อ่านเต็มๆ ! เอกสาร “เครือข่ายภาคประชาสังคม-นักวิชาการ” ยื่น “บิ๊กตู่” ปมชุมชนป้อมมหากาฬ

จากรณีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนกลุ่มชุมชนชาวป้อมมหากาฬ  จำนวน 15 คนนำโดยนางภารณี สวัสดิรักษ์ วัตถุประสงค์เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเสนอแนวทางการรักษาคุณค่าพื้นที่  (อ่านข่าว ชุมชนป้อมมหากาฬ ยื่น 5 ข้อเสนอให้’บิ๊กตู่’ช่วยอนุรักษ์สมบัติชาติ)

หนังสือดังกล่าวที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

จากสถานการณ์ที่ทางกรุงเทพมหานครได้กำหนดระยะเวลาในการเข้าดำเนินการกับชุมชนป้อมมหากาฬแล้วนั้น

เครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง เป็นเครือข่ายขององค์กรและนักวิชาการอิสระที่ติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างกรุงเทพมหานคร กับชุมชนป้อมมหากาฬ มาอย่างยาวนาน

Advertisement

เครือข่ายฯ เชื่อว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ยังมีทางออกสำหรับทุกฝ่าย เครือข่ายฯ จึงได้จัดทำจดหมายเปิดผนึกเพื่อเสนอแนวทางในการรักษาคุณค่าพื้นที่ประวัติศาสตร์ชานพระนครให้เป็นสมบัติชาติ เพื่อเสนอต่อ ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โดยเครือข่ายฯ เห็นว่า นโยบาย “ประชารัฐ” ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลที่ได้กำหนดขึ้นนี้ จะสามารถนำมาเป็นมาตรการในการแสวงหาทางออกเพื่อแก้ไขและลดปัญญาข้อโต้แย้งที่ดีร่วมกันได้ โดยขอกราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้โปรดมีคำสั่งให้กรุงเทพมหานครหยุดการเข้าครอบครองที่ดินพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าของเมืองอันเป็นที่ตั้งชุมชนป้อมมหากาฬไว้ก่อน และโปรดพิจารณาข้อเสนอของเครือข่ายฯ ดังนี้

๑. ขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ สั่งการให้มีการดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคี ที่มีตัวแทนมาจากทุกภาคส่วนในสังคม เช่น ภาคราชการ ภาคชุมชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชนและภาควิชาการ เพื่อศึกษาข้อมูลแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนบนพื้นฐานความเป็นธรรมาภิบาล

Advertisement

๒. ขอให้มีการศึกษาผังเมืองและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบ้านไม้โบราณในสมัยรัชกาลที่ ๓ ในชุมชน วิถีชุมชนและการใช้พื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมือง ทั้งเป็นสมบัติของชาติ ให้ได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีวิถีชุมชนรวมอยู่ด้วย และเพื่อปรับใช้เป็นแนวทางการทบทวนปรับปรุงแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ซึ่งกำลังจะมีการจัดทำใหม่อยู่แล้ว

๓. ในระหว่างการศึกษาในข้อ ๒ และกระบวนการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการพหุภาคีนี้ ขอให้กรุงเทพมหานครหยุดดำเนินการไล่รื้อและอื่นๆ ที่เกี่ยวกับชุมชนป้อมมหากาฬอันจะส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวบ้านและชุมชนป้อมมหากาฬ

๔. ขอให้นำผลการศึกษาของคณะกรรมการพหุภาคี มาปรับพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ภายใต้ข้อเสนอดังกล่าว ขอให้คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ทาง ฯพณฯ เห็นสมควรได้ทำหน้าที่เป็นกลไกกลางในการสร้างกระบวนการพูดคุยหาทางออกอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะป้อมมหากาฬให้เป็นสวนสาธารณะประวัติศาสตร์ที่ชุมชนป้อมมหากาฬมีส่วนร่วมในการพัฒนา

๕. ขอให้นำตัวอย่างกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างมีธรรมาภิบาลในการจัดทำแผนพัฒนาและการบริหารจัดการพื้นที่ประวัติศาสตร์ของชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนที่มีกลุ่มบ้านไม้โบราณ สมัยรัชกาลที่ ๓ และชุมชนดั้งเดิมหรือชุมชนประวัติศาสตร์อื่นทั้งที่อยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์หรืออยู่โดยรอบทั่วไป เป็นกรณีศึกษาในการขยายผลในเรื่องกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาและบริหารจัดการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งรายได้สำคัญของประเทศต่อไป

ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง ตระหนักดีว่า การอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ : กลุ่มบ้านไม้โบราณสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งนี้ เป็นหน้าที่ของชุมชนป้อมมหากาฬและคนไทยทุกคน เพื่อให้ “พื้นที่ประวัติศาสตร์” แห่งนี้ ได้รับการดูแลรักษาอย่างยั่งยืน รายชื่อที่ปรากฎในเอกสารแนบท้าย พร้อมเอกสารเสนอแนวทางการลดปัญหาข้อโต้แย้งระหว่างกรุงเทพมหานครกับชุมชนป้อมมหากาฬ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
เครือข่ายภาคประชาสังคม
และนักวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมือง

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 59

 

แถลงการณ์-ภาพ01

แถลงการณ์-ภาพ02

แถลงการณ์-ภาพ03

แถลงการณ์-ภาพ04

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image