บทนำมติชน : ย้อนแย้ง

บทนำ ย้อนแย้ง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ หรือแก้ไขยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการลงมติรับรองบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ เป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจ ส.ว.ที่มาจากการเลือกของ คสช.ไว้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการลงมติร่วมกับสภาผู้แทนฯ รับรองบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งปกติ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ทุกพรรคเห็นพ้องต้องกันว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลเอง ได้บรรจุไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน และทุกพรรคร่วมกันเสนอญัตติแก้ไขเข้าที่ประชุมรัฐสภา มีการอภิปราย 2 วัน เมื่อวันที่ 23 และ 24 กันยายน ก่อนจะลงมติ ทาง ส.ว.และวิปรัฐบาลแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาก่อนรับหลักการ 30 วัน ซึ่งเป็นการสร้างขั้นตอนขึ้นมา เพื่อชะลอเวลาออกไป

หลังจากลงมติให้ตั้ง กมธ.ศึกษาอีกครั้ง ทาง ส.ว.ได้แสดงท่าทีตอกย้ำหลายครั้งว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขในส่วนสำคัญ อาทิ การบอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งในความเป็นจริง วิธีนี้เคยใช้มาแล้วในการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยใช้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 ซึ่งร่างโดยสภาจากคณะรัฐประหาร

Advertisement

น่าสังเกตว่า ส.ว.จะอ้างการที่รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการประชามติ มาเป็นอุปสรรคในการแก้ไข โดยไม่กล่าวถึงการลงประชามติที่เกิดขึ้นในบรรยากาศของการควบคุม และจำกัดการแสดงความเห็นและที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติก็ถูกฉีกมาแล้ว และผู้ที่ฉีกรัฐธรรมนูญก็มาแต่งตั้งสภาเลือกตั้งที่กำลังปกป้องรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติอยู่ขณะนี้ เป็นความย้อนแย้งที่น่าเป็นห่วง และน่าสนใจว่า หลังเปิดสมัยประชุมรัฐสภา วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ รัฐสภาโดยวิปรัฐบาลและ ส.ว.จะหลบเลี่ยงการลงมติในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร และด้วยเหตุผลอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image