งานวิจัย ม.สแตนฟอร์ด เปิดหลักฐาน 4 ธีมหลัก บัญชีไอโอ เชิดชูทหาร-โจมตีอนาคตใหม่

กรณีทวิตเตอร์รายงานการตรวจสอบเครือข่ายปฎิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือไอโอ (information operation) โดยพบกลุ่มเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหลายชาติ ทั้งอิหร่าน, ซาอุดิอาระเบีย, คิวบา, รัสเซีย, และโดยเฉพาะประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ทวิตเตอร์ระบุว่า ตรวจพบบัญชีกลุ่มใหญ่ที่ทวิตเตอร์เชื่อมโยงกับกองทัพบกไทยได้อย่างชัดเจน” รวม 926 บัญชี กลุ่มบัญชีเหล่านี้พยายามแพร่กระจายเนื้อหาชื่นชมกองทัพบกไทยและรัฐบาล ไปพร้อมกับโจมตีบุคคลทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม

ต่อมามีความเห็นชี้แจง จากกองทัพบก โดย พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองเสนาธิการกองทัพบก ในฐานะ โฆษก ทบ. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุว่า ได้ประสานงานยืนยันกับทางทวิตเตอร์ไปแล้วว่า ทบ. ไม่ได้ใช้งานทวิตเตอร์ในลักษณะตามที่ถูกกล่าวหา ในส่วนของทวิตเตอร์ที่เป็นของกองทัพบกยืนยันว่าใช้ประชาสัมพันธ์งานของกองทัพบกเท่านั้น ทั้งนี้ทวิตเตอร์ที่อยู่ในระบบของกองทัพบกมีการใช้แบบเปิดเผยชัดเจน โดยมีศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบกที่เป็นคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ดูแลควบคุมการใช้สื่อโซเชียลของกองทัพบก หน่วยขึ้นตรงกองทัพบก รวมถึงหน่วยระดับกองพล และกองพันลงไป โดยมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน

วันเดียวกัน  Stanford Internet Observatory ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัย ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยรายงานการเก็บข้อมูล ความยาว 33 หน้า  ใช้ชื่อว่า “การนำเชียร์แบบไร้กองเชียร์ : ปฎิบัติการข้อมูลข่าวสารประสิทธิภาพต่ำของกองทัพไทย”  ใจความสำคัญ คือการเปิดให้เห็นว่า บัญชีทวิตเตอร์กว่าพันบัญชีที่ถูกปิดไปนั้น เป็นปฎิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ ปฎิบัติการไอโอ มีการเก็บสถิติ ลักษณะบัญชีทวิตเตอร์ต่างๆ ลักษณะการทวิตข้อความ การติดแฮชแท็ก และความถี่ในการเมนชั่นบัญชี

Advertisement

โดยมีตัวอย่าง “ธีม” หรือชุดความคิดเชื่อหลักในการปฎิบัติการอยู่ 4 เรื่อง คือ

1.การเชิดชูผู้นำ-กิจกรรมกองทัพ

ข้อความในทวิตเตอร์ของบัญชีจัดตั้งที่ถูกปิดไป โดยทั่วไปมีข้อความเกี่ยวข้องกับการเชิดชูกองทัพและผู้นำทางการทหาร งานวิจัยมีการยกตัวอย่างพร้อมทั้งการนับจำนวนครั้ง แฮชแท็ก ซึ่งบัญชีทวิตเตอร์ที่ถูกจัดตั้งของกองทัพใช้เป็นแฮชแท็ก เช่นตัวอย่างแฮชแท็ก #ทหารเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกโอกาส #กองทัพบกเพื่อประชาชน #กองทัพบกช่วยเหลือประชาชน

Advertisement

หรือแม้แต่กิจกรรมกองทัพอย่างการฝึกร่วมไทย สหรัฐฯ ก็มีการผุดแฮชแท็ก #กองทัพบกไทยฝึกร่วมกองทัพบกสหรัฐฯ #เริ่มแล้วหนุมานการ์เดีย, ก็มีการนับสถิติที่บัญชีทวิตที่ถูกจัดตั้ง ไปรีทวิต โพสต์ข้อความเผยแพร่ เป็นต้น

นอกจากรีทวิต กดชื่นชอบ บัญชีทวิตเตอร์เครือข่ายดังกล่าว ยังมีการแสดงความเห็นชื่นชมตามโพสต์ต่างๆของโพสต์ชื่นชมผลงานประชาสัมพันธ์ของกองทัพอีกด้วย

บัญชีประชาสัมพันธ์ทางการของกองทัพ ที่มา- Stanford Internet Observatory
ตัวอย่างโพสต์ข้องบัญชีประชาสัมพันธ์กองทัพที่โพสต์ข้อความประชาสัมพันธ์ โดยผู้รีทวิต แชร์โพสต์ คือบัญชีที่ถูกจัดตั้ง ที่มา -Stanford Internet Observatory
ตัวอย่างบัญชีจัดตั้งที่ถูกปิด โพสต์ข้อความชื่นชมโพสต์ประชาสัมพันธ์กองทัพ ที่มา Stanford Internet Observatory

2.การพยายามทำให้เป็นกลาง กรณีมีกระแสวิจารณ์กองทัพ จากกรณีกราดยิงโคราช

กรณีนี้ เกิดจากกรณีทหารชั้นประทวนของไทยรายหนึ่ง ที่ก่อเหตุกราดยิงกลางเมือง โดยเป็นการกราดยิงที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ผู้ก่อเหตุเป็นทหาร และใช้อาวุธของกองทัพมากระทำการ จนกองทัพรวมถึงรัฐบาล ถูกวิจารณ์อย่างมาก จากปัญหาต้นเหตุที่เกิดขึ้น ในทวิตเตอร์มีการผุดแฮชแท็ก ปฎิรูปกองทัพ และวิจารณ์นายกฯ จนขึ้นเป็นเทรนด์ของประเทศ เกิดเป็นกระแสปฎิรูปทหาร กรณีนี้ จากงานวิจัยเก็บข้อมูล พบว่า บัญชีที่ถูกจัดตั้งนั้น พยายามเบี่ยงประเด็นในการวิจารณ์กองทัพ หรือโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้น ไปเป็นการวิจารณ์เรื่องอื่น เช่นการทำงานของสื่อมวลชน การเผยแพร่เฟกนิวส์ ความไม่เป็นมืออาชีพ ความไร้จรรยาบรรณในการทำงานของสื่อมวลชน นอกจากนี้ยังผลิตคอนเท้นท์ที่ว่าด้วยเรื่องการรับผิดชอบของกองทัพ ในการปกป้องประชาชน โพสต์เนื้อหา สร้างบทสนทนาใหม่ในการพูดถึงเหตุกราดยิงให้ห่างจากการวิจารณ์กองทัพ โดยมีบัญชีทางทวิตเตอร์ที่ถูกจัดตั้ง ช่วยรีทวิต ชื่นชม และเผยแพร่ข้อมูล

ตัวอย่างโพสต์ข้อบัญชีจัดตั้งที่ถูกปิด โพสต์ชื่นชมโพสต์ของบัญชีจัดตั้ง กรณีเหตุเกี่ยวเนื่องจากการกราดยิงโคราช ที่มา – Stanford Internet Observatory
ตัวอย่างโพสต์ของบัญชีจัดตั้งที่ถูกปิด ร่วมรีทวิตโพสต์ของบัญชีจัดตั้ง กรณีเหตุเกี่ยวเนื่องจากการกราดยิงโคราช โดย 29 ครั้งที่ถูกรีทวิต รีทวิตโดยบัญชีที่ถูกจัดตั้งนั่นเอง ที่มา – Stanford Internet Observatory

3.การวิพากษ์วิจารณ์ พรรคอนาคตใหม่

รายงานของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยดังกล่าว ระบุว่า ประเด็นนี้คือประเด็นหลักในการทำงานของปฎิบัติการไอโอ ทีมวิจัยระบุว่า พรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคฝ่ายค้านหัวก้าวหน้า และกวาดคะแนนเสียงอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหาร โดยเฉพาะจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ต่อมาถูกตัดสินตัดสิทธิ์การเมืองแกนนำพรรค และถูกยุบพรรคตามมา กรณีที่เกิดขึ้นนั้น ถูกองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร ตั้งคำถามต่อการตัดสินดังกล่าว ขณะที่บัญชีทวิตเตอร์ที่ถูกปิดนั้น โพสต์ข้อความตั้งคำถามเชิงโจมตีอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผลต่อโพสต์ของพรรคอนาคตใหม่ หรือบุคคลแกนนำของพรรค เช่น การด่าว่าไม่มีการศึกษา การแสดงความเกลียดชัง ด่าว่าไร้ประโยชน์ ขอให้หยุด ทั้งยังมีการนับสถิติการเมนชั่นถึงแกนนำของพรรค ผู้สมัครของพรรค และโพสต์ของพรรคจำนวนมาก ในลักษณะโจมตี

งานวิจัยดังกล่าว ยกตัวอย่างบัญชีทวิตเตอร์ที่ถูกปิดและข้อความ อาทิ

@Rorscha24745488 กฏหมายระบุว่าผิด ศาลตัดสินว่าผิด มันก็คือผิด จบปะ
@CandyCo20314571 (02-22-2020): “แถลงก็แค่นั้นแหละค่ะ ศาลตัดสินไปแล้ว
@YwFeStp57kThm1x (02-22-2020): “ สำหรับผม ผมว่าศาลอ่านคำตัดสินได้ขาด นะ แต่อนาคตใหม่งอแง
@singhaordoggy (02-19-2020): “@JuahuaHeadline สรุปเองนักเลงพอ…ศาลท่านยังไม่ตัดสิน พี่กะปิ แถลงปิดคดีเอง เก่งจริง ๆ

ตัวอย่างโพสต์ข้อบัญชีจัดตั้งที่ถูกปิด โพสต์ด้อยค่าแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ที่มา – Stanford Internet Observatory
ตัวอย่างโพสต์ข้อบัญชีจัดตั้งที่ถูกปิด โพสต์เพื่อสร้างภาพเชิงลบต่อโพสต์ของพรรคอนาคตใหม่ ที่มา – Stanford Internet Observatory
ตัวอย่างโพสต์จากบัญชีจัดตั้งที่ถูกปิด โพสต์สร้างภาพเชิงลบต่อโพสต์ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่มา – Stanford Internet Observatory
ตัวอย่างโพสต์จากบัญชีจัดตั้งที่ถูกปิด โพสต์สร้างภาพเชิงลบต่อโพสต์ของพรรณิการ์ วานิช อดีตเลขาฯพรรคอนาคตใหม่ ที่มา – Stanford Internet Observatory

4.การนำเสนอ สนับสนุน ช่วยเผยแพร่คอนเทนต์เกี่ยวกับโควิด-19 ของกองทัพ

กรณีเกิดการระบาดของโควิด 19 ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างหนัก บัญชีทวิตเตอร์ที่ถูกจัดตั้งดังกล่าว ผลิตข้อความยกย่องกองทัพในการต่อสู้กับโควิด-19 โดยนับสถิติผ่านแฮชแท็กสำคัญ #ไวรัสอู่ฮั่น #ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่2019 #ไวรัสโคโรน่า #ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่2019

รายงานวิจัยดังกล่าวยังเปิดเผยว่า บัญชีที่ถูกจัดตั้งพยายามนำเสนอแถลงการณ์ของนายกฯและของรัฐบาล เกี่ยวกับโควิด 19 โดย ยกตัวอย่าง บัญชีที่ถูกจัดตั้งนับได้จำนวน 12 บัญชี ร่วมกันแชร์โพสต์ชี้แจงจากบัญชีของนายกรัฐมนตรีที่โพสต์เรื่องเกี่ยวกับโควิด-19 นอกจากนั้น ยังมีการแชร์โพสต์ของสเตตัส วิดีโอ กราฟฟิก ประชาสัมพันธ์ต่างๆของกองทัพ

ตัวอย่างโพสต์จากบัญชีจัดตั้งที่ถูกปิด รีทวิตโพสต์ชี้แจงของนายกรัฐมนตรี โดยจากทีมวิจัยนับแล้วมี 12 บัญชี ที่มา – Stanford Internet Observatory
ตัวอย่างโพสต์จากบัญชีจัดตั้งที่ถูกปิด ช่วยกันรีทวิต และ โพสต์สร้างภาพเชิงบวกต่อโพสต์ประชาสัมพันธ์ของกองทัพ ที่มา – Stanford Internet Observatory

ทั้งนี้ รายงานวิจัยการเก็บสถิติดังกล่าว ยังเปิดเผยถึงแทกติกในการทำงานของบัญชีที่ถูกจัดตั้งโดยกองทัพ พบว่ามีการทำงานเป็นเครือข่าย การช่วยกันผลักดันแฮชแท็กที่สร้างขึ้น การขโมยรูปภาพโปรไฟล์ให้น่าสนใจ ปิดบังอำพราง ให้ดูคล้ายคนธรรมดาในการใช้ทวิตเตอร์ รายงานวิจัยยังจัดอันดับ บัญชีทางการของฝ่ายประชาสัมพันธ์กองทัพที่ทำการตอบกลับ หรืออ้างอิงบัญชีทวิตที่ถูกจัดตั้ง พบว่า 20 อันดับ มีถึง 14 อันดับ โดยไม่นับบัญชีแฟนเพจที่ชื่นชมทหารอื่นๆ

รายงานวิจัยดังกล่าวยังระบุว่า ปฎิบัติการทางการเมืองและข่าวสารของบัญชีที่ถูกปิดไปนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่ำมาก มีการเข้าถึงจากผู้ใช้ทวิตเตอร์อื่นๆค่อนข้างต่ำ บัญชีเหล่านั้นมีผู้ติดตามน้อย หรือเป็นการติดตามกันเอง

ตัวอย่างโพสต์จากบัญชีจัดตั้งที่ถูกปิด โพสต์ แชร์ ของความไอโอหลายข้อความในเวลาไม่กี่นาที ที่มา – Stanford Internet Observatory

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image