โฟกัส ผู้ว่าฯกทม. เลือกตั้งท้องถิ่น อันดับบ๊วย

โฟกัส ผู้ว่าฯกทม. เลือกตั้งท้องถิ่น อันดับบ๊วย

สัญญาณจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ไฟเขียวว่าจะให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยจะเริ่มต้นที่สนามเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศก่อน

โดยวันเลือกตั้งอยู่ระหว่างให้ กกต.ไปประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งอีกครั้ง ไทม์ไลน์คร่าวๆ ที่ กกต.เตรียมการไว้ คือ วันที่ 13 ธันวาคม กับวันที่ 20 ธันวาคมนี้

แต่ในสนามเมืองกรุง โดยเฉพาะศึกเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางเอาไว้ คงจะได้กาบัตรกันในคิวสุดท้ายของการเลือกตั้งท้องถิ่น เร็วสุดอาจเป็นช่วงกลางปี 2564 หรืออย่างช้าก็อาจลากยาวไปถึงปลายปี 2564

ที่ต้องโฟกัสศึกชิงผู้ว่าฯกทม.ในรอบนี้ เพราะจะเป็นการวัดกระแสความนิยมของพรรคการเมืองในพื้นที่เมืองหลวง รวมทั้งการเมืองของคนกรุงว่าจะเลือกผู้สมัครจากพรรคไหน

Advertisement

เพราะสนามผู้ว่าฯกทม. ถูกแช่แข็งยาวนานมา 4 ปีเต็ม หลังจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งตามอำนาจในมาตรา 44 เด้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 พร้อมกับตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯกทม. ขึ้นเป็น ผู้ว่าฯกทม. ทำหน้าที่มาจนถึงปัจจุบัน

หากจะย้อนดูจากกระแสการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ในพื้นที่ กทม.ทั้ง 30 เขต ต้องถือว่าเกิดปรากฏการณ์พลิกล็อก ครั้งใหญ่ เพราะแชมป์เก่าเจ้าของพื้นที่ กทม. อย่างพรรค ปชป.ถูกพรรคหน้าใหม่ อย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คว้าไป 12 ที่นั่ง และอดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้ 9 ที่นั่ง รวมทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) ชนะไป 9 ที่นั่ง
จนพรรค ปชป.ต้องแพ้ในทุกเขตเลือกตั้ง ไร้ ส.ส.พรรคสีฟ้า เป็นปากเป็นเสียงให้กับพี่น้องชาว กทม.

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในครั้งนี้ นอกจากพรรค ปชป.จะต้องส่งผู้สมัครมาช่วงชิงฐานเสียงในพื้นที่ กทม.คืน ยังเป็นการวัดกระแสความนิยมของพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 อีกด้วย เพราะจะต้องชิงชัยกับผู้สมัครที่ประกาศตัวมาก่อนใครเพื่อนว่าจะลงรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระ

Advertisement

อย่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่กลับมาสมัครในนามของพรรค พท. ส่งผลให้ พรรค พท.ต้องเจอกับอีกโจทย์ใหญ่ เพราะต้องหาผู้สมัครมาชิงชัยกับ “ชัชชาติ” เพื่อรักษาฐานเสียงในพื้นที่ กทม. รวมทั้งจะต้องมาสู้กับพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มาพร้อมกับกระแสคนรุ่นใหม่ อย่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.) หรืออดีตพรรค อนค.ที่ประกาศตัวว่าจะส่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.แน่นอน เท่ากับว่า ในกลุ่มฐานเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ไม่เลือกตั้งพรรค ปชป. และพรรค พปชร. จะต้องมาตัดคะแนนกันเองแบบ 3 เส้า

ขณะที่ฐานเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องเจอกับสภาพการตัดคะแนนกันเอง ระหว่าง ปชป. กับ พปชร. โดยบุคคลที่ประกาศตัวลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. นอกจาก “ชัชชาติ” ที่ประกาศตัว โชว์จุดยืนชัดเจนว่าลงสมัครในนามอิสระแล้ว ยังมีชื่อของ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่คาดว่าจะลงรับสมัครเลือกตั้ง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเลือกสังกัดพรรค หรือลงแบบอิสระ ประเด็นสำคัญของแต่ละพรรคที่จะชิงชัยศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. นั่นคือ การเฟ้นหาตัวบุคคล ในสเปกที่ “ดี เด่น ดัง” พร้อมลงสนามสู้กับ “ชัชชาติ” ที่ชิงทำพื้นที่ไว้ก่อนใคร
ในส่วนพรรค พท.คงต้องรอการประชุมเฟ้นหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.จาก “คุณหญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ว่าจะคัดเลือกใครมาลงรับสมัครเลือกตั้ง หรือจะตัดสินใจลงชิงชัยผู้ว่าฯกทม.ด้วยตัวเอง

ขณะที่พรรค ก.ก. “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” โฆษกพรรค ก.ก. เล่าถึงความพร้อมและคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ของพรรคว่า 1.มีวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ ต้องมีความกระตือรือร้นเมื่อคนกรุงเทพฯ ประสบกับปัญหามากกว่าผู้ว่าฯกทม. คนปัจจุบัน นอกจากนี้จะต้องมองปัญหาของคนกรุงเทพฯ เป็นปัญหาของตัวเอง มองคนกรุงเทพฯ เป็นเหมือนเพื่อนพ้องและญาติมิตร เหมือนเพลงของวงดีทูบี ที่ชื่อว่านายเจ็บฉันเจ็บ ไม่ใช่เพื่อนเจ็บแล้วตัวเองไม่เจ็บแบบนี้ก็ไม่เอา

2.ต้องมีความทันสมัย ที่มีมุมมองในการพยายามทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเหมือนมหานครใหญ่ของโลกเหมือนโซลของประเทศเกาหลีใต้ โตเกียวของประเทศญี่ปุ่น หรือนิวยอร์กของประเทศสหรัฐอเมริกา ความจริงเป็นแบบนั้นได้ แต่ที่ผ่านมาไม่พยายามที่จะเป็นอย่างนั้นเท่านั้นเอง

และ 3.ต้องทำงานร่วมกับพรรค ก.ก. เพื่อแก้ปัญหาทางด้านนิติบัญญัติ
เพราะต้องยอมรับว่ากรุงเทพมหานครได้เท่านี้เพราะกฎหมายอนุญาตให้อำนาจได้เท่านี้ คือผู้ว่าฯกทม. มีอำนาจจำกัด ยกตัวอย่าง เรื่องรถเมล์ที่ปัจจุบันขึ้นตรงต่อกระทรวงคมนาคม ทั้งที่วิ่งรับส่งคนกรุงเทพฯ แต่ กทม.ไม่สามารถเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถให้มีประสิทธิภาพที่สนองการเปลี่ยนแปลงของชุมนุม หรือหากผู้ว่าฯกทม.จะย้ายเสาไฟสักหนึ่งต้น จะต้องไปขออนุญาตการไฟฟ้านครหลวง สะท้อนความไม่เป็นเอกภาพในด้านการจัดการ ดังนั้นจึงต้องแก้กฎหมายต่างๆ

“กก.บห.ได้ตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกับ ส.ส.กทม. และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. ของพรรค รับผิดชอบการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. ทั้งผู้ว่าฯกทม. และสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นโยบายหลัก คือ คืนอำนาจให้คนกรุงเทพฯ เพราะปัจจุบันคนกรุงเทพฯ เป็นเพียงผู้เช่าอยู่หรือไม่ ถ้าพรรค ก.ก.ต้องการเป็นความหวังของคนกรุงเทพฯอย่างแท้จริง ไม่จำเป็นต้องคุยกับพรรคการเมืองอื่นที่จะส่งผู้สมัครเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องให้คนกรุงเทพฯที่อยากจะเลือกเรา แต่เลือกเราไม่ได้เพราะไม่ส่ง ส.ก.ในเขตนั้น จึงต้องไปเลือกอีกพรรคหนึ่ง ดังนั้น หากจะอยู่ในสนามเลือกตั้งแล้ว ยืนยันว่าจะปฏิญาณตนเป็นทางเลือกหลักของคนกรุงเทพฯ จึงต้องพร้อมส่ง ส.ก.ลงทุกเขต เพราะการไปฮั้วกันมันเป็นการไม่ให้เกียรติประชาชน” วิโรจน์ ยืนยันถึงจุดยืน

สุดท้ายเมื่อปี่ กลอง ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ประกาศชัดว่าจะให้กาบัตรกันวันใด ช่วงนั้นคงได้เห็นหน้าค่าตาผู้สมัครของแต่ละพรรค รวมทั้งผู้สมัครอิสระว่าจะมีใครบ้างที่จะเสนอตัวมารับใช้ประชาชนชาว กทม.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image