ปธ.สถาบันปรีดีฯ ชี้ ทางออกประเทศคือแก้รัฐธรรมนูญ ฝากถึงส.ว. ‘หมดเวลาของท่านแล้ว’

ปธ.สถาบันปรีดีฯ ชี้ ทางออกประเทศคือแก้รธน. ฝากถึงส.ว. ‘หมดเวลาของท่านแล้ว’

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานรำลึก 44 ปี 6 ตุลา 2519 โดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดเวทีอภิปราย ปรีดี ทอล์ก ครั้งที่ 6 หัวข้อ ‘จากหนักแผ่นดินสู่โรคชังชาติ : ชาติ ความเป็นไทย และประชาธิปไตยที่แปรผัน’ ที่ หอประชุมศรีบูรพา ม.ธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวปาฐกถา หัวข้อ บทเรียนขบวนการประชาธิปไตยสันติธรรมของคนหนุ่มสาวและการปราบปรามโดยทรรัฐ

ตอนหนึ่งว่า สังคมไทยต้องได้บทเรียนแล้วว่า การปล่อยให้มีการสร้างวาทกรรมเพื่อให้เกิดการเกลียดชังกัน การใส่ร้ายป้ายสีว่า “หนักแผ่นดิน” “ขายชาติ” “ชังชาติ” ก็ดี ย่อมไม่เป็นผลดีต่อความสงบสุขของสังคม

ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขบวนการของคนหนุ่มสาว ไม่ว่า 14 ตุลา 6 ตุลา ในไทยก็ดี ไม่ว่าที่เมืองกวางจูเพื่อโค่มล้มเผด็จการทหารเกาหลีใต้ในปี 2523 และเกิดการสังหารหมู่ ไม่ว่าจะเป็นที่เทียนอันเหมินเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปและเสรีภาพเมื่อปี 2532 ก็ดี ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติดอกมะลิหรืออาหรับสปริงในปี พ.ศ. 2553 ที่ตูนิเซียจนลุกลามไปทั่วทั้งภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง มักจะจบลงด้วยการปรามปรามที่ใช้ความรุนแรงด้วยกองทหารและอาวุธยุโธปกรณ์จากภาษีประชาชนนำมาเข่นฆ่าและทำร้ายประชาชน

Advertisement

ผศ.ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า ทางออกในเวลานี้ คือ มองประชาชนที่เห็นต่างอย่างเป็นมิตร มองการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพว่าเป็นความงดงามแห่งสำนึกของประชาชนผู้ตื่นรู้ มีการเดินหน้าเจรจาหารือกันเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ ในกรณีของไทย ณ วันนี้  ทางออก คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เราได้ รัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน อันเป็นพื้นฐานของสันติธรรม

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสันติธรรมไม่ใช่การต่อสู้วันเดียว อาทิตย์เดียว เดือนเดียว หรือปีเดียวจบ มันเป็นสงครามยืดเยื้อที่เราต้องต่อสู้กับพวกเผด็จการและพวกกระหายความรุนแรงและการกดขี่  การต่อสู้อาจต้องใช้เวลาชั่วชีวิต อาจต้องสืบทอดให้ลูกหลาน อย่าหวาดกลัวในการแสดงจุดยืนและความเห็นที่ถูกต้อง

ผศ.ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า คนหนุ่มสาวที่ได้ลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในอดีต ได้กลายเป็นคนวัยเกษียณในวันนี้ แต่ประเทศไทยยังคงนี้ไม่พ้นวงจรของระบอบเผด็จการ หลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 มา 44 ปี เรามีรัฐประหารอีก 4 ครั้ง ความพยายามก่อกบฏโดยคณะทหารอีกหลายครั้ง มีการเรียกร้องประชาธิปไตย และเกิดเหตุการณ์รุนแรงนองเลือดหลายครั้ง

Advertisement

“เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้ระบอบเผด็จการทหารคณาธิปไตย ที่อยู่ในอำนาจการปกครองประเทศมาอย่างยาวนานนับจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ถูกโค่นล้มโดยขบวนการประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาประชาชน แต่พลังอนุรักษ์นิยมจารีตนิยมขวาจัดสุดขั้วได้ทำให้ให้ระบอบประชาธิปไตยไทยถอยหลังอีกครั้งหนึ่งหลังจากได้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  ผลสะเทือนของทั้งสองเหตุการณ์ได้ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐต้องยอมรับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามากขึ้น และต้องฟังเสียงการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของประเทศมากขึ้น สังคมไทยเรียนรู้การแก้ปัญหาความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยแนวทางสันติวิธีมากขึ้น

44 ปี หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม และ 47 ปี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้ปรับเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้นตามลำดับ และมีสัดส่วนของภาคบริการที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ประเทศไทยสามารถก้าวจากประเทศด้อยพัฒนายากจนสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง โดยช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง 2 ช่วง คือ ช่วงทศวรรษ 2530 และช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2540  โครงสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมืองได้คลายตัวลงในบางช่วงโดยเฉพาะหลังมีการปฏิรูปการเมืองในปี 2540 ช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินปี 2540 และมีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางอย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2549 ระบอบอำนาจนิยมได้ฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง มีการรัฐประหารขึ้นในเดือนกันยายน 2549 และได้คืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 1 ปี แต่ก็ยังเกิดปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองและปัญหาเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในเดือนพฤษภาคม 2557

“ภารกิจข้างหน้าของขบวนการประชาธิปไตย คือ ทำอย่างไรที่เอาชนะขบวนการปรปักษ์ประชาธิปไตย ด้วยยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่จะทำให้เราหลีกเลี่ยงความรุนแรงและการสูญเสีย และผมเห็นว่า ทางออกนั้น คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง
ที่ใดไม่มีความเป็นธรรม ที่ใดไม่มีเสรีภาพ ที่นั้นมีการลุกขึ้นสู้

เมื่อความอยุติธรรม การกดทับอำนาจประชาชน การละเมิดต่อหลักการสิทธิเสรีภาพอยู่ในเนื้อในของระบบกฎหมาย การต่อสู้เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจึงเป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่

เมื่อกฎหมายกติกาสูงสุด หรือรัฐธรรมนูญมาจากการรัฐประหาร มีที่มาจากการยึดอำนาจ ถูกออกแบบให้มีการสืบทอดอำนาจ เนื้อหาก็ไม่เป็นประชาธิปไตย ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยต้องช่วยกันรณรงค์ให้มีการแก้ไขเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ แก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำพาบ้านเมืองไปสู่ความก้าวหน้า สู่ความสันติสุข ปรองดองสมานฉันท์ และร่วมฝ่าวิกฤติ Covid-19 และวิกฤติเศรษฐกิจไปได้

คณะกรรมาธิการ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 1 เดือน ทั้งที่ควรจะรับหลักการทั้ง 6 ร่างไปแล้วนำไปศึกษาในวาระที่ 2 ทำให้ถูกมองว่าเป็นการเตะถ่วงเวลา ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน เพิ่มความไม่แน่นอนทางการเมือง และเศรษฐกิจ  สิ่งที่เห็นชัดมาตลอด คือ หลังรัฐสภา โดยเฉพาะวุฒิสมาชิก ไม่ยอมรับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น โยกเงินออกจากประเทศไทย เงินไหลออกเพิ่มขึ้น ซ้ำเติมความเดือดร้อนทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของประชาชน และเกิดความเสี่ยงและความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นว่า จะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองหรือไม่  เราหวังว่า การชุมนุมใหญ่เรียกร้องประชาธิปไตยจะไม่เกิดเหตุรุนแรงใด ๆ และขอให้ทุกอย่างปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไม่ใช้กฎหมายในการข่มขู่คุกคามประชาชน
เราตระหนักถึงความเป็นจริงของค่ายกลที่ซ่อนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้การแก้ไขเป็นไปได้ยากมาก หากไม่ได้ความร่วมมือจากสมาชิกวุฒิสภาซึ่งแต่งตั้งโดยแกนนำไม่กี่คนของ คสช.

ขอให้ ส.ว. เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ นึกถึงประชาชน มากกว่านึกถึงตำแหน่ง อำนาจ และผลประโยชน์ ด้วยการเข้าร่วมกับขบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ดูเหมือนว่า ท่าน ส.ว. ส่วนใหญ่จะไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เท่าไหร่  เมื่อเป็นเช่นนั้น การรณรงค์ที่มีขอบเขตทั่วประเทศเช่นเดียวกับการรณรงค์ธงเขียวรัฐธรรมนูญปี 2540 จะต้องเกิดขึ้นในทุก ๆ จุดของประเทศ เพื่อส่งสัญญาณและบอกกล่าวกับท่านด้วยความปรารถนาดีต่อกัน ปรารถนาดีต่อประเทศชาติว่า หมดเวลาของท่านแล้ว ลงจากอำนาจได้แล้ว และออกมาร่วมเดินกับประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญกินได้ ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองและเศรษฐกิจ ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการร่างขึ้นมาใหม่

ขอให้ทุกท่านโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวมีจิตใจอันแข็งแกร่งในการยืดหยันต่อสู้ให้เกิดรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ผศ.ดร. อนุสรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image