แบ่งให้โง่ คอลัมน์ โลกนี้มีรากหญ้า โดย ภาคภูมิ ป้องภัย

ผมได้อ่านบทความของทีมวิจัยทีดีอาร์ไอเรื่อง “การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม : ทางลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นไปได้” ในหนังสือพิมพ์ “กรุงเทพธุรกิจ” เมื่อสัปดาห์ก่อน ทีมงานวิจัยนำข้อเสนอแนะของธนาคารโลก เรื่อง “การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม” มาต่อยอดทำวิจัยเรื่องนี้ในประเทศไทย

ผลวิจัยพบปัจจัยสำคัญ 4 ด้านที่จะช่วยให้การเติบโตอย่างมีส่วนร่วมของไทยก่อให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น ก่อให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันและสร้างโอกาสอย่างเสมอภาคกันระหว่างคนทุกกลุ่มใน ได้แก่

1.ภาคการเงิน เพิ่มโอกาสผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นเร็วขึ้น

2.ภาคแรงงาน ขยายการเข้าสู่ระบบประกันสังคมที่ดีขึ้น

Advertisement

3.ภาคการพัฒนา เน้นความสมดุลของการพัฒนาระหว่างเมืองและชนบท เพื่อตรึงให้คนชนบทอยู่ในภูมิลำเนาตนเองและสร้างรายได้จากความถนัด

4.ภาคการเมือง ลดนโยบายที่มีลักษณะการอุดหนุนมาเน้นนโยบายยกระดับคุณภาพแรงงานและสร้างประสิทธิภาพในการผลิต

ทีมวิจัยยอมรับว่า การเติบโตตามปัจจัยข้างต้นต้องใช้ระยะเวลายาวนาน อาจลดความเหลื่อมล้ำได้ไม่ทันใจและทำได้ไม่ง่ายนักในหลายประเทศ แต่ยังมองโลกในแง่ดีว่า การเติบโตในลักษณะนี้คงไม่ยากเกินไปสำหรับไทย

ไม่เห็นขัดแย้งครับ ออกจะสนับสนุนข้อเขียนชิ้นนี้ด้วยซ้ำ เพราะเมื่อมองดูความเป็นจริงของสังคมไทยและความกล้าหาญเด็ดขาดที่มีอยู่ “น้อยมาก” ของรัฐบาลทหารแล้ว เห็นชัดว่ารัฐบาลและผู้บริหารส่วนราชการพยายามขับเคลื่อนงานทั้ง 4 ด้านอยู่ แต่มันยังเดินไปแบบ “รูทีน” และ “เอื่อยๆ” มากกว่าจะฉับไวและพอมองเห็นผลสัมฤทธิ์ที่ดีภายใน 1-2 ปี

ผมยังมองไม่เห็นว่า ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและแผนปฏิรูปของรัฐบาลจะมีผลให้ความเหลื่อมล้ำลดลงแม้แต่น้อย ต่อให้ครองอำนาจไปอีก 1 หรือ 2 ปี ก็ยังไม่อาจสัมผัสได้เป็นรูปธรรมตามที่รัฐบาลมักอ้างถึงเสมอ

เพราะปัจจัยสำคัญที่ควรทำแล้วเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน รัฐบาลทหารกลับไม่กล้าทำ ด้วยกลัวจนขี้ขึ้นสมอง นั่นคือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รัฐบาลนี้ดองเค็มมาครบหนึ่งปีแล้ว และมีท่าทีว่าจะดองต่อไป

เรามาลงทบทวนความจำกันสักนิด

20 ส.ค.58 รมว.คลัง (สมหมาย ภาษี) เสนอร่างฉบับปรับปรุงใหม่ลดผลกระทบคนชั้นกลางเข้า ครม.

26 พ.ย.58 ปลัดคลังบอกว่า รองนายกฯสั่งให้เสนอแผนปฏิรูปภาษีทั้งหมดภายในเดือนธันวาคมนี้ รวมถึงภาษีที่ดินฯและภาษีสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำให้สังคม

30 ธ.ค.58 ปลัดคลังหารือกับ รมว.คลังแล้วได้ข้อสรุปภาษีที่ดินฯซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เชื่อว่าประชาชนจะยอมรับได้

4 ม.ค.59 รองนายกฯประชุมติดตามความคืบหน้าแผนปฏิรูปภาษี

10 ม.ค.59 รมว.คลังแถลงผลงานรัฐบาล และบอกว่า “ในปีนี้จะปฏิรูปภาษีด้านต่างๆ โดยเฉพาะภาษีที่ดิน”

แกพูดกว้างมากและไม่ลงรายละเอียด ไม่พูดผูกมัดตัวเองด้วยเงื่อนเวลาที่ชัดเจนกว่านี้ นั่นแสดงว่ารัฐบาลยังไม่กล้าเข็นกฎหมายตัวนี้ออกมาภายในเร็ววัน

ผมไม่อาจสรุปเรื่องนี้ได้ดีเท่ามุมมองของทีมวิจัยทีดีอาร์ไอในบทความชิ้นเดียวกันว่า

“การรื้อสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมนั้นทำได้ยากมาก เพราะการมีความเหลื่อมล้ำมันหมายความว่า การที่คนในสังคมเป็นเจ้าของทรัพยากรที่แตกต่างกัน และเจ้าของทรัพยากรเหล่านั้นจะทำหน้าที่ขัดขวางการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะพวกเขาไม่ต้องการสูญเสียทรัพยากรหรือสถานะของตนเองไป นี่เป็นเหตุผลเดียวกันกับการปฏิรูปภาษีที่โยกย้ายทรัพยากรจากคนที่รวยกว่าไปยังคนที่จนกว่าให้สูงขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศหนึ่งๆ ทำได้ยากมาก”

ครับ ไม่ว่ารัฐบาลนักเลือกตั้ง รัฐบาลนายพล ต่างก็เป็นองคาพยพหนึ่งในบรรดาเจ้าของทรัพยากร แล้วเรื่องอะไรจะมาแบ่งให้โง่!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image