เสวนาเดือด เยาวชน 2 ขั้วอุดมการณ์ ถกนิยาม ‘ชาติ’ สะท้อนอนาคต ‘ถ้าการเมืองดี’

เสวนาเดือด เยาวชน 2 ขั้วอุดมการณ์ ถกนิยาม ‘ชาติ’ สะท้อนอนาคต ‘ถ้าการเมืองดี’

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 29 กันยายน ที่ ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโครงการเสวนา #ถ้าการเมืองดี ในหัวข้อ “#ถ้าการเมืองดี นักเรียน-นักศึกษาจะ ‘รักชาติ’ กันอย่างไร” โดยมี ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการ

น.ส.ธนาภรณ์ พรหมภัทร์ หรือ ขิม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ชาติเป็นประดิษฐกรรมทางการเมือง เกิดขึ้นจากการสถาปนาของชนชั้นนำที่มีสิทธิกำหนด ถูกต้องและเหมาะสมในบริบทแรกเริ่ม เพราะในอดีตเรายังไม่มีแนวคิดเรื่องพลเมือง แต่ความหมายคำว่าชาติของชนชั้นนำในอดีตไม่สามารถใช้ได้แล้วในบริบทปัจจุบัน ที่ประชาชนควรร่วมกำหนดความหมายของคำว่าชาติได้

น.ส.ธนาภรณ์ พรหมภัทร์ หรือ ขิม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

“ในมุมมองส่วนตัว คำว่า ชาติ คือคนในกลุ่มเดียวกัน แต่ปัจจุบัน ความหมายของชาติในกระแสหลักที่กำลังครอบงำ เหมือนงานกลุ่ม ที่ทำด้วยคนๆ เดียว ผ่านการสร้างความหมายและวิธีคิดจากคนๆ เดียว ดังนั้น ความหมายจึงไม่เหมาะกับคนอื่นๆ ในกลุ่ม แต่หากเป็นโปรเจ็กต์เรื่องชาติในมุมประชาธิปไตย จะคืองานกลุ่มที่ืทุกคนต้องร่วมกัน อาจใช้เวลานาน แต่ยั่งยืนแน่นอน

Advertisement

การเมืองและชาติเป็นเรื่องเดียวกัน ความฝันและความหวังสำหรับตัวเอง แค่ฝันว่าจะมีเสรีภาพในการกำหนดเนื้อตัว ร่างกาย ด้วยสิทธิของตัวเอง และฝันถึงสังคมที่ดี ที่ทุกคนร่วมกันสร้างและพัฒนาได้ ที่กล่าวมานี้คือสังคมประชาธิปไตยที่คนมีสิทธิ และมีความเท่าเทียมกัน” น.ส.ธนาภรณ์กล่าว และว่า

ถ้าการเมืองดี ก็อยากเป็นแค่คนธรรมดาที่มีสถานที่สาธารณะให้ชื่นชมความงามได้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่เสียเงิน เอื้อให้คนรักกันได้มากขึ้น ส่งเสริมให้คนได้เป็นคน ประเทศจะพัฒนาได้อย่างไร หากสังคมไม่ส่งเสริมให้คนมีจิตสำนึก ดังนั้น ควรจะเอื้อให้คนเป็นคนก่อน คือเรื่องพื้นฐานที่สัังคมต้องสร้างให้เกิดเพื่อเปิดรับความหลากหลาย ซึ่งธรรมดามาก แต่ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตเลย

“การเมืองดี การเมืองน่ารัก สิ่งที่เกิดคือประชาชนรู้สึกปลอดภัย วางใจ ทำให้หวงแหนสิ่งต่างๆ ในประเทศไปโดยปริยาย”น.ส.ธนาภรณ์กล่าว

Advertisement
ด.ญ.เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือ พลอย จากกลุ่มนักเรียนเลว

ด้าน ด.ญ.เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือ พลอย จากกลุ่มนักเรียนเลว กล่าวว่า ชาติสำหรับบางคนอาจหมายถึงประชาชนผู้ทรงสิทธิ บางคนอาจหมายถึงความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ไม่ได้เกิดบนแผ่นดินนี้

“ความฝัน” เราเฝ้าฝันสังคมแบบไหน ระบบการเมืองแบบไหน พลเมืองในประเทศเป็นคนแบบไหน ก็ต้องผลักดันให้การศึกษาสนับสนุนการสร้างพลเมืองให้เป็นแบบนั้น ถ้าการเมืองดี จะมีพลเมืองที่ดีมาพัฒนาชาติ ญี่ปุ่นหลายคนมองว่าเจริญ ประชากรมีความอดทนต่อการต่อแถวรอคิว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดได้จากการศึกษาที่ดี การฝึกวินัยที่ดี และความเชื่อมั่นในรัฐบาล แม้ญี่ปุ่นจะเกิดภัยพิบัติเยอะ แต่เพียงแค่ 2 วันถนนของเขาก็กลับมาเป็นปกติ สิ่งนี้เกิดจากการบริหารงานของรัฐที่ดี

ผิดจากไทยเน้นให้ท่องจำ จงภูมิใจสิ่งที่เรามีมาก่อน เป็นเมืองพุทธ คนมีน้ำใจ ค่านิยม 12 ประการที่ดี แต่อัตราการเกิดอาชญากรรมสูงมาก นอกจากสอนให้ท่องชื่อว่าคนนั้นเคยวีรกรรมทำอะไรมาบ้าง ผิดจากญี่ปุ่นที่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ที่แท้จริง

“ถ้าการเมืองดีเราจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชาติ เป็นเจ้าของชาติ จะรัก ห่วง ภูมิใจ และพัฒนาต่อไปให้ดีโดยไม่ต้องปลูกฝังอะไรในแบบเรียนให้เด็กท่องจำเลย” ด.ญ.เบญจมาภรณ์กล่าว

นายเกียรติวงศ์ สงบ หรือ ลี ตัวแทนจากกลุ่มไทยภักดี ประเทศไทย

นายเกียรติวงศ์ สงบ หรือ ลี ตัวแทนจากกลุ่มไทยภักดี ประเทศไทย กล่าวว่า คำว่าชังชาติ หรือรักชาติ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลจะให้คำตอบ ขณะเดียวกันคนอีกกลุ่มอาจมองว่าตนชังชาติก็ได้ เหมือนเลข 6 ที่มองอีกมุมก็เป็นเลข 9 แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ผู้ที่ร่วมเสวนาวันนี้รักชาติ เพราะให้ความเห็นที่จะเกิดประโยชน์ต่อชาติในอนาคต

“ผมเป็นเด็กชนบท ไม่มีโอกาสเหมือนคนอื่นๆ แต่ได้สัมผัสชีวิตชนบทจากการทำงานอาสา คนชนบทเรามีกลิ่นอาย มีการให้ คือสิ่งที่ประทับใจและรักในตรงนี้เพราะเห็นว่าการอยากจะได้อะไร ก็ต้องให้เขาก่อน เหมือนเรื่องประชาธิปไตยในความหมายที่หลายคนพยายามพูดถึง คือ สิทธิ เสรีภาพ ประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับ ส่วนตัวมองและคิดว่า อะไรจะให้ประโยชน์กับคนส่วนใหญ่มากกว่า”

“ประชาธิปไตยแบบไทยๆ โดยไม่ต้องอิงตะวันตก มันคือการให้แล้วได้มา คือวิถีชีวิตที่ยังมีอยู่แต่เลื่อนลางหายไป ในอนาคตก็อยากเห็นความเสียสละก่อนที่จะได้ คือสิ่งที่มอง”

นายเกียรติวงศ์กล่าวว่า ต้องแยกการเมืองกับนักการเมือง ระบบกับตัวบุคคล เป็นคนละเรื่อง เช่น ถ้าพูดถึงทหาร เราจะนึกถึงรัฐประหาร ซึ่งต้องแยกกัน ถ้าการเมืองดีทุกอย่างจะดีไปด้วย แต่ทุกอย่างต้องพัฒนาจากคนไปก่อน

“ความสุขอยู่ที่ใจ และผมมีความสุขกับสิ่งที่ทำและเป็นอยู่ ถามว่าอนาคตคาดหวังอะไร คาดหวังสิ่งเดิมๆ ที่ดีให้ยังมีอยู่ต่อไป และรับอนาคตใหม่ๆ ที่จะเข้ามาอยากพัฒนาคน เพื่อให้คนพัฒนาระบบให้ดีต่อไป” นายเกียรติวงศ์กล่าว

นายจักรธร ดาวแย้ม หรือ มะฮ์ดี นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กลุ่มมาร์กซิสต์ศึกษาฯ

นายจักรธร ดาวแย้ม หรือ มะฮ์ดี นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กลุ่มมาร์กซิสต์ศึกษาฯ กล่าวว่า ความหมายของคำว่าชาติถูกแปรเปลี่ยนไป ทุกวันนี้ตีความความหมายกว้างขึ้น รับต่อความหลากหลายภายในชาติมากขึ้น อย่างไรก็ดีแน่นอนว่าความคิดใหม่กับเก่าต้องขัดแย้งพอสมควร ชาติแบบใหม่กับแบบเก่าทำให้เกิดการต่อสู้ทางความคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการก้าวไปข้างหน้าได้ ชาติก็เช่นกัน

“ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าการชังชาติหมายถึงอะไร ต้องถามคนพูด ทุกคนก็รักชาติ แต่เมื่อวาทกรรมชุดนี้ถูกยกขึ้นมาเพื่อกีดกัน มีการตีความอีกอย่าง ถ้าจะเล่นกันอย่างนี้ แค่คิดต่างหากว่าชังชาติ ถ้าเรียกเราว่า ‘ชังชาติ’ ก็ขอเรียกพวกคุณว่า ‘ฉุดชาติ’ เหมือนกัน เพราะเราอยากให้ชาติไปข้างหน้า แต่เขาฉุดไว้”

“ชาติที่ดีจะนำมาซึ่งการเมืองที่ดี การเมืองที่ดีมาจากระบบที่ดี ไม่อยากผลักภาระไปที่ปัจเจก ว่าระบบดี คนดีแล้ว ทุกอย่างจะดี เพราะทั้งคนและระบบเชื่อมโยงกันอย่างตัดไม่ขาด แต่การที่เรามองว่าคนดีระบบจะดี กลายเป็นการผลักภาระให้ปัจเจก ทำให้เรามองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้าง

การสร้างชาติแบบใหม่ต้องไม่ผลักภาระให้ปัจเจก ที่ว่าไม่มีรัฐแบบไหนดูแลประชาชนได้ทั้งหมด ผมว่ามีรัฐหนึ่ง คือ รัฐสวัสดิการ” นายจักรธรกล่าว

น.ส.อัครสร โอปิลันธน์ หรือ อั่งอั๊ง นักเรียนโรงเรียนนานาชาติ และ คอลัมนิสต์เว็บไซต์ Disrupt

ด้าน น.ส.อัครสร โอปิลันธน์ หรือ อั่งอั๊ง นักเรียนโรงเรียนนานาชาติ และ คอลัมนิสต์เว็บไซต์ Disrupt กล่าวว่า เราอยู่ในระบบที่คนไทยไม่เป็นไท สังคมที่อยากเห็น คือสังคมที่คนเท่าเทียมกันในศักดิ์ ในศรี

“ถ้าการเมืองดี คุณภาพชีวิตของชนชั้นกลางและล่างจะดีกว่านี้ แต่ก่อนจะมองการเมืองที่ดีต้องมองปัญหาโครงสร้าง ถ้าการเมืองดี เราทุกคนจะมีความเท่าเทียมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ทั้งหมดเริ่มได้จากระบบการศึกษา ที่จะฝังค่านิยม ซึ่งเด็กจะยึดถือค่านิยมนั้นไปตลอดชีวิต แต่ปัญหาที่เห็นคือการศึกษาที่ยึดติดกับอำนาจนิยม นักเรียนไม่เท่ากัน ยึดค่านิยมที่ล้าลัง ทำให้ชินกับการยอม นักเรียนที่เกรด 4.00 มีค่ามากกว่า คือระบบที่กดค่าความเป็นคน ทั้งที่เราอาจไม่รู้”

“ทั้งที่ควรส่งเสริมเด็กกลับกดขี่ ผลิตคนในสังคมที่เงียบ ไม่กล้าแย้ง ไม่กล้าตั้งคำถาม
ถ้าการเมืองดีเราสามารถเปลี่ยนค่านิยมมีได้เราจะยึดค่านิยมประการเดียวคือคนทุกคนเท่าเทียมกัน และในวันที่ทุกคนในสังคมหันมาเข้าใจได้ ประเทศไทยจะพัฒนาได้จริง เขาจะมองข้ามความแตกต่าง จะสามารถคุยกับคนที่นั่งในสภา คนที่นั่งด้านบนได้อย่างไม่มีความกลัว ด้วยความมั่นใจว่าเขาจะฟังเรา และทำตามสิ่งที่ปฏิญาณตนในวันนั้น”

“ไม่ว่าจะยืนจุดไหนทุกคนอยากให้ประเทศดีขึ้น” น.ส.อัครสรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image