‘กนกรัตน์’ ชี้ นร.คือที่มาขบวนการ นศ. คลายปม เยาวชน ‘อิน 6 ตุลา’ เหตุรู้สึกเชื่อมโยง

‘กนกรัตน์’ ชี้ นร.คือที่มาขบวนการ นศ. คลายปม เยาวชน ‘อิน 6 ตุลา’ เหตุ เถียงได้ผลลัพธ์คือความตาย

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 6 ตุลาคม ที่ ตึกกิจกรรมนิสิต สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงาน “44 ปี 6 ตุลาฯ” โดยมีพิธีเปิดห้องประชุม ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน และวิชิตชัยอมรกุล ซึ่งเป็นวีรชน นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ นักการเมือง และประชาชนร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางการเฝ้าสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงนอกเครื่องแบบหลายนาย

เวลา 17.40 น. มีการเสวนา ในหัวข้อ “6 ตุลาฯ และอนาคตของสังคมไทย” โดยมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ รวมวง

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์  จุฬาฯ กล่าวถึงลักษณะขบวนการของนักเรียนในอดีต ว่าเหมือนและต่างจากปัจจุบันอย่างไร โดยกล่าวว่า งานวิจัยแรกที่เคยทำในชีวิต คือเรื่อง “คนเดือนตุลา” ไม่ใช่เดือนตุลา สนใจว่าทำไมคนเดือนตุลาถึงกลับมามีบทบาท ทำไมทะเลาะกัน และ ทำไมเขียนประวัติศาสตร์เองได้ ซึ่ง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ มีการตั้งคำถามถึงความต่างของคนรุ่นนี้ กับคนเดือนตุลาคม

ประวัติศาสตร์ 14 และ 6 ตุลา ถูกเขียนโดยคนตุลา และคนหลังตุลาที่วิพากษ์ จนเกิดความขัดแย้ง และประวัติศาสตร์ถูกใช้ทั้ง 2 ฝั่งสีเสื้อ ถูกใช้กับคนรุ่นนี้ ประวัติศาสตร์เดือนตุลาคม กับนักเรียนในยุคนี้ ความน่าสนใจไม่เพียงเรื่องนิสิต นักศึกษา แต่คือกลุ่มนักเรียนที่ถูกพูดถึงน้อยมากในประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม

Advertisement

“ยุคนั้นความน่าสนใจของนักเรียน เป็นเพราะขบวนการนักเรียนเติบโตหลัง 14 ตุลา ผ่านการจัดตั้งไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ผ่านกลุ่มแนวคิดฝ่ายซ้าย ยึดโยงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการจัดอย่างเป็นระบบ มีกระบวนการระดม จะตั้ง นักเรียนเหล่านี้มีทั้งผ่านกระบวนการจัดตั้งและจัดตั้งตัวเอง เรียกว่าตัวปิด-เปิด ตัวเปิดคือคนที่เปิดหน้า ตัวปิด-มีจินตนาการยึดโยง ทุกคนมีเข็มมุ่งคล้ายกัน ใฝ่ฝันถึงองค์กรที่อยากให้เป็น อ่านหนังสือคล้ายกัน กิจกรรมเคลื่อนไหวในโรงเรียนเกิดขึ้นมากมาย ทำงานกับพี่น้องแรงงาน ชาวนาในชนบท ยกระดับชั้น 2 มีการกระจายนักเรียนสู่มหาวิทยาลัยทุกที่ และผลชนะ ที่ถูกยึดกุมจากนักศึกษาฝ่ายซ้าย ส่วนหนึ่งก็มาจากการจัดตั้งขบวนการนักเรียน นักศึกษาปี 1 รุ่นใหม่ที่ก้าวหน้า เรียนรู้และถกเถียงทางความคิดมาแล้ว”

ผศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าวต่อว่า พูดถึงนักเรียนตอนนี้ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทย คือกลุ่มแรกๆ ที่ระดม เปิดพื้นที่เรียนรู้ของนักเรียนมัธยม ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับพรรคการเมือง กระบวนการมาจากการกดทับหลังรัฐประหาร ความไม่พอใจขนบอนุรักษนิยมในโรงเรียน การเรียกร้องที่หลายคนมองว่าไร้สาระ เช่น ทรงผม ยูนิฟอร์ม การกณฑ์ทหาร แต่มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง พวกเขาคือที่มาของเครือข่ายนักศึกษา ที่เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยในการเคลื่อนไหวเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเกิดมาก่อนหน้าต่าง 6-7 ปีแล้ว ไม่ใช่ของคนรุ่นที่เต็มไปด้วยความโกรธ

Advertisement

“ส่วนตัวได้คุยกับเจ้าของสำนักพิมพ์หนึ่ง เขาบอกว่าช่วงนี้หนังสือขายดีมาก มีพวกหัวเกรียนมาซื้อเพียบ เป็นเด็กมัธยมปลาย จนช่วงปีที่ผ่านมาชัดเจน ในคำพูดเจ้าของสำนักพิมพ์ เห็นภาพเด็กๆ กระชากกระเป๋า ฉีกหนังสือ คือเด็กมัธยม มีการกระจายตัวในมหาวิทยาลัยต่างๆ  เราเห็นภาพการยึดโยงทางความคิดของคนกลุ่มนี้ว่าไม่ได้ขึ้นกับพรรคหารเมือง แต่พื้นฐานเกิดจากประเด็น ดังนั้นควรจะเลิกถามความเหมือน-ต่างของเยาวชน 2 รุ่น ควรจะแยกเป็นประวัติศาสตร์ 2 ชุด ขบวนการนักศึกษาตุลา และ ปี 63 และอีกไม่รู้กี่รุ่นต่อจากนี้ ยอมรับว่าไม่รู้จะสอนหนังสืออย่างไรกับเด็กที่ตั้งคำถามทุกเรื่อง อ่านหนังสือในลิสต์หนังสือที่ต้องอ่าน (reading list) ของเรามาหมดแล้ว คิดไม่ออกจริงๆ” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว

ผศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าวอีกว่า หากจะให้เทียบ ต้องบอกว่าเหมือนในแง่ความหลากหลาย ก่อน 14 ตุลาคมเคลื่อนไหวหลากหลายกลุ่มอุดมการณ์ ถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย จัดตั้งอย่างไม่เป็นรูปแบบ ค่อนข้างอิสระ ขบวนการเยาวชนในปัจจุบันเหมือนในแง่นี้ สุดในแง่ที่ต่างคือ คนรุ่นนี้เชื่อมโยงตัวเองกับ 6 ตุลา

“14 ตุลาคือประวัติศาสตร์แห่งชัยชนะ ที่เขาไม่รู้สึกว่าเป็นชัยชนะ เพราะมองว่าอีก 3 ปีก็โดนฆ่า ในแง่มวลชนหลังจากนั้น ทั้ง แดง เหลือง ทุกคนมีภาพมวลชน จึงไม่ใช่ชัยชนะของเด็กรุ่นนี้ แดงเต็มถนน เหลืองเป็นล้าน นอกนั้นคือการเปลี่ยนแปลงผู้นำ จึงไม่ได้ชื่อว่าชัยชนะ เหมือนที่รุ่นเราชม 14 ตุลา

“เขามองมองว่า 14 ตุลา คือ ชัยชนะของอภิสิทธิ์ชน แต่รุ่นนี้รู้สึกว่าเขาคือ 6 ตุลา ที่ไม่มีใครฟัง ไม่สำเร็จในการเรียกร้อง ภาพที่เห็นคนถูกแขวนคอที่สนามหลวง เขารู้สึกว่าเป็นตัวแทนเขา เพราะเถียงกับพ่อแม่ เพื่อน ไม่มีใครต้องตาย เขาจึงตกใจมากว่าถึงขนาดต้องฆ่าเลยหรือ คือเหตุที่เด็กรุ่นนี้อินกับ 6 ตุลามาก โลกที่สอนว่าถกเถียงได้ ผลลัพธ์คือความตายหรือ ไม่มีที่ยืนให้กับคนอย่างเขา คือเหตุที่รุ่นปัจจุบันเชื่อมโยงกับ 6 ตุลา” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image