บทนำ : ความรุนแรงในร.ร.

การเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา เรียกร้องประชาธิปไตย ของมวลนักเรียน มีการทำกิจกรรมในเนื้อหาคล้ายๆ กันทั่วประเทศ เกิดขึ้นควบคู่กับข่าว ครูอาจารย์ พยายามสกัดขัดขวาง ลงโทษนักเรียน จนถึงไล่ออกจากโรงเรียน ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ฯลฯ เป็นปรากฏการณ์ที่ควรจับตา และวิเคราะห์หาสาเหตุ เมื่อเร็วๆ นี้ พญ.วนิดา เปาอินทร์ หัวหน้าหน่วยดูแลเด็กถูกทำร้าย โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และตัวแทนจากภาคประชาชนกว่า 20 คน ยื่นหนังสือถึงนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เสนอมาตรการหยุดการใช้ความรุนแรงเพื่ออบรมนักเรียน

พญ.วนิดากล่าวว่า มาตรการที่เสนอมี 9 ข้อ อาทิ ไม่ให้โรงเรียนใช้พฤติกรรมรุนแรงต่อเด็ก ด้วยกาย วาจา อารมณ์ ครู และเจ้าหน้าที่ทุกคน เซ็นรับทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช้ความรุนแรงกับนักเรียน ถ้าพิสูจน์ว่ามีครู หรือบุคลากรกระทำจริงจะไม่มีโอกาสได้ทำงานในโรงเรียนนี้อีก ไม่มีการขอโทษยอมรับผิด และให้ทำงานต่อเจ้าหน้าที่และครูที่เห็นเหตุการณ์ และไม่เข้าช่วยเหลือไม่แจ้งเหตุแก่ผู้บริหารโรงเรียน จะถือเป็นความผิด อบรมเด็กทุกคนให้เป็นผู้แจ้งเหตุโดยทันที รวมถึงแต่งตั้งนักเรียน เช่น หัวหน้า รองหัวหน้าห้อง ให้ทำหน้าที่แจ้งเหตุ ติดวงจรปิดตามที่ต่างๆ ที่นักเรียนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในห้อง นอกห้อง มีผู้เฝ้าดูวงจรปิดและแจ้งทันทีเมื่อเกิดเหตุขึ้นผู้บริหารโรงเรียน ที่ไม่สามารถดูแลให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าว ถือว่าละเลยต่อหน้าที่ และนับเป็นความผิด เพิ่มทักษะครูให้มีวิธีการทางบวกในการอบรมเด็ก โดยเฉพาะครูฝ่ายปกครองและครูที่เชื่อว่าจำเป็นต้องลงโทษด้วยการตี หรือดุด่าเท่านั้นจึงจะได้ผล

ถือเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจและเชื่อว่า หากกระทรวงศึกษาธิการสามารถทำให้ครูอาจารย์และบุคลากรปฏิบัติตามได้ น่าจะทำให้บรรยากาศของโรงเรียนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี หัวใจสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้น คือ ประชาธิปไตยในโรงเรียน ที่จะต้องเกิดขึ้นนักเรียนต้องมีสิทธิเสรีภาพ และครูอาจารย์ต้องยอมรับในสิทธิของเด็ก การเรียนการสอน ต้องเป็นไปด้วยหลักเหตุผล ขณะที่สังคมประเทศในภาพรวมก็ต้องเป็นประชาธิปไตย เพื่อเป็นต้นแบบให้กับสังคมโรงเรียนและสังคมอื่นๆ ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image