ตลกร้าย(250 )ส.ว. คว่ำแก้รธน.?-สุมไฟคว่ำรัฐบาล

ตลกร้าย(250 )ส.ว.
คว่ำแก้รธน.?- สุมไฟคว่ำรัฐบาล

     ที่ประชุมรัฐสภา ได้ฤกษ์โหวต ลงมติ จะรับหลักการ ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ ค่ำวันพฤหัสบดีนี้ กว่าจะรู้ผลคงตกดึกๆ

      ทั้งนี้ มี 6 ญัตติด้วยกัน ที่สมาชิกรัฐสภา ต้องออกเสียงลงมติ
ประกอบด้วย  1.ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย เสนอแก้ ม.256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. แก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง และจะไม่แก้ไข หมวด 1 – หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน

2.ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอแก้ไข ม.256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร.200 คนเท่ากัน แต่สัดส่วนมาจากการเลือกตั้ง 150 คน แต่งตั้ง 50 คน โดยไม่แก้ไข หมวด 1- หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดการแก้ไขภายใน 240 วัน

3.ญัตติที่พรรคเพื่อไทยเสนอเพิ่ม 4 ญัตติ คือ ญัตติ 1 แก้ไข ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ และแก้ไข ม.159 ปิดทางเลือกนายกฯ คนนอก ,ญัตติ 2 แก้ไข ม.270 และ ม.271 ตัดอำนาจ ส.ว.ติดตามการปฏิรูป ,ญัตติ 3 แก้ไข ม.279 ยกเลิกคำสั่ง-ประกาศ คสช. และญัตติ 4 แก้ไขระบบเลือกตั้งโดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540

สำหรับเกณฑ์การตัดสินนั้น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 256(3) บัญญัติไว้ว่า การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

Advertisement

ปัจจุบัน มีสมาชิกรัฐสภา 738 คน  นั่นแปลว่า เสียงโหวตรับหลักการ แค่กึ่งหนึ่ง คือ369 ไม่พอ
ในจำนวน 369 เสียงนี้ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. 1 ใน 3 หรือมีส.ว.โหวตรับหลักการด้วย 84 คน
แต่ถ้าส.ว.โหวตรับหลักการ ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญร่างใดร่างหนึ่งไม่ถึง 84 คน
ญัตติแก้ไขฉบับนั้น ตกทันที

เงื่อนไขแก้ยากนี่เอง ทำให้ ฝ่ายการเมือง นักวิชาการ และนิสิต นักศึกษา ที่เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย ต้องแก้ไข  แต่ในที่สุดแล้ว จะแก้ไขไม่ได้

เนื่องจาก ส.ว. 250 คน อาจไม่ยอม  เพราะตกเป็นเป้าหมาย ถูกรื้อทิ้ง ทบทวนที่มา และริบอำนาจ
จับสัญญาณจากการอภิปราย ของส.ว. ที่ไม่เห็นด้วย คัดค้านการแก้ไขม. 256

Advertisement

เรื่องที่หลายฝ่ายหวั่นวิตก ส.ว.อาจโหวตตีตก แต่ตั้งในชั้นรับหลักการ ดูมีเปอร์เซ็นสูง
แต่การที่ ส.ว.ส่วนใหญ่ ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจน

ทำให้เปอร์เซ็นที่จะผ่าน ก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อยเช่นกัน เพราะต้องการแค่ 84 เสียงเท่านั้น
ในจำนวน 6 ญัตตินี้ จากการประเมิน-หยั่งเสียงกลุ่ม ส.ว.

ญัตติที่เสนอโดยฝ่ายค้านนั้น อยู่ในข่ายถูกเททิ้ง ตีตกทั้งหมด

ด้วยเหตุผลที่ว่า ส.ว.ที่เป็นนั่งร้านให้กับรัฐบาล มีที่มาจากการแต่งตั้งโดยกลไก คสช. ที่ยืนอยู่ตรงกันข้าม กับพรรคการเมืองกลุ่มอำนาจเก่า ที่เป็นฝ่ายค้านอยู่ในปัจจุบัน

มีหรือ จะโหวตสนับสนุน อุ้มชูญัตติ แก้รัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน
รับหลักการแก้ไข ตามที่ฝ่ายค้านยื่น

และแม้ว่า ส.ว.นั้น สนับสนุนให้แก้ไขเป็นรายมาตรา แต่ฝ่ายค้านเป็นผู้ยื่นแก้ รายมาตรา
เมื่อเลือดคนละสี

ส.ว.ไม่มีทางสนับสนุนร่างฝ่ายค้าน  ญัตติแก้ไขรายมาตรา บางญัตติ ยังกระทบส.ว. โดยตรง อย่างแก้ ม.272 ตัดอำนาจส.ว.โหวตเลือกนายกฯ บางข้อยกเลิกคำสั่ง-ประกาศ คสช.

ครั้นจะเลือก โหวตเห็นชอบมาตราเบาๆ อย่างแก้บัตรเลือกตั้ง จากใบเดียว เป็น 2 ใบ
ก็จะกลายเป็นตลกร้าย  เลือกแก้เฉพาะกระพี้ แก่นแกนปัญหากลับรักษา ดำรงคงไว้
จึงเป็นไปไม่ได้

ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด และเชื่อว่า ถึงส.ว.จะอภิปรายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.256
ทว่าในที่สุดแล้ว ส.ว.จะเลือกยกมือ โหวตสนับสนุนร่างของรัฐบาล

เนื่องจาก ไม่มีประโยชน์อะไรในตอนนี้ ที่จะคว่ำทุกร่าง รวมถึงฉบับพรรคร่วมรัฐบาล
แต่การรับหลักการต่างหาก  ที่เป็นการช่วยเหลือ อุ้มชูรัฐบาล

เท่ากับถอดชนวน ปัญหารุมเร้าถาโถมรัฐบาลออก ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ และปัญหาการเมืองจากการชุมนุม ของนิสิต นักศึกษา ให้ไม่ต้องรับศึกหนักหลายด้าน  เท่ากับลดแรงกดดัน ตัดทิ้งเงื่อนไข การลุกฮือทวงคำตอบ ทั้งหมดทั้งมวลไว้ได้ชั่วคราว แบบยาวๆ ต่อวีซ่า อายุขัยรัฐบาลอย่างน้อยๆ 240 วัน
8เดือนขั้นต่ำ

หากนับกระบวนการ ทำประชามติ และอะไรต่อมิอะไร ว่ากันว่า อาจยาว ชนเทอม 4 ปีของรัฐบาลเลยทีเดียว
การรับหลักการวาระแรก จึงเป็นคุณมหันต์ต่อรัฐบาล ต่อส.ว. รับแล้ว อาจเปลี่ยนใจ ในบั้นปลาย วาระ3 ในภายหลัง ก็เป็นสิทธิ์ ที่จะทำได้

รับแล้ว ทำให้รัฐบาลถือไพ่ เหนือกว่า จะเลือกหงาย ทิ้งเล่นหน้าไหนก็ได้ วันข้างหน้ายุบสภา ยุบทิ้งการแก้ไขทุกสิ่งอย่าง คงกติกาเก่าก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
“บิ๊กตู่” บริหารงานเมืองง่ายกว่าเยอะ

ประการสำคัญก็คือ เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มิได้มีแรงกดดัน เสียงเรียกร้องจากม็อบปลดแอก เครือข่ายธรรมศาสตร์ และการชุมนุม นิสิต นักศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่มันเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ที่ได้แถลง ให้คำมั่นสัญญาไว้กับรัฐสภา
รัฐบาลต้องรับผิดชอบนโยบาย

จะอ้างว่า ได้กระตือรือร้น พยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่ ส.ว.ไม่เห็นด้วย
อย่างนั้นก็สามารถพูดได้

แต่ใครจะเชื่อ ว่าบิ๊กๆประสาน สั่งการ พูดคุยกับส.ว.ไม่รู้เรื่อง  ใครๆเขาไม่อินโนเซนต์การเมือง อ่อนหัดอย่างนั้นหรอก  ฉะนั้น ด้วยเหตุ ประการต่างๆที่ยกมา

สุดท้าย เชื่อได้ว่า ถึงไม่เต็มใจจะให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ส.ว.ก็คงจำใจต้องยกมือ รับหลักการ โหวตสนับสนุน ญัตติแก้ไขม.256 ของพรรคร่วมรัฐบาล
ทั้งนี้เนื่องจากหากโหวตคว่ำหมด

ผู้ที่ตกที่นั่งลำบาก ไม่ใช่ส.ว. อย่างแน่นอน แต่เป็น รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศจุดยืนชัดเจน

สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแข็งขัน
คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างจากคว่ำรัฐบาล ส.ว.จะกล้าหรือ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image