‘มีชัย’แจงปมร้อนร่างรธน. ยันไม่เขียนเปิดช่องนายกฯคนนอก โต้เพิ่มอำนาจศาลรธน.

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พร้อมรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกทั้ง 2 สภา

โดยนายมีชัยชี้แจงถึงประเด็นสำคัญที่ได้รับเสียงวิจารณ์อย่างมาก ตั้งแต่ประเด็นระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมและการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ว่า มีกว่า 40% ของคะแนนเสียงที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งหายไป เราจึงออกแบบระบบเลือกตั้งให้ทุกคะแนนมีคุณค่ามากขึ้น และจากการให้สถานศึกษาทำโพลสำรวจพบว่าประชาชนตอบรับดี ส่วนการป้องกันการทุจริตการเลือกตั้งนั้นได้เพิ่มอำนาจให้ กกต.เพื่อป้องกันการทุจริต และถ้าศาลตัดสินว่าทุจริตเลือกตั้งก็จะถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต เมื่อรวมกับระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งจูงใจคนมาลงคะแนนมากขึ้นเพราะทุกคะแนนมีค่า และเมื่อคนมาเลือกตั้งมากขึ้นการทุจริตก็จะทำได้ยากขึ้น

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี ที่มีเสียงวิจารณ์ว่าเปิดช่องให้นายกฯคนนอกที่ไม่ได้เป็นส.ส.นั้น นายมีชัยชี้แจงว่า คนจะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคือพรรคการเมือง ดังนั้น ถ้าพรรคการเมืองกังวลว่าคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.จะเข้ามา ก็ให้แต่ละพรรคไปตั้งกฎกติกากันเอาเอง ส่วนกรณีที่สงสัยว่าพรรคเล็กจะเสนอชื่อนายกฯคนนอกนั้น ก็ได้เขียนไว้แล้วว่าพรรคที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาได้ต้องมี ส.ส.ร้อยละ 5 หรือ 25 คน ดังนั้นจึงไม่ใช่พรรคเล็ก แต่จัดเป็นพรรคขนาดกลาง ส่วนเหตุผลที่ กรธ.ไม่เขียนห้ามผู้ไม่ได้เป็น ส.ส.มาเป็นนายกรัฐมนตรีไว้เลยนั้นก็เพราะในวันที่พรรคการเมืองเสนอชื่อการเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น จึงไปเขียนบังคับไม่ได้เพราะยังไม่รู้ว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อจะได้เป็น ส.ส.หรือไม่

ขณะที่ประเด็นที่มา ส.ว.นั้น เจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญคือ ส.ว.ต้องเป็นกลาง ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ดังนั้น ระบบเลือกตั้ง ส.ว.แบบเดิมที่ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งก็หนีไม่พ้นที่ ส.ว.ต้องพึ่งพิงพรรคการเมือง

Advertisement

ส่วนประเด็นองค์กรอิสระ ไม่ได้เพิ่มองค์กรใหม่เข้ามาเลย แต่เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในองค์กรอิสระมากขึ้นจึงกำหนดคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระให้เข้มข้นขึ้น ส่วนที่คนพูดกันมากว่า กรธ.ยกอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญเหมือนเอารัฐธรรมนูญยกให้ศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการพูดโดยไม่ได้อ่านและไม่ได้เทียบเคียง เพราะร่างนี้เพิ่มหน้าที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเพียง 1 หน้าที่คือการวินิจฉัยมาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กรอิสระ และเปิดช่องหายใจให้ศาลรัฐธรรมนูญติดสินข้อพิพาทที่ไม่มีทางไปที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีที่วิจารณ์ว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจปลด ส.ส.-ส.ว.ที่มาจากประชาชนได้ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ยึดโยงประชาชนนั้น เห็นว่าไม่มีที่ไหนในโลกที่ศาลมาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีอำนาจปลด ส.ส.-ส.ว. สิ่งที่ศาลมีอำนาจคือวินิจฉัยคุณสมบัติของ ส.ส.-ส.ว.ตามที่กระบวนการที่ร้องเรียนมาตามปกติ

ในช่วงท้าย นายมีชัยยืนยันว่า ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญก็พยายามเงี่ยหูฟังทุกความคิดเห็น ดูแม้กระทั่งความเห็นในเฟซบุ๊กของแต่ละท่าน จึงหวังว่าจะได้รับข้อเสนอแนะที่ดีอย่างกัลยาณมิตรในวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image