“องอาจ” ห่วง สร้างตรรกะเทียม อยากให้ คสช.หมดอำนาจ ต้องรับร่าง รธน. แต่หากอยากให้อยู่นาน ต้องไม่รับ วอนใช้ดุลพินิจพิจารณาเนื้อหา ยกเหตุผล โต้ข้ออ้างให้ ส.ว.เลือกนายกฯ
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 4 สิงหาคม ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคปชป. แถลงว่า การพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญควรดูจากเนื้อหาสาระแต่ขณะนี้มีการสร้างตรรกะเทียมโน้มน้าวประชาชนว่าถ้าอยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หมดอำนาจ และควรไปเลือกตั้งเร็วๆ ด้วยการไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันมีการสร้างตรรกะเทียมว่าถ้าอยากให้ คสช.อยู่นานๆ ก็ให้ลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าต้องดูที่เนื้อหาก่อนจะตัดสินใจจึงจะเป็นการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้อง ส่วนความเป็นห่วงเรื่องความวุ่นวายในวันออกเสียงประชามติซึ่งมีหลายประเทศออกแถลงการณ์เตือนพลเมืองของตนเองนั้นเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะมีความวุ่นวาย เพียงแต่เสียดายว่าการถกแถลงในเรื่องรัฐธรรมนูญก่อนวันออกเสียงประชามติเป็นเรื่องที่ฝ่ายเห็นต่างมีโอกาสแสดงความเห็นน้อยกว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ที่พูดแต่ข้อดี ทำให้ประชาชนไม่ได้ข้อมูลอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ประชาชนไปออกเสียงประชามติเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองโดยพิจารณาจากเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก
นายองอาจ กล่าวต่อว่า ยังมีคำถามพ่วงที่ให้ ส.ว.มีส่วนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นเพียงเหตุผลลวง ความจริงเป็นความพยายามที่จะให้ส.ว.มีส่วนในวังวนของดุลอำนาจทางการเมือง ทำให้ถูกมองว่าส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคสช.เป็นเรื่องการสืบทอดอำนาจใช่หรือไม่ เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว ครม.ที่มาหลังการเลือกตั้งไม่ได้เป็นผู้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ คนที่จะต้องทำคือครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. เพราะในมาตรา 275 กำหนดให้ครม.ปัจจุบันจัดทำกฎหมายแผนยุทธศาสตร์ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับจากร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ อีกทั้งหน้าที่ ส.ว.ที่แท้จริงควรทำเพียงแค่ตรวจสอบ ครม.ชุดใหม่ว่าได้ทำการปฏิรูปตามที่ร่างรัฐธรรมนูญหมวด 16 กำหนดไว้หรือไม่ ไม่ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯเพราะการเลือกนายกฯควรเป็นส.ส.ที่มาจากประชาชนโดยตรง และการให้ส.ว.เข้ามาเลือกนายกจะทำให้เข้ามาสู่ในวังวนความขัดแย้งทางการเมือง ขัดกับร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าส.ว.ต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง
ส่วนกรณีที่มีกลุ่มการเมืองออกมาระบุว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จึงต้องรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายองอาจ กล่าวว่า ไม่ควรพิจารณาจากความชอบหรือไม่ชอบใครเป็นการส่วนตัว หรือคิดว่าคนที่ไม่ชอบ ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญเลยต้องพิจารณาตรงกันข้าม