‘วิชา มหาคุณ’ ถอดบทเรียนคดี สั่งไม่ฟ้อง ‘บอส’ ชี้ เป็นการสมคบคิด ในกระบวนการยุติธรรม

‘วิชา มหาคุณ’ ถอดบทเรียนคดี สั่งไม่ฟ้อง ‘บอส’ ชี้ เป็นการสมคบคิด ในกระบวนการยุติธรรม

เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ ศาลาดนตรีสุริยเทพ ภายในมหาวิทยารังสิต อ.เมือง จ.ปทุมธานี ศูนยช่วยเหลือประชาชนทางกฏหมายและสังคม รวมกับสโมสรนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตจัดเสวนาให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเรื่อง ถอดบทเรียนกระบวนการยุติธรรมกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยมี นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางสาขาต่างๆร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ รองศาสตราจารย์ พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย ม.รังสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานีวรภัทร์ ประธานคณะทำงานด้านการประมวลข้อมูลและการประชาสัมพันธ์ในคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและกฎหมาย ดร.น้ำแท้ มีบุญสสร้าง อัยการจังหวัด พันตำรวจเอกวิรุตม์ สวัสดิบุตรเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นายสมชาย พหุลรัตน์ ประธานสถาบันเครือข่ายไทยสร้างสรรค์(สคทส.) อาจารย์นิดาวรรณ เพราะสุนทร หัวหน้าหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต

นายวิชา กล่าวปาฐกถาพิเศษ ว่า ความเหลื่อมล้ำในความยุติธรรมเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาตลอด ปัญหาเกิดจากผู้คนในกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมมีตั้งแต่ตำรวจอัยการ และ สิ้นสุดลงที่ศาล กระบวนการยุติธรรมมีปัญหาที่คนจริงๆ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมายหลักในกระบวนการยุติธรรมที่จะให้ความยุติธรรมดำเนินไปได้อย่างยุติและเป็นธรรมจริงๆ ต้องอาศัยคนมีจิตใจสูงกว่าปกติ จะนำคนไม่มีมโนสำนึก ไม่มีจิตสำนึกที่ดีงาม ไม่มีความเสียสละ ไม่อุทิศตนเพื่อส่วนรวม ไม่นึกถึงประชาชนที่ทุกข์ยากเข้าไปอยู่ในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้เด็ดขาด เพราะในองค์กรต่างๆจะมีผู้มีอำนาจเข้ามาครอบงำตลอดเวลา องค์กรนี้เป็นองค์กรที่แสวงหาประโยชน์ได้ผลประโยชน์มากมาย บางองค์กรถึงกับต้องซื้อตำแหน่ง มีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำร้ายผู้คนที่เข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่มีหลักการที่ชัดเจน

ในเรื่องของผู้ที่จะรับการคัดเลือกเข้ามาในกระบวนการยุติธรรม ต้องมีคุณสมบัติ 4 อย่าง คือ ต้องมีความรอบรู้ รู้ลึกซึ้ง รู้เท่าทัน, ต้องมีความกล้าหาญ, ต้องมีความเพียงพอ เดินสายกลางต้องอาศัยศีลธรรม และ ต้องมีความยุติธรรม จึงจะสามารถจัดการกระบวนการยุติธรรมได้ มิฉะนั้นจะถูกลากไปกับผู้มีอำนาจ คือ ผู้มีอำนาจสั่งบังคับ ขู่เข็ญให้ทำอะไรได้ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับ “คดีบอส” เป็นกระบวนการยุติธรรมที่สมรู้คบคิดระหว่างตำรวจ อัยการ ทนายความ และบุคคลอื่นๆที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ถูกลากจูงไปสู่เหวนรก เพราะไม่ละอาย หรือเกรงกลัวต่อบาป

Advertisement

มีคำกล่าวขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติอยู่ 4 อย่างที่ระวังอย่างที่สุดเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตหรือความไม่โปร่งใส หรือการประพฤติมิชอบต่างๆ คือ 1. การทุจริตหวาดกลัวต่อการเผชิญหน้ากับความจริง ทำผิดไปแล้วพยายามดำเนินการให้หลุดจากความผิด โดยไม่ยอมสารภาพผิด พยายามดื้อรั้น ไม่ยอมเผชิญหน้ากับความจริงที่เกิดขึ้น เมื่อทำผิดแล้วต้องไปสู่กระบวนการสอบสวน กระบวนการค้นหาความจริงของตำรวจ อัยการ และท่านผู้พิพากษาตัดสินตามความยุติธรรม จะเห็นได้ว่า “บอส”ไม่ยอมเผชิญหน้ากับความจริง พยายามหนี พยายามถ่วงเวลาไม่ยอมทั้งนั้น ไม่ว่าจะด้วยประการใดๆก็ตาม ไม่ยอมขึ้นศาลเป็นอันขาด คือ ฉันจะไม่ต้องขึ้นศาล ให้จบตรงที่พนักงานอัยการให้ได้

2.การทุจริต เพราะคิดว่าความยุติธรรมซื้อได้ เมื่อใดที่คนคิดว่าสามารถซื้อความยุติธรรมได้ เมื่อนั้นการทุจริตต้องแพร่หลายไปเรื่อยๆเกิดขึ้นทั่วประเทศ ทุกตารางนิ้วของแผ่นดินเพราะคนเราคิดว่ามีเงินแล้วจะซื้อได้ทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่เฉพาะประเทศไทย มีบทเรียนจากสหรัฐอเมริกาในอดีต และ 3. การทุจริตเกิดจากจุดที่อ่อนแอที่สุดของประเทศ ซึ่งขณะนี้ก็คือ กระบวนการยุติธรรม คือ องค์กรตำรวจ เป็นจุดอ่อนที่สุดของกระบวนการยุติธรรม เพราะตั้งแต่เข้ามาทำงานไม่ได้เข้ามาจากความรู้ความสามารถ แต่เข้ามาด้วยระบบเส้นสาย การอุปถัมภ์การดำรงตำแหน่งต่างๆการเลื่อนยศถูกครอบงำโดยผู้บังคับบัญชาทั้งสิ้น กระบวนการเหล่านี้ทางฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการคดีพยายามช่วยผลักดันให้องค์กรตำรวจเป็นองค์กรที่ดีเข้มแข็ง แต่คนที่อยู่ในองค์กรหรือคนที่ออกจากองค์กรไปแล้วไปอยู่องค์กรอื่นมองว่าจุดอ่อนเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้ปกป้องเขาได้เวลาเกดเรื่อง จึงเกิดมีความเกรงใจกัน ความเกรงใจเป็นคุณสมบัติของคนดีก็จริง แต่เมื่อใช้กับคนชั่วมันจะทำลายทำให้เกิดความเสื่อมถึงที่สุด

ที่ถูกโจมตีมากที่สุด คือ คดีบอส ตั้งแต่ต้นมา การดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานแบบอ่อน ให้สามารถแก้ไขได้ การตรวจสอบพยานหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์อ่อนแอไม่เข้มแข็งเพียงพอเพราะกระบวนการในสมัยใหม่กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ หรือการตรวจสอบพยานหลักฐานด้วยหลักวิทยาศาสตร์เป็นจุดแข็งที่สุดของกระบวนการยุติธรรม แต่ถูกทำให้อ่อนแอที่สุด เพราะใช้หลักซื้อได้ การกระทำอย่างนี้ถือว่าไม่ยุติธรรม เพราะวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ได้ กระบวนการในการพิสูจน์จึงเป็นกระบวนการที่อ่อนแอที่สุดในขณะนี้และเป็นจุดที่ต้องแก้ไขที่สุดเพราะพยานหลักฐานในปัจจุบัน ถ้าเป็นพยานบุคคลถูกซื้อได้ แต่วิทยาศาสตร์ซื้อไม่ได้

Advertisement

กระบวนการที่เราตรวจสอบพบคดีบอส คือ กรณีวันไหนกันแน่ที่มีการนำกระบวนการแก้ไขพยานหลักฐาน เพื่อให้เห็นมันเป็นสิ่งที่สมควรนำมาประกอบการพิจารณาของอัยการ เพื่อสั่งไม่ฟ้อง จากที่สั่งฟ้องกลายเป็นสั่งไม่ฟ้อง วันที่มีการบันทึกใน iPhone อะไรก็ตามที่เข้าไปใน iPhone หรือ มือถือ มันผันแปร ถูกทำลายหรือแก้ไขไม่ได้เลยตลอดชีวิตนี้ มันจะเข้าไปอยู่ในต้นตอของ iCloud ในระบบฐานข้อมูลไม่มีทางเปลี่ยนได้ ฉะนั้นวันที่กำหนด คือ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่ฉันเสียใจเพราะใช้พยานบุคคล แต่ใน iPhone บอกว่ามันคือวันที่ 29 กุมภาพันธ์ นี่คือบทเรียนสำคัญมาก โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ 2 แห่งที่น่าเชื่อถือ คือ ของกระทรวงยุติธรรม กับอีกสถาบันหนึ่ง สถาบันสารสนเทศทางด้านของรัฐบาล ตรวจสอบยืนยันว่าหลักฐานวันที่ 29 เป็นหลักฐานที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญเป็นบทเรียนอันหนึ่ง คือ ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือ ความอยุติธรรมหรือความไม่ยุติธรรม ถ้าคุณให้ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือ คุณปฏิเสธความยุติธรรม หรือคุณให้ความอยุติธรรมเกิดขึ้น ฉะนั้นคดีบอสที่เกิดขึ้นแล้วเดินทางไปเกือบ 8 ปีจากที่รถชนกันคนตาย(ดาบตำรวจวิเชียร) คดีเดินมาเรื่อยๆ ไม่เอาตัวมาฟ้องสักที ปล่อยให้ยืดไปเรื่อยๆที่ตำรวจ 6 เดือน หลังจากนั้นมีการร้องขอความเป็นธรรม 14 ครั้ง แต่ละครั้งต้องใช้เวลาประมาณปี บางที 3 เดือน 6 เดือนรวมทั้งหมด 8 ปี ช่วงระยะเวลาที่ความยุติธรรมเดินอย่างล่าช้า สิ่งนั้นการแทรกแซงของอำนาจภายนอกมันก็เกิดขึ้น ปัจจัยที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ฉะนั้นถ้าคดีเดินช้าแบบนี้ สันนิษฐานเลยว่า มันเป็นความอยุติธรรม เป็นความไม่ยุติธรรม และ มีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างแน่นอน สามารถจะซื้อได้ ซื้อไปเรื่อยๆแล้วเลื่อนไปเรื่อยๆจนกระทั่งสมประโยชน์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image