ภูมิใจไทยสัญจร ลงพื้นที่อำนาจเจริญ 4 รมต. เดินสายรับฟังปัญหาจาก ปชช.
ภูมิใจไทยสัญจร จังหวัดอำนาจเจริญ จัดภาระกิจ 4 รัฐมนตรี แยกสายรับฟังปัญหาประชาชนตามจุดต่าง ๆ ที่ร่วมนำเสนอปัญหาสุดคึกคัก ครบทุกด้าน ทั้งภาคการท่องเที่ยว การกีฬา ภาคเกษตร การศึกษา การพาณิชย์ การพัฒนาแหล่งน้ำ ขณะที่พรรคภูมิใจไทย เตรียมสรุปประเด็นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาโดยด่วน
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมของพรรคภูมิใจไทยสัญจร (ครั้งที่ 2) ที่จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นไปด้วยความต่อเนื่อง เริ่มแต่ 07.00 น. นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ร่วมพิธีทำบุญตักบาตร ที่พุทธอุทยานพระมงคลมิ่งเมือง ซึ่งมีการจัดกิจกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา สืบทอดประเพณีประจำจังหวัด
ต่อมาเวลา 09.00 น. รมช.ทรงศักดิ์ ประชุมรับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชน ของจังหวัดอำนาจเจริญ ที่ศูนย์ประชุมอำนาจเจริญ สวนพุทธอุทยาน เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของกลุ่มทอผ้า กลุ่มอาชีพการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวหมู่บ้าน OTOP และพบปะกลุ่มอาชีพต่าง ๆ
รมช.ทรงศักดิ์ สรุปภาพรวมการรับฟังปัญหาต่าง ๆ ว่า ในฐานะที่กำกับดูแลกรมพัฒนาชุมชน เห็นว่า สินค้าผ้าทอของจังหวัดอำนาจเจริญเป็นที่สวยงามและมีคุณภาพนี้ นอกจากการพัฒนาสินค้าของผู้ประกอบการที่มีคุณภาพแล้ว จำเป็นต้องเร่งหาตลาดช่องทางจำหน่ายเพื่อให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ผู้ประกอบการสามารถจำหน่ายสร้างรายได้มากขึ้น
โดยกระทรวงมหาดไทยได้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย ( ร.ฟ.ท.) ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เห็นด้วยกับแนวทาง ที่จะสนับสนุนให้สินค้า OTOP ทั่วประเทศ สามารถเข้าไปนำวางจำหน่ายในพื้นที่สถานีรถไฟที่มีศักยภาพ ซึ่งก็จะรวมถึงผลิตภัณฑ์ผ้าทอของจังหวัดอำนาจเจริญ ที่จะมีการกระจายไปจำหน่ายในพื้นที่สถานีรถไฟต่าง ๆ ด้วย โดยสามารถดำเนินการได้ทันที
ด้าน นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ เดินทางไปหอประชุมโรงเรียนเสนางคนิคม ต.เสนางคนิคม อ.เสนางคนิคม จ.อำนาจเจริญ เพื่อรังฟังปัญหาและความต้องการ เกี่ยวกับการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และการสร้างงาน สร้างอาชีพ พร้อมพบปะเยี่ยมเยียน กศน. ในอำเภอต่าง ๆ ซึ่งตัวแทนนักเรียนโรงเรียนเสนางคนิคม เสนอให้แก้ไขปัญหาการบ้านเยอะ ทำให้ไม่มีเวลาเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย และอยากได้การแนะแนวการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย และอยากทราบเรื่องแหล่งทุนในการศึกษาระดับอุดมศึกษา
นางกนกวรรณ กล่าวภายหลังการรับฟังปัญหาของประชาชน ว่า เป็นการบูรณาการ ในการนำรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้รับฟังปัญหาทำให้เราได้เห็นสภาพปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนมา และจะพยายามประสานงานเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้ประชาชนมากที่สุด ไม่เฉพาะเรื่องการศึกษา แต่ทุก ๆ เรื่องที่ประชาชนนำเสนอมาในทุกกระทรวง ส่วนในเรื่องการศึกษานั้นขณะนี้นโยบายรัฐบาล ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมรับฟังปัญหาต่าง ๆ และนำไปแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะ กรมการศึกษานอกโรงเรียน กศน. เนื่องจากเรามีครูพันธุ์พิเศษ ที่ทำได้ทุกอย่าง เราจะทลายทุกข้อจำกัด เพื่อปากท้องประชาชน
ด้าน นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางไปที่หอปะชุมที่ว่าการอำเภอชานุมาน ต.ชานุมาน อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ เพื่อรับฟังปัญหาความต้องการของประชาชน เกี่ยวกับเรื่องราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ การรับฟังสภาพปัญหาจากกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ และตลาดการค้าขายชายแดน ไทย-ลาว
โดยนายวีรศักดิ์ กล่าวสรุปผลการรับฟังว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเกิดการปรับเปลี่ยน การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจึงจำเป็นต้องศึกษาวิเคราะห์ ทำความเข้าใจ และปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ‘นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์’ จึงเปรียบเสมือนอาวุธชิ้นสำคัญในการสร้างความแตกต่างที่จะทำให้ธุรกิจมีความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง และมีโอกาสประสบความสำเร็จ โดยได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งดำเนินการสร้างองค์ความรู้ แก่ ผู้ประกอบการ รวมถึง นักศึกษาที่กำลังจะก้าวสู่วัยทำงาน ให้เป็น ‘นักการค้าออนไลน์รุ่นใหม่’ มีการนำ e-Commerce มาช่วยสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้ตนเอง และชุมชน
โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม 2563 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้งานสัมมนา “นักการค้าออนไลน์รุ่นใหม่ หรือ Young Digital Warrior” ใน จังหวัดอำนาจเจริญ โดยได้นำผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาให้ความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ประกอบการไทย เป็นการขยายช่องทางการตลาดให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
นอกจากนี้ ยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้น และเสริมสร้างแนวคิดในการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจ พัฒนาต่อยอดให้สามารถอยู่รอดในยุค New Normal พร้อมก้าวสู่การเป็นนักการค้าออนไลน์ที่สร้างความได้เปรียบในทุกด้านแก่ธุรกิจ ขณะเดียวกัน ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมูลค่าทางการค้า พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ประกอบด้วย ยุวชน นักศึกษา ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการชุมชน วิสาหกิจชุมชน สมาร์ทฟาร์มเมอร์ เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club และนักธุรกิจรุ่นใหม่ YEC หอการค้า การสร้างโอกาส สร้างรายได้จาก Social Media”
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยด้วยว่า จะเร่งเดินหน้าส่งเสริมการคุ้มครองสินค้าชุมชน “เสื่อกกนาหมอม้า” โดยเตรียมผลักดันให้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดอำนาจเจริญในอนาคต และจะลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มอบหนังสืออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI แก่ผู้ประกอบการ “ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี” คาดเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชนในพื้นที่อีสานใต้ เพิ่มช่องทางการตลาด และเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการให้เข้มแข็งพร้อมขยายตลาดทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ด้วย
ขณะที่ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปที่สหกรณ์หัวตะพาน จำกัด อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ รับฟังปัญหาความต้องการ ขอสมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และพบปะเยี่ยมเยียนสมาชิกสหกรณ์กลุ่มต่าง ๆ โดยมีการหารือถึงการเดินหน้า “โครงการพาลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพเกษตรกร” โดยที่มีคนหนุ่มสาว รุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจในการนำความรู้สมัยใหม่ มาใช้ทำการเกษตรเป็นจำนวนมาก
รมช.มนัญญา กล่าวภายหลังการรับฟังความเห็นว่า เกษตรกรที่จังหวัดอำนาจเจริญ ส่วนหนึ่ง ทำนาข้าว และผลผลิตถือเป็นข้าวหอมมะลิที่เป็นพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพ ดังนั้นจึงอยากให้เกษตรกร รักษาพันธุ์ข้าวที่เป็นจุดแข็งนี้ไว้ รวมทั้งพัฒนาเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง และจากการรับฟังปัญหากระทรวงเกษตรฯ เห็นว่าสามารถให้ความช่วยเหลือ ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของข้าว ที่จะจำหน่ายออกสู่ตลาด โดยบรรจุภัณฑ์จะต้องระบุถึงแหล่งผลิต เพื่อให้ลูกค้าทราบถึงเอกลักษณ์ และคุณค่าของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ดังนั้นในการซื้อข้าวจากเกษตรกร ของกลุ่มสหกรณ์มาผลิตต่อ ก็จำเป็นต้องเข้าไปส่งเสริมให้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดีมีคุณภาพด้วย โดยหลังจากนี้กระทรวงเกษตรฯ ก็จะเร่งจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่เพื่อทำการอบรมให้ความรู้ แก่กลุ่มสหกรณ์ต่างๆ ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของกลุ่มตนเองต่อไป
นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาความชื้นของข้าวก็จะมีส่วนสำคัญ ซึ่งในส่วนนี้จำเป็นต้องใช้ระบบของสหกรณ์ที่มีศักยภาพมาดำเนินการเพื่อทำให้ผลผลิตข้าว มีความชื้นที่ได้มาตรฐาน โดยล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งแก้ไขปัญหาความชื้นของข้าว ได้มีการรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ และนอกจากการพัฒนาโรงสี, โรงอบข้าว ที่ได้มาตรฐาน และได้ขอจัดสรรงบประมาณในปี 2564 ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือไปแล้ว หลังจากนี้ก็จะเดินหน้า พัฒนาโรงอบข้าวมาตรฐานในพื้นที่ภาคอีสานด้วย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้พูดถึง “โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร” ที่มีเป้าหมายที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักอาชีพการเกษตร และต้องการคืนกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด โดยของจังหวัดอำนาจเจริญ มีผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 62 ราย และขณะนี้มี 12 รายที่มีศักยภาพเข้มแข็งสามารถต่อยอดเผยแพร่องค์ความรู้ของตนเอง ทั้งทางด้านการผลิต และการตลาดเพื่อเป็นต้นแบบ ให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในอนาคต