แถลงการณ์นิสิตปัจจุบัน-นิสิตเก่า นิติฯจุฬาฯ 1,589 ราย จี้รัฐเลิกกม.ฉุกเฉิน-หยุดคุกคามปชช.

แถลงการณ์นิสิตปัจจุบัน-ศิษย์เก่านิติฯจุฬาฯ 1,589 ราย จี้รัฐเลิกกม.ฉุกเฉิน-หยุดคุกคามปชช.

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นิสิตปัจจุบัน และศิษญ์เก่า กว่า 1ญ589 รายชื่อ ออกแถลงการณ์ในนาม นิสิตปัจจุบัน และนิสิตเก่าแห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางส่วน เรื่อง ขอประณาม คัดค้าน และตั้งข้อเรียกข้องต่อรัฐบาลไทย จากเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ ระบุว่า

จากเหตุการณ์อันสืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ ณ พื้นที่สี่แยกปทุมวัน และบริเวณโดยรอบ การชุมนุมดังกล่าวมีลักษณะเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ของประชาชน โดยสงบ และปราศจากอาวุธ ภายใต้กรอบของกฎหมาย อันเป็นสิทธิของประชาชนชาวไทยที่พึงกระทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้บัญญัติรับรองไว้

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า รัฐบาลไทยโดยผู้มีอำนาจ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการสลายการชุมนุม โดยเข้าปะทะและใช้ความรุนแรงกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งปราศจากอาวุธ อาทิ การฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีไปยังผู้ชุมนุมโดยตรง การกระทำเช่นว่านั้น เข้าข่ายการใช้ความรุนแรงเกินสัดส่วน อันขัดต่อหลักเสรีภาพ และหลักสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับความคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญ และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง

เหล่านิสิตปัจจุบัน และนิสิตเก่าแห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางส่วน ดังมีรายนามปรากฏท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงขอประณามและคัดค้าน การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลไทย และมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

Advertisement

๑.ให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ทั้งฉบับลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๓ และ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ โดยทันที เนื่องจากเป็นการบังคับใช้กฎหมายเกินสัดส่วนและความจำเป็นเหนือพลเรือน อันเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นจำนวนมาก

๒.ให้ยุติการกระทำใด ๆ อันเป็นการคุกคามหรือลดทอนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงยุติการปฏิบัติใด ๆ เพื่อสลายการชุมนุม และยุติการควบคุมตัวแกนนำพร้อมทั้งผู้ชุมนุมทั้งหมดในทันที

๓.ให้ยุติการคุกคามและควบคุมสื่อมวลชน ในการเผยแพร่ข่าวสารข้อเท็จจริงจากการชุมนุม เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและถูกต้อง

Advertisement

๔.ให้งดเว้นการปิดกั้นการเข้าถึงบริการสาธารณะ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการจัดหาและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน อาทิ การเข้ารับการรักษาจากสถานพยาบาล และการใช้บริการคมนาคมขนส่งมวลชน

๕.ให้มีการตรวจสอบและลงโทษการกระทำของเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติการสลายการชุมนุมซึ่งมีการใช้อำนาจเกินขอบเขตแห่งกฎหมาย และการใช้ความรุนแรงโดยมิชอบต่อประชาชน

๖.ให้รัฐมีความยึดมั่นในหลักนิติธรรมโดยเคร่งครัด หากจะมีการบังคับใช้กฎหมายอันกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ย่อมต้องใช้อย่างจำกัดและพอเหมาะตามหลักความได้สัดส่วน รวมถึงการกระทำใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

ทั้งนี้ ได้ทำการรวบรวมรายชื่อถึงเวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ มีผู้ร่วมลงนามทั้งสิ้น ๑,๕๘๙ คน ( ไม่ประสงค์ให้เปิดเผยข้อมูล ๔๘๐ คน )

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image