที่ไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องกำหนดโดยประชาชนด้วยการเห็นชอบผ่านประชามติ ไม่ใช่เห็นชอบโดยรัฐสภาภายใต้ระบอบประยุทธ์อย่างญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล

นี่เป็นโอกาสที่พวกเราจะสร้างศรัทธาให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่นในตัวพวกเราอีกครั้ง ขอวิงวอนไปยัง ส.ส.ทุกท่าน โดยเฉพาะฟากรัฐบาล และ ส.ว. ถึงเวลาแล้วที่ท่านต้องอยู่ฝั่งเดียวกับประชาชน เพื่อนร่วมชาติ และลูกหลานของท่าน

วิรัช รัตนเศรษฐ
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล)

รายงานหน้า 2 : ‘รัฐสภา-ฝ่ายค้าน’โชว์ธง แก้ รธน.ปลดล็อกการเมือง

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บังคับใช้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่บทบัญญัติหลายมาตราไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและบริบทของสังคมในด้านต่างๆ ทั้งการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กระบวนการมาซึ่งองค์กรต่างๆ ในสถาบันทางการเมือง การตรวจสอบการถ่วงดุลอำนาจขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในการบริหารประเทศ การกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาพปัญหาดังกล่าว อาจนำมาซึ่งความไม่เข้าใจ และความคิดเห็นไม่ตรงกันที่จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคม รวมทั้งอาจจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้นเพื่อให้มีการแก้ไขสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นควรจะมีการศึกษาทบทวนรัฐธรรมนูญให้เกิดความชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแม่แบบให้การดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อให้ประเทศมีเสถียรภาพความมั่นคง ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยบทบัญญัติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญค่อนข้างยุ่งยาก และอาจเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นเพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าว สมควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อเพิ่มหมวดใหม่ หมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความเหมาะสม ไม่ยุ่งยากเหมือนบทบัญญัติในปัจจุบัน และควรมีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เป็นองค์กรในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสและพื้นที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองจากทุกภาคส่วน เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้มีความเหมาะสม สอดคล้องเจตนารมณ์ทางการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงมีเปิดโอกาสให้ประชาชนด้วยการเปิดรับฟังความเห็นและออกเสียงประชามติด้วย

แม้จะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่คิดว่า เป็นฉบับที่ดีที่สุดในขณะนั้น แต่ใช้มาจนถึงปี พ.ศ.2549 ก็เกิดการรัฐประหาร จากนั้นก็มีรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 มาใช้ แต่ใน พ.ศ.2557 ก็มีการรัฐประหารอีก จนมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้น ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ 2560 ต่างก็มีข้อบกพร่อง ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ.2562 หลายพรรคการเมืองชูเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาหาเสียง แต่สำหรับพรรค พปชร.ไม่มีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลผสม ก็ปรากฏเป็นนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ประกอบกับการใช้รัฐธรรมนูญมาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี ได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยมีกลุ่มที่เรียกตนเองว่า ประชาชนปลดแอก หรือกลุ่มไทยภักดีที่กำลังเตรียมการขยายตัวต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้ ไม่ว่าจะแก้ใหญ่หรือแก้ไขน้อย ต้องเกิดปัญหาความขัดแย้ง วันนี้ก็เป็นห่วงเช่นนั้น อยากเห็นบ้านเมืองสงบ ไม่ต้องแบ่งแยกแบ่งเหล่า แบ่งกลุ่มแบ่งก้อน ดังนั้น ในญัตติพรรคร่วมรัฐบาลที่มี ส.ส.206 ได้ร่วมลงชื่อ มีเจตนารมณ์แน่นอนว่า จะไม่แก้หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ทุกคนมีความเห็นตรงกัน ในส่วนนี้มีความเห็นตรงกับญัตติของผู้นำฝ่ายค้านด้วย และเห็นร่วมกันว่า ควรแก้ไขมาตรา 256 แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องอาศัยเสียงวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ร่วมลงมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ ส.ว.โปรดร่วมโหวตลงมติรับหลักการร่างของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็เคารพกับบางท่านที่มีเจตนารมณ์บางอย่าง เราพร้อมน้อมรับ และขอให้ร่วมกันพิจารณาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับมติจาก ส.ว.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image