นักวิชาการส่อง‘พท.’ล้างไพ่ เหตุปัจจัย‘ใน-นอก’ ปรับใหม่ไปต่อหรือรอดีลพิเศษ

นักวิชาการส่อง‘พท.’ร้าว เหตุปัจจัยทั้ง‘ใน-นอก’ ปรับใหม่ไปต่อหรือรอดีลพิเศษ

นักวิชาการส่อง‘พท.’ล้างไพ่
เหตุปัจจัย‘ใน-นอก’
ปรับใหม่ไปต่อหรือรอดีลพิเศษ

หมายเหตุนักวิชาการให้ความเห็นกรณีแกนนำและผู้บริหารพรรคเพื่อไทย (พท.) ลาออก ทั้งนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค พท. ทำให้กรรมการบริหารพรรค พท.ต้องพ้นตำแหน่งไปด้วย และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลาออกจากประธานยุทธศาสตร์พรรค พท. รวมถึงแกนนำพรรคคนอื่นๆ และข้อเสนอการปรับแนวทางการดำเนินงานของพรรค พท.

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นักวิชาการส่อง‘พท.’ร้าว เหตุปัจจัยทั้ง‘ใน-นอก’ ปรับใหม่ไปต่อหรือรอดีลพิเศษ

Advertisement

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทยมาจากโครงสร้างทางการเมืองโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้พรรคไม่ได้ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ จากการเลือกตั้งในระบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้การทำงานในเชิงยุทธศาสตร์เดินหน้าไปได้ยาก โดยเฉพาะการเมืองที่เรียกว่าภาวะรีโมตคอนโทรล เนื่องจากในพรรคมีการตั้งทีมยุทธศาสตร์ขึ้นมา เพื่อกำหนดทิศทางของพรรค ขณะเดียวกันต้องไปเชื่อมโยงกับการเมืองในสภา ซึ่งพรรคมีเพียง ส.ส.แบบแบ่งเขตทั้งหมด ดังนั้น การทำงานในโครงสร้างทางการเมืองแบบนี้ ทำให้เอกภาพในการทำงานหรือการตัดสินใจสอดรับกับสถานการณ์เป็นสิ่งที่เกิดได้ยาก

นอกจากนี้ ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมได้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคระหว่าง ส.ส.แบบแบ่งเขต กับกลุ่มบุคคลระดับแกนนำพรรค อาจมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน เพราะว่า ส.ส.ที่มาจากเขตมีที่นั่งในสภา ขณะที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีสัดส่วนมากเกินกว่าระบบเลือกตั้งกำหนด จึงทำให้พรรคไม่มี ส.ส.ในส่วนนี้

ขณะที่พรรคถือเป็นองค์กรการเมืองขนาดใหญ่ การมีกลุ่มการเมืองต่างๆ เป็นเรื่องปกติและแต่ละกลุ่มมีอุดมการณ์ มีวิธีปฏิบัติที่ต่างกันไป เพราะฉะนั้นพรรคจึงต้องอาศัยผู้ที่มีบทบาท มีภาวะผู้นำที่สูงมาก ที่จะเกาะเกี่ยวยึดโยงแต่ละกลุ่มเอาไว้ได้

Advertisement

ในอดีตสมัยเป็นพรรคไทยรักไทย คุณทักษิณ ชินวัตร มีภาวะผู้นำสามารถจะยึดโยงแต่ละกลุ่มไว้ด้วยกัน มาถึงยุคพรรคพลังประชาชน แม้คุณทักษิณจะไม่อยู่ในพรรคแล้ว แต่คุณทักษิณก็ยังมีบทบาท มาถึงสมัยยุคพรรคเพื่อไทยก็มีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่หลังจากมีการเลือกตั้งปี 2562 จะเห็นได้ว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีความชัดเจนเรื่องของผู้นำ การยึดโยงกับกลุ่มต่างๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

สำหรับปัญหาจากปัจจัยภายนอก คงไม่มีอะไรมากนัก แม้ว่าจะมีการพูดคุยเรื่องดีลพิเศษ แต่ยังไม่มีใครให้คำตอบได้

สิ่งที่พรรคต้องดำเนินการหลังจากนี้ ควรจะต้องจัดโครงสร้างองค์กร ที่จะนำไปสู่ความเป็นพรรคที่มีฐานมาจากมวลชน นำไปสู่การสร้างสถาบันทางการเมือง ที่มีความเข้มแข็งได้ และทำงานการเมืองในมิติใหม่ ไม่ใช่การเอาชนะในสนามเลือกตั้ง จากการใช้การตลาดทางการเมือง แต่การทำงานการเมืองที่สำเร็จต้องเกิดจากการสร้างฐานจากมวลชน รากฐานทางอุดมการณ์ของพรรค

เพราะฉะนั้นพรรคต้องปรับยุทธศาสตร์และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ต้องตอบสนองต่อโจทย์ใหญ่เหล่านี้ด้วย เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ เปิดพื้นที่ให้กับ ส.ส. นำเสนอวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจให้กับสังคมได้ รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรค หรือประชาชนทั่วไปเพื่อขยายฐานของพรรคให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อเท่าทันกับโลกยุคการเมืองผันผวน

ดังนั้น พรรคจึงต้องออกแบบองค์กรเพื่อตัดสินใจหรือจัดกลไกใหม่ๆ เช่น การนำตัวแบบของพรรคแอลดีพี ในประเทศญี่ปุ่น ที่รวมกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าด้วยกันคล้ายพรรคเพื่อไทย มีการจัดตั้งองค์กร นโยบายพรรค เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจกำหนดทิศทางพรรค กำหนดทิศทางอุดมการณ์ นโยบายด้านต่างๆ ที่นำเสนอสู่สาธารณะ

องค์กรแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็จะมีบุคลากรจากพรรค หรือประชาชนทั่วไปได้รับเชิญเข้าร่วม เพื่อทำให้เกิดการทำงานที่เป็นระบบ ทำให้พรรคมีคุณภาพมากกว่าการยึดโยงอยู่กับตัวบุคคลเหมือนในอดีต

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

นักวิชาการส่อง‘พท.’ร้าว เหตุปัจจัยทั้ง‘ใน-นอก’ ปรับใหม่ไปต่อหรือรอดีลพิเศษ

ปัญหารอยร้าวของพรรคเพื่อไทยเกิดจากปัจจัยภายในมากกว่า เพราะหลังจากมีการตั้งกรรมการบริหารชุดนี้เข้าไปทำงาน ที่ผ่านมาพบว่าประสิทธิภาพการทำงานในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ตกเป็นรอง มีความอ่อนด้อยกว่าการทำงานของพรรคก้าวไกล

ส่วนการทำงานในฐานะพรรคการเมืองใหญ่ ในขณะที่รัฐบาลมีปัญหารุมเร้าหลายด้าน ประเมินว่าการทำงานของแกนนำพรรคเพื่อไทยเพื่อเชื่อมต่อกับมวลชนในกลุ่มที่จะออกมาเคลื่อนไหวก็น่าจะมีปัญหา ซึ่งไม่ทราบว่าเจ้าของพรรคตัวจริง จะเห็นด้วยกับการที่คนของพรรคจะไปเชื่อมโยงมวลชนบางกลุ่มที่มีข้อเรียกร้องการปฏิรูปบางเรื่องที่มีลักษณะล่อแหลม เป็นเรื่องที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่

ส่วนการตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ต้องดูว่าปรับตัวบุคคลหรือปรับทั้งโครงสร้างและนโยบาย ไม่มั่นใจว่าผู้นำทางการเมืองแบบเก่าๆ จะตอบโจทย์การทำงานการเมืองได้ดีกว่าเดิมหรือไม่

ในฐานะคนนอกจะมองที่บทบาทพรรคเพื่อไทย ไม่ได้มองว่าจะมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันภายในหรือไม่ ท่อน้ำเลี้ยงพรรคจะมีปัญหา แต่จะมองว่าพรรคจะทำงานให้ชนะใจมวลชนได้หรือไม่ ในเมื่อปัจจุบันมีนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านบางพรรคที่มีแนวทางหวือหวาและเร้าใจมากกว่า

ขณะที่พรรคเพื่อไทยยังไม่เคยเห็นมีผู้นำในลักษณะที่เรียกว่า นิว โมเดิร์น ขณะที่สังคมอยู่ในยุคนิว นอร์มอล แต่ผู้นำพรรคเพื่อไทยยังมีบุคคลที่เป็นขวัญใจคนรุ่นเก่า และหลายฝ่ายมองว่าพรรคอาจถอยห่างไปจากกลุ่ม นปช.หรือคนเสื้อแดงจริงหรือไม่ เพราะบทบาทแต่เดิมไม่แน่ใจว่าคนเสื้อแดงนำพรรค หรือพรรคเพื่อไทยนำคนเสื้อแดง แต่พักหลังเชื่อว่าพรรคคงหวังชัยชนะในสภา แต่เสื้อแดง ระยะหลังจะบีบอำนาจนอกระบบ จึงไม่เชื่อมโยงกันเท่าที่ควร

กรรมการบริหารชุดใหม่ควรเป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความหวังที่จะมีโอกาสทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ และมีวิสัยทัศน์ก้าวหน้า แต่เชื่อว่าคงเปลี่ยนอะไรไม่มาก นักการเมืองรุ่นเก่าน่าจะมีอำนาจในพรรคเหมือนเดิม

ส่วนกระแสข่าวล่าสุดมีการประเมินว่าพรรคได้รับการทอดไมตรี จะมีการพลิกขั้วไปร่วมรัฐบาลยอมรับว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะการเดินเส้นทางเก่าเป็นทางตัน หากยังเล่นบทบาทฝ่ายค้านก็เจอพรรคก้าวไกลออฟไซด์ตลอด ที่เสนอแนวคิดที่แหลมคมกว่า ประชาชนเชื่อมั่นมากกว่า ดังนั้น การไปกับพวกที่ชนะจะเหมาะสมกว่า แต่เชื่อว่าปลายทางคงไปไม่ถึงรัฐบาลแห่งชาติ

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

นักวิชาการส่อง‘พท.’ร้าว เหตุปัจจัยทั้ง‘ใน-นอก’ ปรับใหม่ไปต่อหรือรอดีลพิเศษ

สิ่งที่สังเกตได้คือสัญญาณของแกนนำในฐานะกลุ่มยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เป็นการลาออกที่ผิดปกติของการลาออกทางการเมือง กล่าวคือ มีการทยอยลาออกในยามวิกาล ขณะที่พรรคจัดสัมมนาใหญ่ในการพบประชาชน แสดงว่าต้องมีแรงกดดันมากพอสมควร นำไปสู่ข้อสังเกตที่ 2 ว่าแรงกดดันนี้เป็นแรงกดดันจากประชาชน หรือแรงกดดันจากผู้ที่ทรงอิทธิพลภายในพรรคหรือนอกพรรคที่ส่งสัญญาณ

สำหรับสัญญาณที่ออกมาจากพรรคเพื่อไทยบอกว่าจะมีการผ่าตัดใหญ่ นำไปสู่สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกต ดังนี้

1.ผ่าตัดแล้วอาจทำให้ท่าทีของพรรคเพื่อไทยกับสถานะของพรรคฝ่ายค้านอาจจะอ่อนลงกว่าเดิม คือ การเรียกร้องจุดยืนประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญคงเหมือนเดิม แต่อาจไม่ได้อยู่ภายใต้การชี้นำของพรรคก้าวไกล ส่วนท่าทีในการชุมนุม คิดว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยโดนกดดันมาก โดยเฉพาะมวลชนเสื้อแดง

แน่นอนว่าการชุมนุมที่ผ่านมา เข้าใจว่าแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมพยายามสื่อสารกับสังคมว่า เสื้อแดงเป็นกลุ่มอิสระที่เข้าร่วม แต่ฝ่ายความมั่นคงอาจไม่มองอย่างนั้น คงมองว่าเสื้อแดงอย่างไรก็มาจากพรรคเพื่อไทย สิ่งสำคัญที่คิดว่าพรรคเพื่อไทยประเมินพลาดคือคิดว่านักศึกษาคงไม่เกินเลยไปจาก 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน คิดว่าเป็นเหตุที่พรรคเพื่อไทยตกเป็นเป้านิ่งจึงต้องปรับเงื่อนไขหลายๆ อย่าง แม้ยังอยู่ในพรรคฝ่ายค้าน แต่ท่าทีเบาลง ผ่อนปรนลง ขณะที่ยังคงยืนอยู่ในวาทกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พูดง่ายๆ ว่าเว้นระยะห่างจากการชุมนุมของคนหนุ่มสาว เว้นระยะห่างจากพรรคก้าวไกล ที่มีข้อเสนอทางการเมืองที่อาจทำให้ฝ่ายอำนาจไม่ค่อยพอใจ เพราะพรรคก้าวไกลแสดงจุดยืนชัดเจนว่าสนับสนุนแนวทางของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งทะลุเพดานไปแล้ว

ท่าทีของพรรคก้าวไกลนั้น ฝ่ายอำนาจอาจไม่อยากสื่อสาร เพราะท่าทางจะสื่อสารยาก แต่พรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์มากกว่า น่าจะสื่อสารง่ายกว่า การปรับเปลี่ยนแบบนี้อาจทำให้การเมืองกลับมาอยู่ในระบบรัฐสภา ลดทอนกระแสการชุมนุม ถ้าไม่ทำแบบนี้ กระแสข้างนอกแรง สถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้ พรรคเพื่อไทยเป็นตัวแปรสำคัญ

การที่พรรคเพื่อไทยปรับอย่างนี้ อาจมีผลถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย คืออาจยอมเป็นพันธมิตรชั่วคราวกับรัฐบาล ขณะเดียวกันก็อาจเปิดทางให้คนในพรรคก้าวไกลไหลมายังพรรคเพื่อไทย เพราะถ้าไหลไปพรรครัฐบาล ตอบคำถามสังคมยาก

2.พรรคเพื่อไทยอาจมีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้น คือไหนๆ ก็มาถึงขนาดนี้แล้ว อาจฟื้น นปช.ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะฟื้นได้หรือไม่ อาจเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ตีคู่ขนานกันไปแบบปี 2553 คือมีพรรคเพื่อไทย มีแนวร่วม นปช. มีแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยไปถึงข้อเสนอที่เข้มข้น

3.ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนแกนนำเพื่อยอมรับและแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดบางประการในการวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ผ่านมา

สิ่งที่น่าสนใจคือ เวลาพรรคตัดสินใจแต่ละครั้ง จะมีฟีดแบ๊กทันทีต่อพรรค โดยเฉพาะกลุ่มมวลชน พรรคเพื่อไทยมีความสามารถอย่างมากในการยึดโยงมวลชน ไม่ว่าพรรคจะตัดสินใจไปในทางใด ประชาชนมีความรู้สึกทันที ขณะเดียวกัน มวลชนก็มีชุดคำอธิบายเพื่อยอมรับในสิ่งที่พรรคตัดสินใจ ก่อนหน้านี้มีการโวยวาย แต่ระยะหลังมีการใส่ชุดข้อมูลว่าเป็นทางลงที่ดี เป็นการเปิดโอกาสให้คุณทักษิณ ชินวัตร กลับมา มวลชนเริ่มรับได้ต่อการตัดสินใจแบบนี้

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เกิดขึ้นหลายครั้ง คนมีชุดคำอธิบายเพื่อที่จะปลอบใจตัวเองเพื่อทำความเข้าใจการตัดสินใจของพรรค นี่คือจุดแข็งของพรรคเพื่อไทยเวลาตัดสินใจทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image