ไขรหัสคำพูด‘บิ๊กบี้’ ‘เงื่อนไขปฏิวัติเป็นศูนย์’

ไขรหัสคำพูด‘บิ๊กบี้’ ‘เงื่อนไขปฏิวัติเป็นศูนย์’

ไขรหัสคำพูด‘บิ๊กบี้’
‘เงื่อนไขปฏิวัติเป็นศูนย์’

หมายเหตุนักวิชาการไขรหัสคำพูดของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่แถลงครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งถึงแนวนโยบายกองทัพกับการเมือง โดยยืนยันว่าโอกาสการปฏิวัติทุกอย่างเป็นศูนย์หมด บนพื้นฐานที่อย่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสร้างเงื่อนไขปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงและกระทบต่อความเดือดร้อน

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ไขรหัสคำพูด‘บิ๊กบี้’ ‘เงื่อนไขปฏิวัติเป็นศูนย์’

Advertisement

เท่าที่จำได้ ผบ.ทบ.ส่วนใหญ่หรือนายทหารระดับสูงก็มักจะออกมาพูดแบบนี้หลังจากเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ดังนั้น อย่าไปหมายความจะไม่มีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีก ที่สำคัญยังไม่มีนายทหารคนไหนเข้ามาแล้วบอกทันทีว่าจ้องจะปฏิวัติ หากมีปัญหามาก ล่าสุด ผบ.ทบ.คนใหม่ยังบอกเป็นของแถมด้วยว่าอย่าทำผิดกฎหมาย แต่อย่าลืมว่ากฎหมายในบ้านเรามันผิดง่าย เพราะสาระสำคัญออกมาเพื่อไม่ให้คนกระดิกอะไรได้ เช่น การเดินขบวนจะต้องไปขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การชุมนุม ถ้าหน่วยงานรัฐไม่อนุญาต หากฝ่าฝืนก็ถือว่าผิดกฎหมาย ทั้งที่ความจริงก่อนการเดินขบวนแค่แจ้งให้ทราบ เพื่อให้หน่วยงานรัฐเข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อย

สำหรับชุดข้อมูลที่ ผบ.ทบ.คนใหม่เคยออกมาพูด น่าจะเป็นแนวทางการปฏิรูปกองทัพ ตามที่ ผบ.ทบ.คนก่อนเคยวางแนวทางไว้ในบางเรื่อง เพื่อชี้แจงให้ประชาชนรับทราบว่าจะสานต่ออย่างไร จะมีอะไรใหม่กว่าที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะจำได้ว่าเคยพูดถึงการลดกำลังพล แต่ยังไม่สามารถทำได้ ทุกวันนี้ยังมีนายพลจำนวนมากนั่งทำงานปกติ เชื่อว่าถ้าปฏิรูปจริงคงจะมีกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นก็ต้องถนอมน้ำใจ อาจทำให้มองไม่เห็นว่าเป็นเรื่องของความจำเป็นในการเดินหน้าปฏิรูปหรือไม่

การออกมาบอกว่าการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ถ้าคิดได้แบบนี้ถือว่าดี ความเป็นจริงก็ควรเป็นเช่นนั้นนานแล้ว แต่ส่วนตัวเห็นว่าระดับ ผบ.ทบ.ไม่ควรจะออกมาพูดเรื่องการเมือง เพราะพูดแล้วสร้างความสั่นสะเทือน เพราะท่านเป็นคนคุมกำลัง ถ้าผมพูดหรือกลุ่มประชาชนปลดแอกออกมาพูดว่าจะทำอะไรบ้าง คนก็ไม่กลัว เพราะไม่มีกำลัง แต่ถ้า ผบ.ทบ.พูดคนจะสั่นเพราะกลัวจะเป็นจริงตามนั้น แล้วถ้าดูทหารในประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่แสดงออกทางการเมือง ไม่มีใครเห็นสื่อต่างประเทศเอามาพาดหัวข่าว แต่ในบ้านเราจะไปกล่าวหาสื่อที่ชอบไปถามทหารคงไม่ได้ เพราะทหารเคยมีประวัติว่าทหารเคยทำอะไรมาบ้างในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อยครั้ง ดังนั้นสื่อรู้ว่าต้นตออยู่ตรงไหน สื่อก็มีหน้าที่ไปแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อประเมินทิศทางความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

Advertisement

ส่วนตัวไม่กล้าเสนอแนะว่าทหารควรแสดงท่าทีอย่างไร ในการทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าหลักการประชาธิปไตยในความคิดทหารอาจไม่เหมือนที่เราคิด ผมเคยนำนักวิชาการทางการเมืองไปอบรมในค่ายทหาร ยอมรับว่าทหารไม่ได้เข้าใจระบอบประชาธิปไตยสากลเหมือนที่เราเข้าใจกัน เพราะทหารมีเป้าหมายทำงานด้านมั่นคงเพื่อทำให้ประเทศสงบ

สำหรับท่าทีของ ผบ.ทบ.วางเป้าหมายให้ทุกคนทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ มุมมองเรื่องนี้อาจทำให้มีความคิดที่สวนทางกัน ขณะที่ชาวบ้านบอกเศรษฐกิจไม่ดี กินอยู่ลำบาก แต่ทหารที่ดูแลความมั่นคงบอกว่าจะต้องมีอาวุธ ดูเรื่องเรือดำน้ำ เรื่องง่ายๆ ทำไมทหารไม่คิดเหมือนชาวบ้าน แล้วทหารจะทำให้ชาวบ้านไว้ใจได้อย่างไรว่าจะนำพาประเทศไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง ขณะที่ทหารมุ่งมั่นทิศทางของความสงบเพียงประการเดียว แต่อย่าลืมว่าถ้าประเทศสงบแต่ไม่มีกิน ก็คงอยู่ไม่ได้ ไม่ต้องคิดไปไกลว่าในระยะ 3-5 ปี ทหารจะเดินออกไปจากการเมือง เพราะที่ผ่านมาผู้นำ 6 ตำแหน่งได้รับการแต่งตั้งเข้าไปเป็น ส.ว.แล้วจะออกมาได้อย่างไร ถ้าถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ทหารจะต้องเข้ามีอำนาจทางการเมือง ในหลักการหรือทฤษฎีทางรัฐศาสตร์มีความพยายามจะกำจัดอำนาจของทหารออกไป และต้องการให้อำนาจในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นของประชาชน ไม่ใช่ทหารเท่านั้นที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เมื่อมองไปถึงบางเรื่อง เช่น เสรีภาพจากการชุมนุมด้วยความสงบก็มีความเห็นต่างกัน แค่ประชาชนมานั่งชุมนุมทหารก็ไม่ไว้ใจแล้ว ที่ ผบ.ทบ.บอกว่ารัฐประหารจะไม่มี ถ้าไม่มีความขัดแย้ง ต้องถามว่าทำไมต้องส่งทหารไปอบรมความมั่นคงให้นักเรียนที่โรงเรียนบางแห่งที่ จ.นครศรีธรรมราช ขณะที่บ้านเมืองไม่มีศึกสงครามและไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงว่าการเข้ามามีอำนาจในเวลา 6 ปี ได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ถ้าทำสำเร็จคงไม่มีคนคิดจะออกมาเคลื่อนไหวเต็มบ้านเต็มเมืองใช่หรือไม่

ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ไขรหัสคำพูด‘บิ๊กบี้’ ‘เงื่อนไขปฏิวัติเป็นศูนย์’

จากคำให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ทบ. ในทางมิติของความมั่นคง มีความไม่แน่ชัดของข้อมูลและมองว่าเป้าหมายในอนาคตสูงสุด ท้ายที่สุดแล้วยังไม่มีความไว้วางใจต่อสถานการณ์ ฉะนั้น คำตอบจึงออกมาในลักษณะมีเงื่อนไขหรือมีข้อแม้ ความขัดแย้งทางด้านการเมืองเปรียบเหมือนมะเร็ง ถ้านำการรัฐประหารไปแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนเอาคนไปฉีดคีโม ทำกี่ครั้งๆ เซลล์ก็อ่อนแอ ผมก็หลุดร่วง และแพ้ภัยตัวเองในท้ายที่สุด เวลาเราแก้ไขปัญหาเรื่องมะเร็งในมิติความมั่นคง โดยเฉพาะการรัฐประหาร เราคิดว่าควรจะมีเครื่องมือแบบอื่นที่มีวิธีคิดที่แปลกใหม่ ฉีกไปจากธรรมเนียมปฏิบัติในปัจจุบัน ท้ายที่สุดการปรับตัวของสถาบันการเมืองของไทยในทุกๆ แบบ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่เราต้องมองภาพร่วมกัน

ในขั้นต้นมันคืออยู่กับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการเมืองของประเทศต่างๆ ซึ่งมีประเทศเกิดใหม่มีลักษณะที่คล้ายกับประเทศประชาธิปไตยในตะวันตก ซึ่งพลเรือนสามารถควบคุมทหารได้ทั้งในแง่นโยบายและการบริหาราชการต่างๆ แต่พัฒนาการด้านประวัติศาสตร์ของไทย หลังจากที่กลายเป็นอาณานิคมเอง สถาบันหนึ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่คือสถาบันทหาร ซึ่งได้กลายเป็นกลไกหลักของการสร้างรัฐ และที่สำคัญคือมีเงื่อนไขทางด้านการเมืองที่ทหารเข้ามาเกี่ยวพัน แต่เราก็ไม่สามารถฟันธงว่าประวัติศาสตร์ด้านการเมืองทั้งหมดจะมีส่วนทำให้ทหารสามารถพูดเรื่องการเมืองได้ แต่ในแง่หนึ่งเราต้องเข้าใจว่านัยหรือการมองภัยคุกคามด้านความมั่นคง สถาบันทหารของประเทศต่างๆ มองอย่างไร นี่คือสิ่งที่น่าสนใจกว่า เพราะสถาบันทหารในทุกประเทศก็ทำการปกป้องความมั่นคงของประเทศ ฉะนั้น การมองว่าอะไรเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง นี่เป็นคำถามใหญ่ต่อการทำหน้าที่ของสถาบันทหาร สำหรับประเทศไทย คิดว่าสิ่งหนึ่งที่เราต้องขยายภาพด้านความมั่นคงต่อไปในอนาคตคือเราคงไม่สามารถมองความวุ่นวายทางการเมืองในฐานะภัยความมั่นคงได้แต่เพียงอย่างเดียว แต่เราต้องมองภัยความมั่นคงใหม่ๆ ด้วย นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าภัยความมั่นคงเชิงผสมผสานหรือภัยคุกคามด้านความมั่นคงเชิงอสมมาตร ซึ่งมีความซับซ้อนฉะนั้น การใช้เครื่องมือแบบเดิมๆ อย่างรัฐประหาร ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยคุกคามด้านความมั่นคงพันธุ์ผสมที่มีลักษณะซับซ้อนแบบนี้ได้

บุญทา ชัยเลิศ
นักวิชาการอิสระ

ไขรหัสคำพูด‘บิ๊กบี้’ ‘เงื่อนไขปฏิวัติเป็นศูนย์’

เป็นแนวคิดที่ถูกต้องและเป็นแนวทางที่ทำได้ที่ไม่นำทหารยุ่งการเมือง เพราะหากเกิดความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรงแล้วทหารออกมาปฏิวัติหรือรัฐประหารยึดอำนาจอีก จะส่งผลให้ประเทศถอยหลัง เชื่อว่าคงทำได้ยากขึ้นประชาชนคงไม่ยอม เพราะหมดความอดทนต่อการสืบทอดอำนาจของทหารและเครือข่ายกลุ่มผลประโยชน์แล้ว ประเด็นที่ ผบ.ทบ.คนใหม่เรียกร้องประชาชนให้ปฏิรูปตนเองก่อนนั้น มองว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง เพราะประชาชนปฏิรูปตัวเองนานแล้ว แต่กองทัพไม่เคยปฏิรูปตัวเอง ทั้งที่ประชาชนเรียกร้องมานานแล้ว ยังจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์เหมือนเดิม ดังนั้น ทหารและระบบราชการควรปฏิรูปตนเองก่อน เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตซึ่งรุนแรงกว่าทุกสมัย เพราะมีกฎหมายลบล้างมลทินหรือลบล้างความผิดไว้แล้ว ที่สำคัญชนชั้นนำ ผู้มีอำนาจ และเครือข่ายกลุ่มผลประโยชน์ ควรลดบทบาทและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เสมอภาค ยอมถอยเพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้า แล้วประชาชนจะเคารพศรัทธาเองโดยไม่ต้องบังคับ ครอบงำหรือชี้นำใดๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image