นักวิชาการ งัดผลสำรวจเตือนรัฐ ชี้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีปัญหา ทั้งตกหล่นและรั่วไหล

นักวิชาการ งัดผลสำรวจเตือนรัฐ ชี้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีปัญหา ทั้งตกหล่นและรั่วไหล

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก   Decharut Sukkumnoed แสดงความเห็นเรื่อง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งตกหล่นและรั่วไหล ระบุว่า

ปัจจุบัน เวลารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หรือครัวเรือนเปราะบาง รัฐบาลก็มักจะใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นกลไกสำคัญ

ตัวอย่างเช่น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลก็เพิ่มเงินเบี้ยความพิการเป็น 1,000 บาท/เดือน แต่มิได้ให้กับคนพิการทุกคน แต่จะให้กับผู้พิการที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น หรือล่าสุด ต้นสัปดาห์นี้ รัฐบาลเพิ่มวงเงินใช้จ่ายในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มขึ้นอีก 500 บาท/เดือน (เป็นเวลา 3 เดือน) และขยายเวลาการใช้น้ำประปาและไฟฟ้าไปอีก 1 ปี

แต่การใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นกลไกที่ดีหรือไม่ ในการจัดสรรสวัสดิการสังคม

Advertisement

โดยทั่วไป การจัดระบบสวัสดิการของรัฐมักพบปัญหาทางสองแพร่ง แพร่งหนึ่งคือ การตกหล่น หรือกรณีที่คนที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือกลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ (หรือเรียกว่า exclusion error) ส่วนอีกแพร่งหนึ่ง เรียกว่า การรั่วไหล หรือกรณีที่คนซึ่งไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือกลับได้รับความช่วยเหลือ (หรือเรียกว่า inclusion error)

แน่นอนว่า รัฐบาลย่อมคิดว่า (หรือพยายามอ้างว่า) การแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีกระบวนการกลั่นกรองอย่างดี เพื่อที่จะป้องกันปัญหาการรั่วไหล (คนไม่จนได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) และพยายามลดปัญหาตกหล่น (คนจนทุกคนหรือเกือบทุกคนได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ให้น้อยที่สุด

แล้วในความเป็นจริง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเกิดปัญหาตกหล่นหรือรั่วไหลหรือไม่?

ถ้าพิจารณาจากรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี พ.ศ. 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งสำรวจพบว่า สมาชิกในครัวเรือนไทยที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีประมาณ 20% ของสมาชิกในครัวเรือนทั้งประเทศ

ดังนั้น ถ้าคิดแบบคร่าวๆ จากตัวเลขนี้ก็แปลว่า ครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 20% แรกของประเทศ ก็ควรได้รับสวัสดิการที่ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้ไปทั้งหมด (เพราะเป็นกลุ่มที่จนที่สุดในประเทศ) แต่การสำรวจดังกล่าวกลับพบว่า ครัวเรือนในกลุ่มนี้กลับได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพียงร้อยละ 33.1 ของสมาชิกครัวเรือนในกลุ่มที่จนที่สุดนี้เท่านั้น

พูดง่ายๆ ก็คือ สมาชิกประมาณ 2 ใน 3 ของครัวเรือนที่จนที่สุดนี้ กลับ “ตกหล่น” ไม่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

แต่หากเราลองขยับมาดูครัวเรือน 20% ที่มีรายได้มากกว่ากลุ่มแรก แต่ก็ยังถือว่า เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ตามนิยามที่สภาพัฒน์ฯ และองค์กรระหว่างประเทศ มักเรียกกันว่า กลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 40% ล่างของประเทศ สมาชิกของครัวเรือนในกลุ่ม 20% ที่สองนี้ก็ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพียงร้อยละ 28 ของสมาชิกครัวเรือนทั้งหมดในกลุ่มนี้เท่านั้น

ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า แม้ว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะตั้งเป้าที่จะช่วยครัวเรือนยากจน แต่ครัวเรือนยากจนมากกว่า 2 ใน 3 ยังเข้าไม่ถึงบัตรสวัสดิการดังกล่าว หรือเรียกว่า “มีปัญหาตกหล่น” ชัดเจน

ในทางตรงกันข้าม ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังพบว่า ครัวเรือน 20% ในกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ในขั้นกลางของประเทศ (และมักไม่ถือว่าเป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อยของประเทศ) กลับได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยประมาณร้อยละ 18.2 ของครัวเรือนทั้งหมดในกลุ่มนี้

นอกจากนั้น ครัวเรือน 20% ในกลุ่มที่สี่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างดี ก็ยังได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยอีกร้อยละ 8.3 ของครัวเรือนในกลุ่มนี้ และแม้กระทั่งในกลุ่มครัวเรือน 20% ที่รวยที่สุดของประเทศ ก็ยังมีครัวเรือนอีกร้อยละ 2.8 (ของครัวเรือนในกลุ่มนี้) ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยเช่นกัน

กล่าวได้ว่า หากใช้เกณฑ์ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุด 40% ของประเทศเป็นเกณฑ์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็มีปัญหา “รั่วไหล” ไปสู่กลุ่มที่ไม่จน ไปประมาณร้อยละ 29 ของผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมด

ดังนั้น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐจึงมีทั้งการ “ตกหล่น” และการ “รั่วไหล” ไปพร้อมๆ กัน

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐจึงยังไม่ใช่กลไกที่ดีในการจัดการระบบสวัสดิการในประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image