ทางออก ‘รัฐบาลบิ๊กตู่’ ฝ่าวิกฤต ‘ม็อบคณะราษฎร’

ทางออก‘รัฐบาลบิ๊กตู่’ ฝ่าวิกฤต‘ม็อบคณะราษฎร’

ทางออก ‘รัฐบาลบิ๊กตู่’
ฝ่าวิกฤต ‘ม็อบคณะราษฎร’

หมายเหตุ ความเห็นของนักวิชาการถึงทางออกจากวิกฤตการชุมนุมของคณะราษฎร และแนวร่วมที่มีศูนย์กลางการชุมนุมอยู่ที่ กทม.และกระจายตามต่างจังหวัดทั่วประเทศ

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ทางออก‘รัฐบาลบิ๊กตู่’ ฝ่าวิกฤต‘ม็อบคณะราษฎร’

Advertisement

เห็นด้วยกับข้อเสนอจากหลายฝ่ายแนะนำให้นายกรัฐมนตรีมีท่าที เพื่อรับข้อเสนอจากกลุ่มผู้ชุมนุม เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่า ส.ว.จำนวนมากรอฟังสัญญาณหรือการกำหนดทิศทางจากนายกรัฐมนตรี และประชาชนเชื่อว่านายกรัฐมนตรีอยู่ในฐานะที่ ส.ว.เชื่อถือมากที่สุดก็อาจทำให้การชุมนุมทุเลาลงบ้าง แต่ถ้าบอกว่ายังยืนยันว่ารับฟังข้อเสนอแล้ว แต่ไม่มีปฏิกิริยาหรือทำให้เห็นมีแนวทางในการปฏิบัติในบางเรื่องที่เป็นข้อเรียกร้องก็ทำให้การเคลื่อนไหวมีความชอบธรรมมากขึ้น อย่างน้อยถ้านายกรัฐมนตรีเสนอให้เปิดสภาสมัยวิสามัญรีบแก้รัฐธรรมนูญก็ถือว่าจะช่วยลดกระแสลงได้บ้าง นอกจากนั้น ยังมีวิธีการอื่น แต่รัฐบาลไม่ทำทั้งที่ไม่ต้องทำตามข้อเรียกร้องทั้งหมด หลังจากนายกรัฐมนตรีปฏิเสธว่าจะไม่ลาออก แต่ถ้าฟังแบบฟังหูซ้ายทะลุหูขวาก็คงหยุดการเคลื่อนไหวไม่ได้

ถ้าปล่อยไปแบบนี้ บางเงื่อนไขที่เคยมีข้อเรียกร้องแล้วทำช้าเกินไป เมื่อม็อบมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องและมีข้อเสนออื่นที่ไปไกลกว่านี้ ก็จะมีปัญหาหนักกว่าเก่า อย่าลืมว่าหากตัดสินใจช้าแล้วม็อบขยับก้าวไปอีกขั้น เพราะกระแสจุดติดเชื่อว่าจะไล่นายกรัฐมนตรีได้จริง ถึงวันนั้นม็อบอาจจะไม่สนใจการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วก็ได้ คล้ายกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจยุบสภาช้าเกินไปเมื่อปลายปี 2556 ขณะที่ กปปส.ยื่นเงื่อนไขเพิ่มบอกว่าจะต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งและเรียกร้องให้ลาออกหลังมีการยุบสภา

ขณะนี้สิ่งที่น่ากังวลคือแนวคิดของรัฐบาลที่มีต่อฝ่ายเรียกร้อง ถ้ามองเป็นศัตรู มีคนอยู่ข้างหลัง มีการแทรกแซงจากภายนอก ยิ่งทำให้การเจรจามีความยากลำบาก เพราะการเริ่มต้นมองเป็นศัตรูบดบังเรื่องอื่นแทบทั้งหมด ไม่เหมือนระยะแรกที่นายกรัฐมนตรีเคยบอกว่ามองแฟลชม็อบเป็นลูกเป็นหลาน ดังนั้น เบื้องต้นควรเริ่มด้วยการเจรจา โดยไม่จำเป็นต้องทำแบบเปิดเผย แต่วันนี้คงมึนไม่รู้ว่าจะไปเจรจากับใคร เพราะคณะราษฎร ลดลงมาเหลือราษฎรคำเดียว แถมจับแกนนำไปขังไว้หมดแล้ว และการทำมวลชนที่ไม่มีผู้นำที่ชัดเจน น่าจะอันตรายกว่าม็อบที่มีแกนนำ เรื่องนี้หลายฝ่ายแนะนำแล้วนายกรัฐมนตรีควรจะได้ยิน

Advertisement

ทางออกยืนยันรัฐบาลต้องออกมายอมรับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลก็ควรออกมาแนะนำทางออก ในสถานการณ์ที่นายกรัฐมนตรีอยู่ในภาวะหัวชนฝา แต่พรรคร่วมคงกลัวว่าหากออกมาพูดอะไรออกไปก็อาจถูกท้าทายว่าถ้าไม่พอใจก็ขอให้ลาออกไป ทั้งที่หัวหน้าพรรคที่ร่วมรัฐบาลควรแนะนำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อให้สภาแก้ปัญหา ดีกว่าปล่อยให้มีแฟลชม็อบรายวันทำให้คนในชาติอาจไม่พอใจรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นเพราะหากมีปัญหาบานปลายรัฐบาลมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

ทางออก‘รัฐบาลบิ๊กตู่’ ฝ่าวิกฤต‘ม็อบคณะราษฎร’

สิ่งที่นายกรัฐมนตรีทำได้ง่ายที่สุดคือยกเลิกการประกาศใช้สถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินร้ายแรง เมื่อยกเลิกแล้วก็ขอให้เปิดสภาเพื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ทำให้เงื่อนไขลดลงโดยแสดงท่าทีให้เห็นว่าจะมีการแก้ไขอย่างแน่นอน โดย ส.ว. 84 เสียงเห็นด้วยในหลักการ หากไม่เห็นด้วยในบางประเด็นก็ไปถกกันต่อในวาระ 2 เพื่อนำหลายญัตติไปเปรียบเทียบ นอกจากนั้น รัฐบาลควรส่งสัญญาณถึงองค์กรต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยหรือกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร จัดพื้นที่กลางรับฟังความคิดเห็นจากรัฐบาลและตัวแทนจากผู้จัดการชุมนุม แทนการนำมวลชนออกไปเคลื่อนไหวในสถานที่ต่างๆ

หากทำตามเงื่อนไขที่แนะนำเชื่อว่าสถานการณ์จะผ่อนหนักเป็นเบา โดยรัฐบาลนำข้อเสนอที่รับฟังทำเป็นแผนที่เดินทางหรือโรดแมปในการปฏิรูปหลายด้านที่มีข้อเรียกร้อง โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลควรเลือกแนวทางนี้เพื่อสร้างความไว้วางใจ เพราะที่ผ่านมายอมรับว่าสิ่งที่รัฐบาลเคยพูดนำมาปฏิบัติจริงหรือไม่ หรือรับปากแล้วจะประวิงเวลาไปอีกหรือไม่ น่ากังวลว่าหากรัฐบาลยังไม่เลิกภาวะฉุกเฉิน ขณะเดียวกันยังมีแฟลชม็อบดาวกระจายต่อเนื่อง หากจะใช้มาตรการเข้มข้นมากขึ้นก็ต้องประกาศกฎอัยการศึก หากไม่จบก็อาจจะหลิ่วตาให้ทหารทำรัฐประหาร หากทำแบบนี้ก็จะพาประเทศกลับไปสู่จุดตั้งต้นใหม่

ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ทางออก‘รัฐบาลบิ๊กตู่’ ฝ่าวิกฤต‘ม็อบคณะราษฎร’

การเคลื่อนไหวของมวลชนคราวนี้ สะท้อนให้เห็นแล้วว่าการเมืองยุคนี้เป็นยุคที่ผันผวน หรือ Disruptive Politics ทุกอย่างคาดเดาได้ยาก และสามารถจะเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เห็นการเปลี่ยนยุทธศาสตร์มาเป็นลำดับ ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมาก็ไม่ได้เน้นยุทธศาสตร์แบบเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ที่ต้องปักหลักพักค้าง เป็นการชุมนุมที่ต้องมีการบริหารจัดการ มีเวทีขนาดใหญ่ หลังจากแกนนำ 20 กว่าคนถูกจับ ก็มีการปรับยุทธศาสตร์ใหม่อีกครั้ง เป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่เน้นการชุมนุมที่มีแกนนำบนเวที ไม่จำเป็นต้องมีการปราศรัยและไม่จำเป็นต้องกำหนดจุดชุมนุม และช่วงเวลาที่แน่นอนจึงเป็นสิ่งที่ยากต่อการคาดเดาของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมกำกับการชุมนุมในลักษณะดังกล่าวได้

ในทางกลับกัน เมื่อมองฝ่ายรัฐที่เข้าไปจัดการปัญหาดังกล่าว ยังมีกรอบคิดแบบเดิมๆ คือการใช้กฎหมาย เครื่องไม้เครื่องมือและใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จึงเป็นเงื่อนไขให้การชุมนุมยิ่งขยายออกไป หลังเหตุการณ์วันที่ 16 ตุลาคม ที่สี่แยกปทุมวัน ทำให้เกิดเงื่อนไขผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้องแบบไม่มีทิศทางที่แน่ชัดอีกต่อไป ทั้งยังมีการจับกุมแกนนำที่เหลืออย่างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสนำไปสู่การเมืองแบบมวลชนหรือมวลชนธิปไตย

เมื่อไปถึงจุดที่ไม่มีแกนนำ มวลชนเคลื่อนกันเองแล้ว การที่จะเข้าสู่อำนาจรัฐต่างๆ อาจทำให้เกิดภาวะ “อนาธิปัตย์” กล่าวคือไม่มีกฎหมายใดที่จะมากำกับได้ มวลชนไม่สนใจกฎหมายแล้ว มวลชนไม่มีแกนนำกำกับเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่สามารถกำกับได้ เพราะมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์อยู่ตลอดเวลา ยังไม่รวมว่า ถ้าอนาคตจะมีมวลชนอีกอุดมการณ์มาเผชิญหน้าเหมือนวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็ยิ่งน่ากังวลว่าอาจจะมีความเสี่ยงเกิดการปะทะ เกิดความรุนแรงได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการจะคิดและจัดการแบบเดิมเป็นเรื่องที่ยากมาก

ในแง่ของกฎหมาย แน่นอนว่าการไปปิดระบบขนส่งสาธารณะผิดกฎหมาย ซึ่งยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การประกาศพื้นที่ให้ กทม. เป็นพื้นที่ฉุกเฉินร้ายแรง เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้อยู่แล้วในทางกฎหมาย แต่สิ่งที่นอกเหนือไปจากนั้น คือ ความชอบธรรมทางการเมือง ที่บางครั้งไม่อาจตอบได้ด้วยความถูกผิดทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ มวลชนก็ไม่ได้มองว่าสิ่งที่ทำนั้นจะผิดกฎหมาย หรือเป็นข้อห้าม แต่มองว่านี่คือกระบวนการที่รัฐสูญเสียความชอบธรรมแล้ว จึงต้องการเข้าไปทำให้เกิดเรื่องของการต่อต้านอำนาจรัฐ กระทั่งการไม่ให้รัฐสามารถทำงาน บริหารจัดการ

การเมืองในระบบยังพอมีทางออกที่จะทำให้เราไปสู่จุดที่เป็นเรื่องของการแสวงหาจุดร่วมได้อยู่ เพียงแต่ไม่มีกระบวนการในการขับเคลื่อนกลไกเหล่านี้มากกว่า เช่น การมีเวทีพูดคุย ซึ่งเราพูดกันมา 2-3 เดือนแล้ว ก่อนหน้านี้ รัฐเองก็พูดอยู่ว่าจะมีการสนับสนุน จัดเวที กระทั่งเวทีที่เกิดจากภาคประชาสังคมต่างๆ เราไม่เห็นเลยว่าจะมีการเกิดขึ้นอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด เพราะในเมื่อข้อเสนอของหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐ และผู้ชุมนุมก็ชัดอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมีเวทีอีก ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร แต่อยู่ที่ว่าการมีเวทีจะทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้นถึงสิ่งที่ต้องทำในระยะสั้น

ส่วนระยะกลาง เรื่องของการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำเช่นกัน และเป็นทางออกสำคัญประการหนึ่ง แม้ว่ารัฐธรรมนูญอาจจะไม่ใช่สิ่งที่แก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่จะเป็นเวทีใหญ่ที่เกิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม ให้เกิดการพูดคุยและมีกติการ่วมกัน ไม่ว่าจะแก้ไข หรือร่างใหม่ก็ดี มีความหมายมากกว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นบทบัญญัติ แต่คือรัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญในเชิงการจัดอำนาจของผู้คนแต่ละส่วนให้ลงตัว ซึ่งวันนี้การที่รัฐธรรมนูญถูกยื้อ ซื้อเวลา ทำให้เห็นภาพว่าความสัมพันธ์เชิงอำนาจเหล่านี้ยังไม่ลงตัว หากมีเวทีในการพูดคุยก็จะทำให้สิ่งเหล่านี้เดินต่อไปได้

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ทางออก‘รัฐบาลบิ๊กตู่’ ฝ่าวิกฤต‘ม็อบคณะราษฎร’

ส่วนตัวกล้าพูดว่าตามขบวนการของม็อบวัยรุ่น ณ ขณะนี้แทบจะไม่ทันแล้ว จะเห็นว่าขบวนการชุมนุมปรับเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์ พยายามลดการสูญเสีย ภาพจึงต่างจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร หรือ กปปส.ที่เป็นการชุมนุมอยู่กับที่ ไม่มีการโมบาย ในอดีตจะเป็นลักษณะสู้ตาย อยู่กับที่ แต่ม็อบรอบนี้เป็นการพยายามหลีกเลี่ยงการสูญเสียและก่อกวนเป็นจุดๆ

อีกประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ใหญ่หลายท่านพูดกัน คือ ม็อบต้องมีคนชักใยเบื้องหลัง ซึ่งส่วนตัวตามทวิตเตอร์ของเด็กๆ อยู่ ยอมรับว่าเราตามเขาไม่ทัน มีการบริจาคกันในบ้าน “ด้อมเกาหลี” ด้อมอะไรต่างๆ (fandom หรือกลุ่มแฟนคลับ) ระดมทุนล่าสุด ได้ประมาณ 2 ล้านกว่าบาทแล้ว คือมิติใหม่ เมื่อก่อนในม็อบจะมีการตั้งกล่องรับบริจาค นปช.ก็มี แต่ของม็อบปัจจุบันเปลี่ยนรูปแบบอย่างสิ้นเชิง ทุกอย่างทำผ่านคิวอาร์โค้ด จึงมองว่าสิ่งที่รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจน่าจะกลัว อาจไม่ใช่ตัวนักศึกษา หรือประชาชน แต่ต้องกลัวสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีมากกว่า เพราะสิ่งที่ระบบราชการของเราบัญญัติไว้ ใหญ่เทอะทะจนตามทันหมดแล้ว

ล่าสุดมีกระแสจะปิดเพจเยาวชนปลดแอกและแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งการจะปิดเพจต้องขอความร่วมมือเฟซบุ๊ก โดยมีหมายศาล แต่วิธีการส่วนใหญ่ที่รัฐบาลมีสติปัญญาทำ มักจะไม่ขอปิดเพจ แต่จะบล็อกการเข้าถึง IFP จากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในประเทศ ไม่ให้เข้าถึงเพจบางเพจ คือวิธีที่ไม่ต้องไปยุ่งกับเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ แต่ไปบีบผู้บริการ IFP แทน ซึ่งทางกฎหมายมีวิธีการอยู่ แต่ก็จะต้องพิสูจน์ให้ชัดว่า เพราะอะไร เด็กพวกนี้ก่อให้เกิดการยั่วยุหรืออะไร อย่างไร

ถ้าถามว่าม็อบมีพลังมากแค่ไหน ส่วนตัวประเมินไม่ได้เลย เข้าใจว่ามีพลังแทบไม่จำกัดด้วยซ้ำ เพราะคนมาเติมม็อบได้เรื่อยๆ มาในลักษณะไม่ค้างคืน กลายเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ประชาชนออกมาร่วมกันชุมนุม ดังนั้น พลังนี้มีไม่จำกัด แต่ต่อให้มีพลังไม่จำกัด ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ดึงดันจะไม่ลาออก เขาก็ไม่ลาออกอยู่ดี

ทางออกตอนนี้ สภาต้องให้กลไกเปิดสมัยประชุมวิสามัญ อย่างไรก็ตาม สภาต้องบีบให้รัฐบาลรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมให้ได้ บีบด้วยการรวมเสียงพรรคร่วมฝ่ายค้าน ปัญหานี้ความเสียหายสูงมาก ต้องไม่ลืมว่า ประชาชนที่มาชุมนุมกันนั้น ในอดีตเราเคยดูแคลน ปรามาสว่าคือ ติ่งเกาหลี ณ วันนี้ ติ่งเกาหลีในวันนั้นคือ ผู้นำม็อบในวันนี้ ต้องไม่ลืมว่า อีกไม่กี่ปีคนที่มาม็อบก็จะเป็นเฟิร์สต์โหวตเตอร์หมด ซึ่งมีจำนวนมากด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image