ส.ส.ตรัง ลงพื้นที่ลิพัง เร่งช่วยเหลือชาวบ้าน หลังโนอึลซัดสะพานขาด ปชช.สัญจรไม่ได้

ส.ส.ตรัง ลงพื้นที่ลิพัง เร่งช่วยเหลือชาวบ้าน หลังโนอึลซัดสะพานขาด ปชช.สัญจรไม่ได้

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม จากกรณีที่ชาวบ้านหมู่ 5 บ้านเขาติง ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ร้องเรียนสะพานไม้ข้ามคลองหัก หลังถูกน้ำป่าไหลหลากในช่วงพายุโนอึลเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ชาวบ้านที่มีสวนยางพารา รวมทั้งพื้นที่การเกษตรอื่นๆ ที่อยู่ด้านในรวมไม่น้อยกว่า 20 แปลง ที่จะต้องใช้สะพานข้ามคลองดังกล่าว ต้องหยุดกรีดยางพารามายาวนานนับแต่บัดนั้น ทำให้ขาดรายได้ เพราะไม่สามารถจะขนน้ำยาง รวมทั้งขนผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆได้ รวมทั้งบ้านพักอาศัยอยู่ด้านในจำนวน 2 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยบ้านทั้ง 2 หลัง มีบ้านเลขที่ถูกต้อง โดยบ้านหลังหนึ่งมีคนแก่อาศัยอยู่จำนวน 2 คน ขณะนี้ได้ออกจากบ้านไปอาศัยอยู่บ้านญาติ ส่วนอีกหลังซึ่งอยู่อาศัยกัน 2 คนพ่อลูก คือ นายธวัชชัย อินทร์เครา อายุ 42 ปี กับเด็กหญิงอัจฉราพร อินทร์เครา (น้องแพรวา) อายุ 8 ขวบ นักเรียนชั้น ป.3 โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใน อ.ปะเหลียน ที่ยังคงพักอาศัยอยู่ที่บ้าน และจะต้องใช้สะพานข้ามคลองที่หักดังกล่าว เพื่อไปโรงเรียนและกลับบ้านทุกวันทั้งเช้า – เย็น

โดยหากปริมาณน้ำสูงมาก ก็ต้องหยุดไปโรงเรียน แต่หากพอจะสามารถเดินข้ามได้ คุณพ่อก็พยายามจะแบกลูกขึ้นขี่คอ เพื่อนำไปส่งอีกฟาก ก่อนที่จะกลับไปเอากระเป๋านักเรียนเดินข้ามผ่านมา หรือหากน้ำไม่สูงมากนัก ผู้เป็นพ่อก็จะพยายามจูงลูกเดินข้ามสะพานที่หักอยู่กลางคลองยาวประมาณ 15 เมตร ดังกล่าว ทำให้ลูกสาวซึ่งหวาดกลัวลื่นล้มตกน้ำ ต้องร้องไห้เกือบทุกวันอย่างน่าอนาถใจ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหลังสะพานหักชาวบ้านได้ทำหนังสือพร้อมแนบบัญชีหางว่าวชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนรวมจำนวน 38 รายชื่อ ไปยัง อบต.ลิพังแล้ว และร้องเรียนผ่านผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ด้วย แต่ได้รับคำตอบจาก อบต.ว่า พื้นที่นี้อยู่ในเขตป่าไม้ ไม่สามารถจะซ่อมแซมได้ จึงทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก

ล่าสุด ในวันนี้ นางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ผู้แทนราษฎรเจ้าของพื้นที่ พร้อมด้วย นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส.ตรังหลายสมัย ซึ่งเป็นคุณพ่อของนางสาวสุณัฐชา นายไพโรจน์ ศรีละมุน นายอำเภอปะเหลียน นายปรีชา สำแดง หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าน้ำตกธารกระจาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารและสมาชิกสภา อบต.ลิพัง ผู้บริหารโรงเรียนทุ่งยาววิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่น้องแพรวาศึกษาอยู่ เร่งลงพื้นที่เพื่อพบปะกับนายธวัชชัย น้องแพรวา และชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด เพื่อหาทางช่วยเหลือ โดยทุกฝ่ายลงความเห็นตรงกันว่า จะต้องเร่งหาทางช่วยเหลือ เพราะชาวบ้านใช้สะพานดังกล่าวมายาวนานทั้งการเข้าออกบ้านทั้ง 2 หลัง และน้องแพรวาต้องไปโรงเรียน ที่ผ่านมามีการซ่อมแซมโดยชาวบ้านมาตลอด แต่ครั้งนี้สะพานหักทั้งหมด ชาวบ้านจึงซ่อมแซมด้วยตัวเองไม่ได้ ทั้งนี้ ได้ข้อสรุปว่าความช่วยเหลือเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ภายในสัปดาห์หน้าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกับชาวบ้านในการสร้างสะพานไม้ไผ่ทดแทน เพื่อให้สามารถใช้การได้ชั่วคราว ในการสัญจรไปมา ไปโรงเรียน และขนพืชผลการเกษตร ,ระยะที่ 2 คือ จะเร่งจัดหาเสาเข็ม จำนวน 8 เสา ขนาดยาว 6 เมตร กว้าง 6 เมตร เพื่อนำมาสร้างทำสะพานไม้ชั่วคราวให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อรับมือน้ำป่าไหลหลากที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ เพราะในพื้นที่เริ่มมีฝนตกหนักลงมาอีกระลอก และระยะที่ 3 คือ หน่วยงานพิทักษ์ป่าน้ำตกธารกระจาย จะเร่งทำหนังสือถึงกรมป่าไม้ เพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่สร้างสะพานคอนกรีต โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

Advertisement

ขณะที่นางสาวสุณัฐชา ในพื้นที่จะเร่งประสาน อบจ.ตรัง เพื่อจัดหางบประมาณสำหรับการสร้างสะพานคอนกรีตให้สามารถได้เส้นทางสัญจรไปมาได้อย่างถาวร จึงสร้างความดีใจให้กับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เรียกเสียงปรบมือกึกก้องด้วยความดีใจ

ทางด้านนางอารี โอลาลิ อายุ 55 ปี และนายประจวบ ด้วงดำ อายุ 65 ปี สองสามีภรรยาที่มีบ้านอยู่ด้านใน กล่าวว่า พวกตนมีบ้านอยู่ด้านในโดยอยู่อาศัยมาแล้วกว่า 30 ปีใช้สะพานนี้มาตลอด หากผุพังชาวบ้านก็ช่วยกันซ่อม และหลังจากน้ำป่าไหลหลากจากพายุโนอึล ทำให้สะพานหัก ไม่สามารถเข้าออกได้ตามปกติ โดยเฉพาะตอนกลางคืน ซึ่งนายประจวบทำงานก่อสร้าง อาจกลับบ้านดึกดื่น และหากเจ็บป่วยในเวลากลางคืน ไม่สามารถเข้าออกได้เสี่ยงอันตราย จึงย้ายไปพักอาศัยอยู่บ้านอดีตกำนันเป็นการชั่วคราว จึงอยากได้สะพานใหม่ให้สามารถเข้าออกบ้านได้ตามปกติ

Advertisement

ส่วนทางด้านนายถาวร มานะทวี อดีตกำนัน ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน กล่าวว่า สะพานดังกล่าวนี้มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 – 2517 สมัยตนเองยังไม่ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านและยังไม่เป็นกำนัน แต่มีมาก่อนนานแล้ว หลังจากนั้นหากผุพัง ชาวบ้านก็ช่วยกันซ่อมแซมมาโดยตลอด เพราะสมัยก่อนไม้ที่ผุพังหักโค่นมีจำนวนมาก และมีช้างชักลาก ชาวบ้านสามารถหาไม้มาสร้างซ่อมแซมใหม่ได้ จนหลังสุดซ่อมแซมและใช้งานมาแล้วประมาณ 10 ปี จึงหักลงทั้งหมดจากฤทธิ์พายุโนอึลในครั้งนี้ ซึ่งต้องสร้างใหม่ทั้งหมด แต่ขณะนี้ไม่มีไม้ผุพังหักโค่นตามธรรมชาติแล้ว และอยู่ในเขตป่า จึงไม่สามารถจะซ่อมแซมได้ จึงต้องร้องขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเหลือชาวบ้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image