เลือกตั้ง ‘อบจ.’ ปลุกศก.ท้องถิ่น
หากไม่เกิดอุบัติเหตุพลิกผันสุดคาดหมาย การเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พร้อมกันทั่วประเทศ จะมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดวันที่ 13 ธันวาคม หรืออย่างช้าวันที่ 20 ธันวาคม
ไม่เพียงการเมืองท้องถิ่นกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากว่างเว้นมากว่า 6 ปีนับจากการรัฐประหารของ คสช. ขณะเดียวกันยังช่วยให้ธุรกิจการค้าของแต่ละจังหวัดยังกลับมามีชีวิตชีวาท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา การจับจ่ายใช้สอยฝืดเคือง
ทวิสันต์ โลณานุรักษ์ ที่ปรึกษาหอการค้านครราชสีมา ประเมินเม็ดเงินสะพัดในช่วงฤดูเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ว่า จนถึงขณะนี้ทุกฝ่ายก็ยังไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะเริ่มมีการพูดถึงการลงประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรื่องงบประมาณไม่ค่อยพอ
อย่างไรก็ตาม หากมีการเลือกตั้งนายก อบจ.และสมาชิก อบจ.เกิดขึ้นจริงทั่วประเทศ จะช่วยให้เกิดกระแสเงินสะพัดใน 2 ด้าน
ด้านแรก ตัวผู้ลงสมัครคงต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างจังหวัดนครราชสีมา มี 32 อำเภอ 289 ตำบล 3,743 หมู่บ้าน 737,377 ครัวเรือน ประชากรในทะเบียนบ้าน 2,610,164 คน ตัวเลขนี้ผู้สมัครต้องใช้งบ เพื่อการโฆษณาให้เข้าถึงเป้าหมาย ทั้งป้าย ใบปลิว รถแห่ ทีมงานเคาะประตูบ้าน ทีมติดป้าย ทีมจัดปราศรัย ทีมจัดกิจกรรมต่างๆ ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าอาหาร ค่าแรงงาน อาจมีค่าใช้จ่ายอำเภอละนับสิบล้านบาททีเดียว
ด้านที่สอง การใช้เงินผ่านหัวคะแนน หากคิดค่าลงทุนทุกชนิดต่อคะแนนเสียง ผู้จะชนะการเลือกตั้งต้องหาให้ได้มากกว่า 400,000 คะแนน จ่ายคะแนนละ 2,000 บาท จะเป็นเงิน 800 ล้านบาท ในอดีตเคยมีผู้ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนสูงถึง 600,000 คะแนนมาแล้ว ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้มีเม็ดเงินสะพัดในจังหวัดคึกคักแน่นอน ร้านค้า ร้านอาหาร เตรียมรับเงินการเลือกตั้งกันแล้ว
นายทวิสันต์กล่าวอีกว่า สนามเลือกตั้งนายกและ ส.อบจ.ที่นครราชสีมา จะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดแน่นอน เพราะสนาม อบจ.โคราช มีเดิมพันด้วยงบประมาณสูงสุดของประเทศไทย ปีละเกือบ 4,000 ล้านบาท มี ส.อบจ.ถึง 48 คน การแข่งขันจะไม่มีใครยอมใคร และคงหาเสียงแบบตัวใครตัวมัน คงไม่หาเสียงแบบทีมเหมือนบางจังหวัด ขณะนี้ก็เริ่มเปิดตัวผู้สมัครกันแล้ว การเลือกตั้งนายก อบจ.โคราชครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้กันระหว่างบ้านใหญ่กับบ้านเล็ก
บ้านใหญ่เริ่มเปิดตัวไปแล้ว อย่างรักษาการนายก อบจ.คนล่าสุด ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี และอดีตนายกเช่น “หมอแหยง” นพ.สำเริง แหยงกระโทก ซึ่งจะลงในนามพรรคภูมิใจไทย ส่วนบ้านใหญ่ อ.เสิงสาง ของ นาย
วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เจ้าของโรงแป้งมันเอี่ยมเฮงก็เตรียมส่ง “นางยลดา
หวังศุภกิจโกศล” ภรรยาลงสู้ศึกครั้งนี้ในนามพรรคภูมิใจไทยเช่นกัน แต่ทั้งหมอแหยงและ
นางยลดาก็ขึ้นอยู่กับ “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยจะตัดสินใจส่งใครลง
ส่วนบ้านใหญ่ที่ ต.โครกกรวด อดีตกำนันโคกกรวด สมศักดิ์ กาญจนวัฒนา หรือกำนันเบ้า
มี 2 กุนซือใหญ่คอยสนับสนุน โดยคนแรกคือ นายวิรัช รัตนเศรษฐ จากพรรคพลังประชารัฐ ส่วนอีกคนคือ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นาย
สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ให้การสนับสนุน วันนี้กำนันเบ้าถือว่าเป็นตัวเก็งในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะมีความพร้อมเกือบทุกด้าน
สำหรับผู้สมัครจากบ้านเล็ก นายทวิสันต์ยกให้ “กลุ่มก้าวหน้า” ที่เตรียมส่ง นายสาธิต ปิติวรา ลงแข่งขัน ด้วยนโยบายชวนคนโคราชให้รังเกียจการเมืองจากบ้านใหญ่ ถ้ากระแสเบื่อบ้านใหญ่เข้าถึงหัวใจคนโคราชมีสิทธิล็อกถล่มได้เหมือนกัน
ทางด้าน พรชัย เขมะพรรคพงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาคตะวันออก ระบุว่า การเลือกตั้ง อบจ.จะมีการแข่งขันกันสูงเพียงระดับนายก อบจ. อีกทั้งการใช้เงินในการหาเสียงก็ถูกจำกัด โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการใช้จ่ายได้ไม่มาก แต่ละจังหวัดอาจจะใช้เงินหาเสียงมาก น่าจะไม่เกิน 20-50 ล้านบาทต่อจังหวัด แต่จังหวัดใหญ่อย่างเช่น ชลบุรี หรือระยอง น่าจะมีการใช้จ่ายเงินสูงกว่า ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจได้รับผลดีไม่มาก เพียงแต่จะกระจายลงไปในระดับล่าง
อย่างไรก็ตาม หากเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้ง นายก อบจ. สมาชิกสภาเทศบาลและ อบต.พร้อมกัน จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า การเลือกตั้งเพียงนายก และสมาชิก อบจ.เพียงอย่างเดียว
วโรดม ปิฏกานนท์ ประธานกรรมการหอการค้า จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การเลือกตั้ง
ท้องถิ่นจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบนโยบายต่างๆ จะทำให้เกิดผลดีต่อการจ้างงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ป้ายโฆษณา คัตเอาต์ไวนิล เพื่อติดตั้งให้ประชาชนได้เห็นตามถนนหนทางต่างๆ การจัดเวทีปราศรัย การลงพื้นที่ท้องถิ่นในชุมชน รวมไปถึงการโฆษณาทางออนไลน์ ขบวนรถแห่เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
“ผมว่าดีมาก เพราะจะทำให้เกิดการกระจายเงินลงสู่ท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบการทำประชาสัมพันธ์ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะได้กระจายเม็ดเงินลงพื้นที่ได้จริงตามงบประมาณที่แต่ละพรรคการเมืองได้ตั้งตามเกณฑ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง”
ส่วนรูปแบบของการดำเนินนโยบายหาเสียง นายวโรดมกล่าวว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจอยากเห็น คือ แต่ละกลุ่มการเมืองต้องแข่งขันกันในเชิงนโยบาย ไม่อยากให้มีการสาดสีใส่กัน แต่อยากให้บอกออกมาว่าจะพัฒนาเชียงใหม่อย่างไร ทิศทางการบริหารเมืองเศรษฐกิจท่องเที่ยวแห่งนี้อย่างไร รูปแบบไหน อยากให้ประกาศให้ชัดเจนเป็นนโยบาย เป็นการแข่งขันกันแบบเชิงสร้างสรรค์ และภายหลังการเลือกตั้ง เมื่อได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนที่ไว้วางใจแล้ว ขอให้เร่งขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่ให้เดินหน้า แบบตั้งใจเข้ามาพัฒนาเชียงใหม่จริงๆ ตามนโยบายที่ประกาศไว้เพื่อความเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และคนเชียงใหม่จริงๆ
สุทัศน์ เลิศมโนรัตน์ ที่ปรึกษาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดเงินหมุนเวียนช่วยกระตุ้นการบริโภคในระดับหนึ่ง อาทิ มีการใช้บริการรถแห่ การพิมพ์ป้ายไวนิล มีการจ้างงานในพื้นที่เกิดขึ้น ซึ่งการเลือกตั้ง อบจ.ในปีปลายปีนี้ เป็นการเลือกตั้งทั่วประเทศ 76 จังหวัดพร้อมกัน และในปีหน้า 2564 ที่จะมีการเลือกตั้งอีกหลายระดับตามมาทั้งเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมไปถึงเขตเมืองพิเศษและกรุงเทพฯ ก็จะเกิดการเคลื่อนไหวคึกคักขึ้น และจะเป็นตัวเร่งให้ประชาชนเกิดการเลือกเฟ้นคนที่จะเข้ามาทำงานได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับคงทำพร้อมกันไม่ได้ เพราะจะเกิดความชุลมุนวุ่นวาย กกต.คงต้องทำไปทีละขั้นตอน และจะเป็นบทเรียนจากปัญหาจัดการเลือกตั้งเพื่อนำมาแก้ไขตามความเหมาะสม เพราะการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะมีการประท้วงคัดค้าน
การเว้นเลือกตั้งแต่ละระดับห่างกัน 60 วันก็เหมาะสมแล้ว ทำให้กระแสการเลือกตั้งมีความต่อเนื่องเพียงแต่เปลี่ยนเวทีกันไป จากการเลือกตั้งในภูมิภาคแล้วไปสิ้นสุดที่
ผู้ว่าฯ กทม.