เดินหน้าชน : ตุลาฯร้อน

คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ ประเดิมนัดแรกด้วยการเลือกตำแหน่งประธานและตำแหน่งอื่นๆ

และที่ขาดไม่ได้ สูตรสำเร็จตั้งคณะอนุ กมธ.พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายซ้อนขึ้นอีกชุด พิจารณาข้อกฎหมายใน 6 ญัตติที่ถูกเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อันประกอบด้วย

ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไข ม.256 เปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจากการเลือกตั้ง 200 คน กำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน

ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอแก้ไข ม.256 เปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีสัดส่วนมาจากการเลือกตั้ง 150 คน แต่งตั้ง 50 คน กำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 240 วัน

Advertisement

ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านโดยพรรคเพื่อไทย 4 ญัตติ ได้แก่ ญัตติแก้ไข มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ไขมาตรา 159 ปิดทางเลือกนายกรัฐมนตรี

ญัตติแก้ไขมาตรา 270 และมาตรา 271 ตัดอำนาจ ส.ว.ติดตามการปฏิรูป

ญัตติแก้ไขมาตรา 279 ยกเลิกการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คำสั่ง และกระทำโดย คสช.

Advertisement

ญัตติแก้ไขระบบเลือกตั้งจากบัตรเลือกตั้งใบเดียวกลับไปใช้ 2 ใบ แยกกันระหว่างระบบ ส.ส.บัญรายชื่อ และ ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540

แล้วก็แน่นอนการตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ ไม่วายถูกบรรดาพรรคร่วมฝ่ายค้านค่อนแคะไม่ต่างกับซื้อเวลา และเป็นเรื่องเข้าใจได้

เพราะทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 กระทั่งจัดเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 มาจนถึงปัจจุบัน

กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ ประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.ที่มากด้วยนักกฎหมาย วัยวุฒิ คุณวุฒิ ประสบการณ์ น่าจะมองเห็นปัญหามากมายตลอดช่วงที่ผ่านมา

มีความจำเป็นอย่างไร ต้องตั้งกรรมการควบคู่ขึ้นมาอีก

ไม่ว่าระบบคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สูตรคิดซับซ้อนพิศวงพันลึก

ไม่ว่าปัญหาในด้านหลักการประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ว. 250 คน แทบไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ถูกกำหนดตัวบุคคลโดยผู้กุมอำนาจแต่งตั้งขึ้นมา แต่มีสิทธิร่วมลงคะแนนเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี

แม้แต่ในแง่บทบัญญัติไม่ว่ากฎหมายใด ย่อมไม่มีความสมบูรณ์ไร้ที่ติ เมื่อมีช่องโหว่มีปัญหาย่อมต้องเปิดช่องให้สามารถแก้ไขปรับปรุงได้

ต่อให้เป็นรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่มีข้อยกเว้น แต่กลับถูกออกแบบใส่ตรวนสะเดาะออกยากเย็นแสนเข็ญ

ตลกร้ายคือ จุดต้นต้นแก้ไขเพิ่มเติมต้องมีเสียงของ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนเท่าที่มีอยู่ ขณะนี้เท่ากับไม่น้อยกว่า 84 เสียง

เท่ากับว่า ต่อให้พรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน มีคะแนนมากเท่าไหร่ก็ตาม หากไม่มี ส.ว. 84 เสียงรวมอยู่ด้วย การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีอันแท้งไปตั้งแต่วาระรับหลักการ

หมายความว่า บทตัดสินในรัฐสภาเสียงส่วนน้อยขี่เสียงส่วนใหญ่ไปซะอย่างนั้น

จนถึงขณะนี้ท่าทีของ ส.ว.ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยังอยู่ในแดนไม่เห็นด้วย

มุมมองเรื่องการประวิงเวลา สำทับโอกาสเปิดประตูแก้ไขกฎหมายสูงสุดไม่มีความชัดเจน ยิ่งเติมเชื้อกระแส
ไม่พอใจของกลุ่มนักศึกษา ปัญญาชน ประชาชน ที่มองเห็นปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 ร้อนแรงมากขึ้น

เริ่มมีความเคลื่อนไหวผ่านสังคมออนไลน์ส่งเทียบถึงมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย เชิญชวนร่วมทวงข้อเรียกร้องบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน

ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นตั้งแต่ 14 ตุลาคมเป็นต้นไป จึงน่าติดตามอย่างยิ่ง

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image