สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ไอโอ’ ใน ‘ทวิตเตอร์’

‘ไอโอ’ ใน ‘ทวิตเตอร์’

สัปดาห์ที่แล้ว ทางทวิตเตอร์เพิ่งรายงานผลการตรวจสอบเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือ “ไอโอ” โดยพบว่าเครือข่ายดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลของหลายชาติ

ในกรณีของประเทศไทย ทวิตเตอร์ตรวจพบบัญชีผู้ใช้มากถึง 926 บัญชี ที่ “เชื่อมโยงกับกองทัพบกไทยได้อย่างชัดเจน” โดยกลุ่มบัญชีไอโอเหล่านี้ “พยายามแพร่กระจายเนื้อหาชื่นชมกองทัพบกไทยและรัฐบาล ไปพร้อมกับโจมตีบุคคลทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม”

แม้ พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ ในฐานะโฆษก ทบ. จะออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าว และอธิบายว่าทวิตเตอร์ของกองทัพบกมีเพียงบัญชีที่เปิดเผยเป็นทางการ ซึ่งใช้ประชาสัมพันธ์งานของกองทัพเท่านั้น

Advertisement

แต่คำชี้แจงของกองทัพบกก็แลดูมีน้ำหนักเบาบางลงไปในทันตา เมื่อปรากฏเอกสารวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจากสหรัฐอเมริกา ที่วิเคราะห์วิธีการปฏิบัติงานของ “ไอโอไทย” ในทวิตเตอร์อย่างละเอียด

อย่างไรก็ดี หากไม่คำนึงถึงรายงานของทวิตเตอร์กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ และคำชี้แจงของกองทัพ

คนไทยจำนวนมากที่ใช้ทวิตเตอร์ (รวมทั้งโซเชียลมีเดียอื่นๆ) ย่อมสามารถตระหนักได้ด้วยประสบการณ์ของตนเองว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา เรามักพบเห็นแอคเคาต์ “อวตาร-ชื่อปลอม” บัญชีแล้วบัญชีเล่า ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรีพลาย-คอมเมนต์ป่วนนักการเมือง
นักกิจกรรมเคลื่อนไหว และสื่อมวลชน “ฝ่ายประชาธิปไตย”

ในรูปแบบที่เน้นจำนวน ไม่เน้นสาระ เน้นสร้างความรำคาญใจ ไม่เน้นสร้างแรงบันดาลใจใดๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้น ต่อให้ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลจากทวิตเตอร์ ก็น่าเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยคงต้องตั้งคำถามอยู่ในใจตลอดเวลาว่า “แอคเคาต์สายป่วน” เหล่านั้นคือผลงานของใคร?

(จะเชื่อมโยงกับการสร้างเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเข้าขั้น “เฟคนิวส์” ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ดังที่เคยมีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่?)

ยังมีอีก 2-3 ประเด็น ที่น่าตั้งคำถาม-พูดคุยต่อในหัวข้อทวิตเตอร์กับการเมืองไทย

เรื่องแรก หากประเมินจากข่าวสารที่ผ่านมา ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลพูดคุย-เจรจาความกับแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ เช่น เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ “ไม่ค่อยรู้เรื่อง”

สาเหตุคงเนื่องมาจากจุดเน้นที่รัฐบาลไทยมีต่อโซเชียลมีเดีย กับนโยบายที่วางไว้โดยเจ้าของแพลตฟอร์มต่างชาติ (ตลอดจนบรรทัดฐาน-พฤติกรรมของบรรดาผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม) มีความแตกต่างกันอย่างสำคัญ

ปัญหาคือรัฐบาลจะเดินหน้าทำอะไรต่อไปกับแพลตฟอร์มเหล่านี้?

ประเด็นที่สอง ข่าวคราวว่าด้วยการจับผิด “ไอโอไทย” โดยทวิตเตอร์ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากกำลังตื่นตัวกับการศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง พวกเขาได้รับทราบถึงแผนปฏิบัติการจิตวิทยาที่รัฐบาลสหรัฐเข้ามาวางโครงสร้างรากฐานไว้ในประเทศไทยตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ผ่านหนังสือบางเล่ม

เยาวชนเหล่านี้คงสามารถเชื่อมโยงได้ว่า “ไอโอ” ในโซเชียลมีเดีย อาจมีสถานะเป็นมรดกตกทอดมาจากแผนปฏิบัติการจิตวิทยาเมื่อยุคโน้น

แต่ก็เป็นมรดกตกทอดที่เสื่อมประสิทธิภาพลงทุกที (มิหนำซ้ำ ยังถูกจับได้โดยง่ายดาย)

และถ้าเป้าหมายของแผนปฏิบัติการจิตวิทยาหรือปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารต่างๆ คือการเปลี่ยนแปลง/กล่อมเกลาความคิดความเชื่อของผู้คนในสังคมได้อย่างทรงพลังและแนบเนียน

คำถามคือบัญชีทวิตเตอร์ 900 กว่าบัญชีเหล่านั้น สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่? เพียงใด?

ข้อสุดท้าย หาก “ไอโอ” ที่ทุกคนสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในโลกออนไลน์ นั้นมีความเกี่ยวพันกับหน่วยงานภาครัฐใดๆ ก็ตาม สอดคล้องกับรายงานของทวิตเตอร์

เราคงต้องตั้งคำถามพร้อมๆ กันว่า ทำไมเงินภาษีที่เก็บจากประชาชนจึงถูกนำไปใช้งานแบบนั้น? และได้ผลลัพธ์เพียงแค่นั้น?

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image