‘ธนาธร’ ฝากสานภารกิจในสภา ‘1 แก้ไข- 5 ปฏิรูป’ ป้อง อดีต 6 ตุลา ฉายซ้ำ

‘ธนาธร’ ฝากสานภารกิจในสภา ‘1 แก้ไข- 5 ปฏิรูป’ ป้อง อดีต 6 ตุลา ฉายซ้ำ

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 6 ตุลาคม ที่ ตึกกิจกรรมนิสิต สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงาน “44 ปี 6 ตุลาฯ” โดยมีพิธีเปิดห้องประชุม ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน และวิชิตชัยอมรกุล ซึ่งเป็นวีรชน นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ นักการเมือง และประชาชนร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางการเฝ้าสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงนอกเครื่องแบบหลายนาย

เวลา 17.40 น. มีการเสวนา ในหัวข้อ “6 ตุลาฯ และอนาคตของสังคมไทย” โดยมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ รวมวง

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ตอบคำถามในมุมมองอดีตนักการเมือง ว่าจะมีบทบาทป้องกันกรณี 6 ตุลาคม ได้อย่างไร

นายธนาธรกล่าวว่า 6 ตุลา ที่มีการยอมรับกว้างขวางว่าเป็นอาชญากรรมรัฐ ไม่ได้เกิดวันที่ 6 7 8 ตุลา19 เพราะนั่นเป็นการเฉลิมฉลองการที่ปราบปรามนักศึกษาได้ ต่อมาการจัดงานสถาปนา 6 ตุลา ว่าเป็นการกระทำจากอำนาจรัฐยังไม่แข็งแรง แต่ดีใจที่วันนี้มีการพูดถึง 6 ตุลา อย่างกว้างขวาง

Advertisement

“เพื่อไม่ให้เกิดซ้ำ ในฐานะที่เคยทำงานการเมืองในสภามาบ้าง เมื่อมอง 6 ตุลาคม พบว่าไม่ได้เป็นเหตุการณ์เช้าตรู่ แต่เป็นสายธารประวัติศาสตร์ของผู้ที่ถูกอำนาจไม่เป็นธรรมกดขี่ ซึ่งการต่อสู้เรื่องนี้ ย้อนกลับไปดูจะเห็นได้ชัดคือ ทศวรรษ 2450 หยุดประเทศไทยแล้ว ได้มาซึ่ง 2475 การต่อสู้ระหว่างอำนาจจนมาสู่ 2490 จะมาถึง 6 ตุลาคม 19 ตกเย็นเกิดการรัฐประหาร โดยสงัด ชลออยู่ โดยกลุ่มขวาจัด หลังเข้า 6 ตุลาจนฝ่ายขวาด้วยกันทนการกระทำไม่ได้

การเกิด 6 ตุลาคมทำให้เกิดโมเดล นายกฯ เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นมา ในสมัยถนอม, ประภาส นายทุนคือ กลุ่มทุนของช่องโทรทัศน์ หรือ กลุ่มสิ่งทอ แต่กลุ่มทุนที่กินประเทศในทุกวันนี้ ผูกความสัมพันธ์กับรัฐ ดังนั้น กลุ่มทุมจึงเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์  ระหว่างการสถาปนาอำนาจ จากการเลือกตั้ง และจารีตประเพณี ว่าจะให้อำนาจไหนนำ นี่คือความชัดเจนในประวัติศาสตร์ว่าเรายังไม่ได้ข้อสรุปในสังคม ว่าเราจะเดินหน้าด้วยอำนาจไหน ซึ่งการไม่ได้ข้อสรุปนี้ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญมากมาย เช่น เมษายน-พฤษภาคม 53″ นายธนาธรกล่าว และว่า

“ความคล้ายคลึงทางประวัติศาสตร์มีมาก พาดหัวข่าว 7 ตุลา 19 หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง พาดหัว “เลือดไทยไหลริน.. ตำรวจพลร่ม…..” ซึ่งตำรวจพลร่มไม่มีจริง นี่คือการพาดหัว หนังสือพิมพ์ในเช้าวันที่ 7 ตุลาคม สิ่งที่คุณพาดหัวมาไม่ได้เกิดขึ้นจริง นี่คือวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เกิดอะไรไม่ถูกลงโทษ แม้จะร้ายแรงขนาดไหน วัฒนธรรมนี้ยังคงมีอยู่”

นายธนาธรกล่าวว่า 6 ตุลาคม ชุดความคิดหลักคือสังคมนิยมที่ชัดเจน คือชุดความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง ซึ่งใกล้เคียงกับยุคนี้ที่นักเรียนนักศึกษาจะรู้สึกว่า ‘ผู้ใดที่ไม่เคลื่อนไหว ผู้นั้นย่อมไม่รู้สึกถึงโซ่ตรวนที่ล่ามเขาอยู่’ คนที่ออกมาเคลื่อนไหวจึงจะรู้สึกถึงโซ่ตรวนนั้น วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด การโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ยังคงอยู่

“สิ่งหลักๆ ที่ต้องทำเป็นภารกิจสำคัญ คือ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ทางออกที่ดีที่สุดคือคืนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญให้กับประชาชน เพราะถ้าเราบอกว่าประเทศเป็นของประชาชน อำนาจสถาปนาก็ต้องเป็นของประชาชน 2. ปฏิรูป 5 เรื่อง 1.กองทัพ 2.กระบวนการยุติธรรม 3.ระบบราชการรวมศูนย์อำนาจ 4.ระบบเศรษฐกิจ 5.ยกเลิกการผูดกขาดจากกลุ่มทุนการเมืองให้หมด  คือสิ่งที่ต้องทำในการทำงานการเมืองในสภา” นายธนาธรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image