‘รัฐศาสตร์ จุฬาฯ’ รำลึก ’44 ปี 6 ตุลา’ ตั้งชื่อห้องสโมฯ ‘วิชิตชัย-ดร.บุญสนอง’ จารึกเกียรติ ‘วีรชน’

‘รัฐศาสตร์ จุฬาฯ’ รำลึก ’44 ปี 6 ตุลา’ ตั้งชื่อห้องสโมฯ ‘วิชิตชัย-ดร.บุญสนอง’ จารึกเกียรติ ‘วีรชน’

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ ตึกกิจกรรมนิสิต สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงาน “44 ปี 6 ตุลาฯ” โดยมีพิธีเปิดห้องประชุม ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน และวิชิตชัย อมรกุล ซึ่งเป็นวีรชน นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 16.19 น. นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวเปิดงานว่า ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน และวิชิตชัย อมรกุล คือนิสิตรุ่น 8 และ 48 คือนิสิตที่น่าภาคภูมิใจ ดร.บุญสนอง จบชีวิตขณะเป็นนักการเมืองดาวรุ่ง คุณวิชิตชัย เสียชีวิตเหตุการณ์ 6 ตุลา ทั้งสองคนอายุสั้นเกินกว่าจะทำอะไรหลายอย่าง ผู้มีอำนาจในยุคนั้นและยุคนี้ไม่แตกต่าง ต้องการทำลายคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำให้สังคมดีขึ้น

นายเนติวิทย์ กล่าวว่า ทั้งสองท่านนี้ จะเป็นที่ระลึกถึงของสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ของคณะรัฐศาสตร์ และ ของจุฬาลงกรณ์ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์จึงทำห้องประชุมนี้เพื่อเป็นเกียรติให้แก่บุคคลทั้งสอง เมื่อเรามีการตื่นตัวเรื่อง 6 ตุลาคม และความรุนแรง จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะมีห้องนี้ น้อยน้อยคนจะรู้ว่าเป็นนิสิตจุฬา ขอให้ภูมิใจที่มีรุ่นพี่ที่อุทิศชีพเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งหลายคนไม่รู้จัก สะท้อนการจัดการเรียนการสอนเรื่องประชาธิปไตยในระดับมัธยมศึกษา ที่ควรพัฒนาให้ดีขึ้น หรือในการเรียนปีแรกๆ จะทำอย่างไรให้รู้จักบุคคลเหล่านี้

“สโมสรนิสิตจุฬาฯ ค่อนข้างเปลี่ยนไป มีที่นั่งสามารถใช้อ่านหนังสือ จัดเสวนา หรือจัดประท้วง คือครั้งแรกที่มีโถงกว้างให้ใช้ประโยชน์ เรียนพี่ๆ ศิษย์เก่า เรายังขาดอะไรหลายๆ อย่าง ขอให้มาร่วมกันทำให้อาคารนี้สมบูรณ์ไปด้วยกัน ซึ่งหากท่านใดเข้าไปห้องวิชิตชัย จะเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง ของคณะศิลปศาสตร์ จุฬา มีรูปรุ่นพี่วีรชนเราทั้ง 4 เพื่อเป็นอนุสรณ์ ให้แก่นิสิต นักศึกษาต่อไป” นายเนติวิทย์กล่าว

Advertisement

จากนั้น ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นประธานในพิธีเปิดห้องประชุม ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน และวิชิตชัย อมรกุล ด้วยการเปิดภาพ ดร.บุญสนอง และรุ่นพี่ปี 48 ร่วมเปิดภาพ วิชิตชัย ก่อนจะถ่ายภาพร่วมกัน

ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า มาร่วมงานวันนี้ในฐานะนักกิจกรรมรุ่นพี่ ที่ใช้ชีวิตช่วงหนึ่ง ณ จุดนี้ ที่นี่คือศูนย์กลางนิสิตรัฐศาสตร์ ความจริงก่อนหน้านี้คือห้องเชียร์ในปี 16 ซึ่งตนคือนิสิตคนหนึ่งที่นั่งในห้องนี้ ก่อนจะเปลี่ยนแปลงเป็นตึกกิจกรรมเพื่อสังคมเมื่อปลายปี 18 จึงเป็นผลสืบเนื่องของการดำเนินกิจกรรมตั้งแต่ก่อน ถึงหลัง 14 ตุลาคม 16

Advertisement

“ในยุคหลัง 14 ตุลาฯ สิ่งที่เห็น คือการปลดแอกชีวิตนักศึกษา การจัดกิจกรรมแบบเก่าที่เคยถูกเรียกว่า เป็นกิจกรรมแห่งการฟุ้งเฟ้อ นำไปสู่ชนบท เข้าไปในโรงเรียน และขยายออกสู่นอกห้องเรียนอย่างกว้างขวาง ไม่มียุคไหนที่ขึ้นสูงได้เท่ายุค 14 ตุลาคม สำหรับผู้มีอำนาจคือภัยคุกคาม ซึ่งนักศึกษาได้ร่วมชุมนุมมาโดยตลอด ไม่ว่าเราจะประท้วงกับพี่น้องชาวนา และผู้เสียเปรียบที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จนได้เปลี่ยนนิสิตจุฬาฯ ทุกรูปแบบ ทุกคณะ ให้มีภารกิจเพื่อสังคม ด้วยเชื่อว่า การเข้าสู่หนทางนักกิจกรรม จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าในอนาคต ซึ่ง วิชิตชัย คือคนหนึ่ง เรากำลังเห็นการขับเคลื่อนของนักศึกษาไทยในทศวรรษที่ 21 ซึ่งยุคนั้น อุดมการณ์สังคมนิยมคือภัยคุกคาม อาจารย์บุญสนอง คือคนหนึ่งในภัยคุกคาม คือสัญญาณต้นๆ ว่าการเห็นต่างทุกยุค ทุกสมัย คือเหยื่อของอำนาจรัฐ จากนั้นการกระทำล้อมปราบเกิดขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดไม่ว่ากบฏวังหลวง หรือกบฏแมนฮัตตัน ซึ่งล้วนเป็นคนในการเมือง แต่ 6 ตุลาคมเป็นการกระทำกับนักศึกษา ที่ไม่ใช่กองกำลังติดอาวุธ และสูญเสียเป็นจำนวนมาก”

“6 ตุลาคมเราสูญเสียเพื่อนหลายคนในธรรมศาสตร์ และสนามหลวง เป็นวันแรกที่ได้เห็นอาวุธร้ายแรง อำนาจอาวุธสะท้อน อาวุธ เอ็ม 79 ซึ่งนักศึกษาไม่ใช่ข้าศึก ทั้งหมดไม่ใช่การทำภาพยนตร์ แต่คือการยิงนักศึกษาอย่างมีเป้าหมาย กลายเป็นข้าศึกทางการเมือง การปิดล้อมยิงเริ่มตั้งแต่ก่อนดึก จากข้างนอกยิงเข้าธรรมศาสตร์ ต่อด้วย เอ็ม 79 สัญญาณโจมตีชัดขึ้นเมื่อรุ่งเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ผู้คนในสังคมถูกสร้างให้เกลียดนักศึกษาจนทำให้เป็นนักล่าที่มีชีวิต วิชิตชัยจากไป ท่ามกลางการต่อสู้ของสังคมไทย

ผลจากการล้อมปราบ ทำให้นิสิตนักศึกษาตัดสินใจเปลี่ยนสถานภาพจากนักศึกษาเป็นนักรบ แม้เขาเหล่านี้ ในวันนั้นจะไม่ได้รับการฝึกทางการทหาร แต่ก็ตัดสินใจเดินหน้าเข้าสู่วงการนักปฏิวัติไทย ด้วยหวังการเปลี่ยนแปลง ละทิ้งความสุขสบายของชีวิต และการออกไปครั้งนั้นไม่มีใครรู้ว่าจะได้กลับบ้านเมื่อไหร่ ทำให้นักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยเข้าสู่สนามรบในชนบท นิสิต จุฬาฯ จากคณะต่างๆ หลายส่วนกลายเป็นวีรชนนิรนาม ตามป่าเขาชนบทไทย ที่จุฬา 6 คน จาก 9 คน” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

จากนั้น อ่านรายชื่อวีรชน จุฬาฯ เพื่อเป็นการระลึกถึง ซึ่งทั้ง 6 คน เป็นนักศึกษาจากคณะ รัฐศาสตร์, นิติศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์ และ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

ศ.ดร.สุรชาติกล่าวต่อว่า อยากเรียกว่า เป็น “คน 3 ตุลา” จาก 14 ตุลา 16 ถึงชัยชนะ จบชีวิตในเมือง ตุลา 19 และเดินทางต่อสู้ในป่าเขา ตุลา 2526

“3 ตุลาที่ผูกพันชีวิตคนรุ่นผม และกำหนดการเปลี่ยนแปลงรัฐไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ หลังจากนั้นตกอยู่ในความพ่ายแพ้ มีแต่สงครามชีวิตที่แต่ละคนต้องเดินไปข้างหน้าต่อ ในทางการเมือง เรายังคงเห็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทั้งพฤษภาคมปี และพฤษภาปี 53 ของคนเสื้อแดง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรายังคงเห็นรัฐประหารต่อเนื่องจนถึงปี 57 ทั้งหมดเพื่อยืนยันว่าการเรียกร้องเพื่อสังคมที่ดีกว่าไม่เคยจบ ยังคงเดินต่อไป ขอให้ภูมิใจในฐานะพยานประวัติศาสตร์ รัฐยังหลงระเริงกับชุดความคิด ทหารนำการเมือง และกฎหมายนำการเมือง นำมาเป็นมาตรฐานหลักในการจับกุม เกิดบทเรียน ใครพ่ายแพ้ทางการเมืองคนนั้นพ่ายแพ้ทางการต่อสู้”

ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี การต่อสู้ทางการเมืองซับซ้อนขึ้น เผด็จการยุคนี้ไม่ได้ใส่เครื่องแบบเต็มรูปแบบ แต่เข้ามาด้วยการเลือกตั้ง ต้องอาศัยพลังนิสิต นักศึกษา ประชาชน ตามมาตรการ 3 ป. คือ 1.เปิดโปง 2.ประท้วง 3.ไม่ประทับ คือ ทำให้ทหารไร้ความชอบธรรม เราจะชนะได้ด้วยการขยายแนวร่วมให้กว้างขวาง ไม่ใช่ประเด็นที่ทำลายแนวร่วม ไม่มีแนวร่วมไม่มีทางชนะ ประเทศไทยไม่อาจสร้างการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้ในครั้งเดียว แต่ต้องเป็นรายภาค ภาคแรกสลายอำนาจและมรดก รอบ 2 มุ่งสร้างประชาธิปไตย และการเปลี่ยนผ่านที่ 3 จึงจะเกิดเส้นทางประชาธิปไตยได้จริง อย่าคาดหวังว่าจะชนะด้วยการจัดม็อบในครั้งเดียว เพราะจากสงครามการเมืองไทย ไม่เคยจบในการรบครั้งเดียว

“การสร้างการเมืองใหม่ที่ปราศจากการปฏิรูป จะกลับมาใหม่ เราเห็นการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ ผ่านเครื่องมือต่อสู้แบบใหม่ เห็นชัยชนะในหลายประเทศ คลื่นอาหรับสปริง ฮ่องกง ซึ่งอาจเรียกว่า เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์-ไลน์ เรโวลูชั่น ขอชวนรำลึกถึงวีรชนนิรนามทุกมหาวิทยาลัย แม่ผ่านมาก่อนหลาย 10 ทศวรรษ แต่คือประจักษ์พยานการต่อสู้ของนิสิต นักศึกษาในยุคหนึ่ง 2 ท่านนี้คือผลผลิตในคณะเรา เชื่อว่าหากยังมีชีวิตอยู่ พวกเขาคงจะอวยชัยให้กับการต่อสู้ของนิสิต นักศึกษาในปัจจุบันให้ได้ชัยชนะ”

“วันนี้การต่อสู้เพื่อเสรีภาพความเท่าเทียม ของประชาชนหวนมาอีกครั้ง จะทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยประสบชัยชนะต่อไป ขอเชิญชวนร่วมกันสนับสนุนการต่อสู้เพื่อให้สังคมไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งต้องอาศัยแรงประชาชนทุกหมู่เหล่า เราอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ร่วมกัน” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

ชู 3 นิ้ว “ประชาธิปไตยจงเจริญ”

จากนั้น เวลา 16.50 น. มีการฉายวิดีโอ โดย ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวว่า เราเคยคิดไหมว่าทั้งสองท่านนอกจากเป็นปัจเจกชนผู้กล้าหาญแล้ว กำลังเป็นตัวแทนของคุณสมบัติที่หาได้ยากยิ่งในสังคมไทย คือ

1.ความปรารถนาที่จะสร้างอนาคตสังคมไทย คือความฝัน ความปรารถนาดีต่ออนาคตของคนในสังคม

2.ความมุ่งมั่นที่จะลงมือกระทำให้ความฝันเป็นจริง ด้วยการลงมือสร้างด้วยตนเอง และ 3.ความกล้าหาญ ไม่เพียงกล้าหาญสร้างให้เป็นจริง แต่ยังกล้ายืนอยู่แถวหน้า กล้าเผชิญอันตราย แม้แต่ละหลักดีถึงผล ก็ยังกล้าที่จะยืนอยู่ตรงนั้น ดังนั้น ในฐานะปัจเจกบุคคลที่มีชื่อ มีชีวิต ครอบครัว ในฐานะปุถุชน เวลานึกถึงวีรชนเหล่านี้ ขอให้ขานชื่อเพื่อรำลึกในฐานะปัจเจก และรำลึกถึงคุณสมบัติดังกล่าว เพื่อตระหนักสิ่งที่ประเทศเราขาดแคลนด้วย

“ฝากไปยังทุกคน ขอให้ตั้งปณิธาน ตั้งสัญญากับตัวเองว่าจะกล้าทำตามท่านทั้งสอง “กล้า ฝัน ลงมือ” ทำให้เกิดขึ้นแม้เล็กน้อย ในแต่ละวัน คือสิ่งที่เราพอจะทำได้ เพื่อให้การเสียสละของท่านไม่สูญเปล่า เพื่อเชิดชูท่านทั้งสอง ให้การรำลึกถึงความสูญเสียปรากฏขึ้นเป็นผลอีกเล็กน้อยในสังคมไทย” ศ.ดร.ธงชัยกล่าว

จากนั้น ตัวแทน องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรารู้จักวันที่ 6 ตุลาคมในแง่สังหารหมู่ หรือฆ่านกพิราบ ความทรงจำนั้นยังคงอยู่ตราบเท่าที่เราสืบสานอุดมการณ์ เชื่อว่าเราที่นี่มีความเกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาคม ทั้งทางสายเลือด ได้เพื่อนร่วมสถาบัน และความสัมพันธ์ในอุดมการณ์ที่ต้องการให้ประชาธิปไตยเบ่งบานในประเทศเรา จะขอสานต่อภารกิจรุ่นพี่จุฬา ในฐานะประชาชนคนธรรมดา เพราะการรับใช้ประชาคือปลายทางของการเล่าเรียน

ด้าน ตัวแทน คณะกรรมการนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ที่ได้ตั้งห้องประชุมนี้ขึ้น ไม่เพียงหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สอนให้รู้อย่างผิวเผิน แต่คือการสังหารหมู่ที่ โหดร้ายที่สุดที่เคยมีมาในสังคม แม่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้จดจำ รายการลบเลือนไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อผู้ประสบเคราะห์ ไม่มีใครต้องรับผิดชอบการตายของบุคคลเหล่านั้น สิ่งนี้คือภารกิจที่สำคัญที่เราต้องจดจำเพื่อคืนความเป็นมนุษย์ ไม่เพียงตัวเลข แต่พวกเขาคือพี่ คือเพื่อนของใครหลายๆคน ไม่มีใครสามารถใช้อำนาจนอกระบบพรากไปได้ คือการจำ และเห็นแก่หัวใจมนุษย์ หากวันใด ผู้มีอำนาจคุกคามคนในสังคม เราเชื่อว่าเราทุกคนคงไม่ยอมให้เหตุการณ์ 6 ตุลาฉายซ้ำอีกครั้ง จึงควรระลึกถึง เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังในสังคมไทย

เวลา 17.03 น. ตัวแทนองค์กรต่างๆ อาทิ องค์กรสโมสรนิสิต จุฬาฯ, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ตัวแทนแทนสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สโมสรนิสิตแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ, สโมสรเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ, สโมสรศิลปกรรมศาสตร์, กลุ่มเกียมอุดม, กลุ่ม สว ที่อยู่ข้างประชาธิปไตย, แอมเนสตี้ฯ, มูลนิธิ 14 ตุลา ฯลฯ ร่วมวางต้นไม้เพื่อแสดงความรำลึกถึงวีรชน และแสดงความยินดีกับการเปิดห้องประชุมสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในครั้งนี้

จากนั้น นักเรียนและนิสิต รับรางวัลการประกวเเรียงความ ในหัวข้อ ‘นักเรียนไทยกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง’

เวลา 17.13 น. ตัวแทนประชาชนวางดอกกุหลาบขาว บริเวณหน้าเวที เพื่อรำลึกถึงวีรชนเดือนตุลาฯ ถามกลางนิสิต นักศึกษา นักวิชาการ ประชาชน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image