“คำนูณ” เปิดใจงดออกเสียง เหตุอยากให้โหวต ชี้ตั้งกมธ.ที่ไม่มีฝ่ายค้าน ปัญหาไม่ถูกแก้

“คำนูณ” โพสต์ เข้าใจการตัดสินใจฝ่ายค้าน รับ สงสัย กมธ.ที่ตั้งขึ้นจะลงมติแก้ปัญหาอะไรได้ หลังฝ่ายค้านไม่ร่วม

เมื่อวันที่ 25 กันยายน นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา แสดงความเห็นกรณี รัฐสภามีมติตั้งกมธ.ศึกษาก่อนลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายค้านประกาศไม่เข้าร่วมเพราะมองเป็นการยื้อเวลา จุดยืนเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 23 กันยายน 2563 ขอบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ผมเริ่มต้นการอภิปรายด้วยประโยคว่า

“ถ้า…พรุ่งนี้ได้มีการลงมติ…ผมจะลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ให้มีการตั้งส.ส.ร. และการตัดมาตรา 272 อำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของส.ว.ออก ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้….”

ผมจงใจใช้น้ำเสียงเน้นคำว่า “ถ้า…” เป็นพิเศษ และตลอดการอภิปรายประมาณ 20 นาทีเศษผมพูดถึง “ถ้า…” ในบริบทนี้รวม 4 ครั้ง

ก็เพราะรู้อยู่เลา ๆ ว่าอาจจะไม่มีการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 6 ฉบับในวันรุ่งขึ้น เพราะอาจจะมีผู้เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาก่อนรับหลักการตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 121 วรรคสาม โดยให้เวลาทำงาน 1 เดือนในช่วงปิดสมัยประชุมรัฐสภา แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ในที่สุด

Advertisement

ณ บัดนี้ เวทีรัฐสภาไม่อาจเป็นที่หารือแก้ปัญหาบ้านเมืองในเรื่องรัฐธรรมนูญได้แล้ว อย่างน้อยก็ตลอดเดือนตุลาคม 2563

คณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมาตามข้อ 121 วรรคสามแทนที่จะมีการลงมติจะแก้ปัญหาอะไรได้ในเมื่อพรรคฝ่ายค้านบอยคอตไม่เข้าร่วมสังฆกรรม ??

และในกรณีนี้ผมเข้าใจการตัดสินใจของพรรคฝ่ายค้านครับ!

นายคำนูญ ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับมติชนออนไลน์ ว่า ที่บอกว่าเข้าใจฝ่ายค้าน เพราะการเสนอญัตติ หลักการทำนองเดียวกันในสมัยประชุมเดียวกันไม่ได้ หมายความว่าถ้าโหวตเรื่องตั้ง ส.ส.ร. ตกไปเมื่อคืน สมัยประชุมต่อไป ก็ยังมีญัตติของไอลอว์ ที่บรรจุอยู่ ซึ่งเป็นหลักการตั้งส.ส.ร.เหมือนกัน หรือฝ่ายค้านก็สามารถเสนอญัตติมาอีกได้ในสมัยประชุมหน้า คือ 1 พ.ย. แต่ถ้าตั้งกมธ.ก่อนรับหลักการ แล้วไปโหวตในสมัยประชุมหน้า มันจะไปเจอกับญัตติของไอลอว์ ก็จะมีความกังวล ทั้งนี้กรณีการตั้งกมธ.ศึกษาก่อนลงมตินั้น ตามองค์ประกอบควรต้องมี ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว. มันก็น่าจะร่วมกันหาข้อตกลงได้ แต่ตั้งแต่ก่อนลงมติ ก็พอจะรู้แล้วว่าฝ่ายค้านคงไม่เห็นด้วย พอไม่เห็นด้วยก็ไม่ส่งคนเข้ามาเป็นกมธ. เหลือแต่ฝ่ายรัฐบาล ส.ว.เท่านั้น

ส่วนที่สังคมมองว่าการเมืองในเดือนหน้าจะยิ่งร้อนแรงขึ้นนั้น นายคำนูณระบุว่าก็เป็นธรรมดา เพราะปัญหาการเมืองมันไม่ได้ถูกแก้ ยังไม่มีคำตอบ มันถูกยืดเวลาออกไปหนึ่งเดือน มันจะไปเพิ่มน้ำหนักให้การเมืองนอกสภามากขึ้น อย่างน้อยเป็นเวลาหนึ่งเดือน

ส่วนสาเหตุที่ตนเองงดออกเสียงนั้น “ผมไม่สู้เห็นด้วย ผมอยากให้โหวต ร่างทั้งหมดไปเลย พอดีคาดหมายได้อยู่ว่า กมธ.ที่ตั้งขึ้นจะไม่มีฝ่ายค้านอยู่ในกมธ.ด้วย ทำให้วัตุประสงค์ในการตั้งกมธ. มันไม่เต็มที่ตามข้อบังคับ เมื่อเป็นแบบนี้เลยของดออกเสียง เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่ ส.ส.สองฝ่ายเขาต้องตกลงกัน ผลจะออกมาเป็นยังไงก็สุดแท้แต่เขา

เมื่อถามว่าผิดหวังหรือไม่ จากจุดยืนที่เคยประกาศหนุนตั้งส.ส.ร. นายคำนูณ ระบุว่า ไม่เป็นไร ผมก็ทำหน้าที่ต่อ ก็คือได้ชี้แจงแสดงเหตุผลไป ผมเข้าใจทั้งเรื่องตั้ง ส.ส.ร. และเข้าใจ เพื่อน ส.ว.ว่าเขาเป็นห่วงอะไรกัน ผมแค่มองว่ามันไม่ได้จบที่รัฐสภา เพราะต่อให้เราโหวตผ่านวาระ 1 และวาระสาม มันก็ไม่ได้แปลว่าตั้งได้มันต้องทำประชามติ การทำประชามติมันเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งหมด ทั้งคนที่ออกมาเคลื่อนไหว ผลักดัน ตั้ง ส.ส.ร. ทั้งคนต้านไม่ให้ตั้ง ผลออกมาอย่างไรก็ทำตามนั้น มันไม่ได้แปลว่าเราโหวตผ่านสามวาระ แล้วตั้ง ส.ส.ร.เลย เราไปอนุมานได้ยังไง ว่าประชาชนจะเห็นชอบด้วย เขาอาจจะไม่เห็นชอบด้วยก็ได้

“ที่มี่คำถามว่า ถาม 16.8 ล้านเสียงหรือยัง จะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ผมก็บอกว่ายังไงมันก็ถามแน่ ประชามติมันจะถามประชาชนทุกคน ไม่ใช่แค่ 16.8 ล้านคน ถ้าท่านยังเห็นชอบไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ 60 ก็สามารถใช้สิทธิหนุนได้เหมือนเดิม ผมเห็นอย่างนั้น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image