‘บิ๊กตู่’ หนุนเปิดวิสามัญ ชงเข้า ครม.วันนี้ ชี้เหตุการณ์ม็อบไม่เหมือนอดีต ‘วิษณุ’ รับหนักกว่าเดิม

‘บิ๊กตู่’ หนุนเปิดวิสามัญ ชงเข้า ครม.วันนี้ ชี้เหตุการณ์ม็อบไม่เหมือนอดีต ‘วิษณุ’ รับหนักกว่าเดิม รบ.-ฝ่ายค้านหนุนเปิดวิสามัญ หาทางออกประเทศ

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่ดาวกระจายหลายจุดทั่วกทม.และปริมณฑล กลายเป็นแรงกดดันมายังรัฐบาล เนื่องจากมีผู้ออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ถึงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎรว่า รู้ทุกคนเป็นห่วงเป็นใยบ้านเมือง รัฐบาลเองไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องเหล่านี้ และทราบว่าวันที่ 19 ตุลาคม ทางสภาจะมีการหารือเรื่องการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ขณะนี้รัฐบาลมีความคิดนี้อยู่เพื่อให้เกิดทำความเข้าใจกันในสภา รัฐบาลจำเป็นต้องทำหน้าที่ตรงนี้ คงไม่ได้ทำตามแรงกดดันของใคร มี 2 กลไก คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่จะเปิดประชุมสภา และรัฐบาลเป็นอีกส่วนหนึ่ง

“รัฐบาลยืนยันวันนี้ให้การสนับสนุนการเปิดประชุมสภาวิสามัญ เพื่อให้มีการพิจารณาร่วมกัน นำข้อเท็จจริงมาพูดจากัน ดีกว่าให้เป็นเรื่องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้เพื่อลดความขัดแย้งลงไปให้ได้มากที่สุด และยิ่งวันนี้ปัญหาประเทศไทยมีอยู่หลายประการด้วยกัน รัฐบาลจำเป็นต้องมีบทบาทนำในเรื่องเหล่านี้ และยินดีที่จะใช้กลไกรัฐสภา ขอยืนยันตรงนี้ โดยวันที่ 20 ตุลาคม จะมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเตรียมการให้พร้อม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

  • ประนีประนอม-วอนอย่าผิดกม.

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเพิ่มมาตรการต่างๆ ในการดูแลผู้ชุมนุมอย่างไรหรือไม่ อย่างการขยายพื้นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง นอกจากเขตท้องที่ กทม. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีขยายพื้นที่อะไรทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลพยายามประนีประนอมมากที่สุดแล้ว โดยขอไม่กี่อย่างคือ อย่ากระทำความผิด ทำลายทรัพย์สินราชการ ทรัพย์สินประชาชน สิ่งสำคัญที่สุดต้องระมัดระวังการกระทบกระทั่งกันในกลุ่มผู้ชุมนุม และเมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา เห็นว่ามีเหตุขึ้นมาแล้ว ทะเลาะกัน ตีกันเอง เหล่านี้ขอให้ระมัดระวังให้มากที่สุด แต่ประเด็นที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำ คือในเรื่องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อันนั้นเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ ขอร้องกันไม่กี่เรื่อง ฉะนั้น ขอให้ชุมนุมกันโดยสงบ รัฐบาลก็ผ่อนคลายไปบ้างแล้ว การใช้กำลังต่างๆ ก็พยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด แต่ขออย่าให้มีการสร้างสถานการณ์ให้นำไปสู่จุดนั้นก็แล้วกัน

  • ชี้เหตุการณ์ไม่เหมือนในอดีต

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯได้สั่งการไปว่าถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่มีการใช้กำลังเหมือนวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมาใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของคณะกรรมการและฝ่ายกำกับการปฏิบัติงานตามประกาศพิจารณาอยู่ เมื่อถามต่อว่า วันนี้มีคำถามและเปรียบกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) การยกระดับการสลายการชุมนุมทำไมถึงแตกต่างกัน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มันคนละเรื่อง คนละเวลา คนละเรื่องคนละสถานการณ์ คนละรัฐบาล อย่ามาถามรัฐบาลผม แต่ก่อนนี้รัฐบาลใคร รัฐบาลผมหรือเปล่า พอแล้ว

Advertisement

เมื่อถามว่า มีการพูดถึงการประกาศใช้เคอร์ฟิว รัฐบาลยืนยันหรือไม่ว่ายังไม่ประกาศเคอร์ฟิว นายกฯกล่าวว่า ยังไม่ได้พูดถึงอะไรเลยซักอย่าง ถามกันไปตลอด บอกแล้วว่ายังไม่มี ก็จะถามให้มันมีอยู่ได้ เข้าใจตรงนี้เสียบ้าง

  • วิษณุรับสถานการณ์หนักกว่าเดิม

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อหารือแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ ว่า ทราบว่าหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังหารือ เพราะว่าไม่สามารถทำได้โดยง่ายและเร็ว ขณะนี้กำลังหาช่องทางกันอยู่ เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาสมัยสามัญลงมาแล้ว ดังนั้น จึงเหลือเวลาประมาณ 10 วันก่อนจะเปิดประชุมสามัญฯในวันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญสามารถแทรกได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 และมาตรา 123 ก็ไม่มีปัญหาส่วนรัฐบาลจะเป็นฝ่ายขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเองหรือไม่นั้น เรื่องนี้ก็เป็นไปได้ เพราะมาตรา 122 รัฐบาลเป็นคนขอเปิดเอง ส่วนมาตรา 123 นั้นสมาชิกสภาเป็นผู้ลงชื่อขอเปิดจำนวนเกิน 1 ใน 3 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่ารัฐบาลจะเปิดเวทีพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยตรง เพื่อแก้ปัญหา นายวิษณุกล่าวว่านั้นก็เป็นทางออกทางหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่าใครกำลังดำเนินการอยู่ ส่วนจะมีโอกาสใช้แนวทางนี้หรือไม่ก็ตอบไม่ถูก

Advertisement
  • อนุทินไม่กดดันม็อบขู่ปิดสธ.

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมกดดันให้พรรค ภท.ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เช่นนั้นจะมาประท้วงที่ สธ.ว่า ไม่กดดันการที่พรรคทำงานร่วมกันในรัฐบาล ต้องมีสปิริตในการทำงานร่วมกัน และเหตุการณ์ความขัดแย้งอะไรต่างๆ ทุกคนในรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหา เพียงแต่ตอนนี้ หลายๆ คนอาจจะตอบคำถามไม่เป็นที่น่าพอใจ เช่น จะเปิดประชุมสภาวิสามัญทำไม เนื่องจากว่าอีกไม่กี่วันก็จะเปิดสมัยสามัญแล้ว อาจจะเป็นการตอบคำถามที่ทำให้ถูกมองว่า ไม่ได้แคร์ความรู้สึกประชาชน

“ยืนยันว่าแคร์กันทุกคน ไม่มีใครนอนหลับ ใน ครม.ตี 1 ตี 2 ยังทำงานกันอยู่ ไม่มีใครสบายใจในเรื่องนี้ ทุกคนทำงานกันอย่างเต็มที่ มีวันหนึ่งผมส่งไลน์ไปหานายกฯ ตอนตี 5 เพื่อที่จะส่งข้อมูลไปให้ดูเฉยๆ นายกฯตอบกลับมาในทันทีเลย แล้วบอกว่ายังไม่ได้นอนเลยทั้งคืน เพราะฉะนั้นไม่มีใครสบายใจกับเหตุการณ์แบบนี้ทุกคนก็ต้องทำงานอย่างเต็มที่” รองนายกฯกล่าว

  • ชวนชง2ทางเปิดวิสามัญ

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เรียกหัวหน้าพรรคการเมือง ตัวแทน ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล รวมถึง ฝ่ายคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาทิ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ (พปชร.)ในฐานะประธานวิปฝ่ายรัฐบาล นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานวิปฝ้ายค้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ในฐานะเลขาธิการพรรค พท. นายพิจารณ์ เชาวพัฒนพงศ์ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พร้อมทั้งหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อหารือ ถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เป็นการเร่งด่วน ก่อนการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญปกติ เพื่อให้รัฐสภาหาทางออกให้กับบ้านเมือง จากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ นายชวน ได้วางแนวทางในการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาวิสามัญ ไว้ 2 แนวทาง คือ ให้ ครม.เป็นฝ่ายขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ โดยการตราพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมขึ้น ตามมาตรา 122 วรรค 3 และ วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากตกลงตามแนวทางนี้ก็จะเสนอต่อที่ประชุมครม.ในวันที่ 20 ตุลาคม ตราพระราชกฤษฎีกา โดยประธานรัฐสภาจะมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เปิดการประชุมโดยด่วน สำหรับแนวทางที่ 2 ให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าชื่อ จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ขอให้ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูล เพื่อให้มีพระบรมราชโองการเรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญ ตามมาตรา 123 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ปัจจุบัน มี ส.ส. 488 คน ส.ว.245 คน รวม สมาชิกรัฐสภา 733 คน ต้องใช้เสียงสมาชิกเข้าชื่อ 245 คน ขึ้นไป จึงจะสามารถขอเปิดประชุมแนวทางนี้ได้

  • รบ.-ฝ่ายค้านหนุนเปิดวิสามัญ

ต่อมา ภายหลังได้ร่วมหารือกับตัวแทนพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ประธานวิปรัฐบาล และ ประธานวิปฝ่ายค้านร่วมกันแถลงข่าว โดยนายวิรัช กล่าวว่า ทุกฝ่ายเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดข้องที่จะให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาของประเทศ แต่ติดอยู่ตรงที่ว่าจะต้องทำเรื่องทูลเกล้าฯเพื่อขอเปิดประชุม อย่างไรก็ตาม นับจากวันนี้ไปถึงวันที่จะมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญที่ 2 เหลือเวลาอีก 11 วัน แต่ในที่ประชุมเห็นว่าการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญจะช้าหรือเร็ว 1 หรือ 2 วันก็มีค่าทั้งนั้น เพราะถือเป็นการแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง สำหรับการเปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ที่ให้นายกฯ ขอไปยังประธานรัฐสภานั้น เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรระบุว่าต้องมีเหตุและผลในการเสนอ และต้องเสนอวันปิดด้วย แม้เพิ่งมีคำประกาศพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญออกมาวันที่ 9 ตุลาคม และประกาศในราชกิจจาวันที่ 1 พฤศจิกายนแล้ว ดังนั้น หากจะเสนอไปเกรงว่าจะเป็นการซ้ำซ้อน ที่ประชุมจึงมอบหมายให้เลขาธิการสภาฯไปพิจารณาเรื่องนี้

  • วิรัชเร่งปิดร่างแก้รธน.7ฉบับ

เมื่อถามว่า หากการเปิดประชุมสมัยวิสามัญแล้วมีอะไรเป็นรูปธรรมจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายได้จริงหรือไม่ นายวิรัช กล่าวว่า หากจะให้มีการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง ทางคณะกรรมาธิการก็ต้องเร่งสรุปรายงานเพื่อเสนอต่อสภาภายในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ซึ่งกมธ.พิจารณา 6 ร่างของ ส.ส.แล้ว ส่วนร่างที่ 7 ของไอลอว์ (iLaw) ก็จะพยายามเร่งเพื่อให้นำพิจารณารวมกันคราวเดียว ขอฝากไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมว่าจะพยายามอย่างเต็มที่

  • สุทินหวัง ส.ว.ได้ร่วมถกด้วย

นายสุทิน กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือว่าเมื่อเปิดแล้วจะอภิปรายเรื่องใดบ้าง ก็ได้ข้อสรุปว่าจะต้องมีการพูดเรื่องการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่หลายคนเสนอให้ยกเลิก รวมทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องเวลา เพราะต้องการจะทำพร้อมกับร่างของไอลอว์ จะได้บรรจุวันที่ 22 พฤศจิกายน ส่วน 6 ร่างของ ส.ส.ที่เสนอไปแล้ว กมธ.ได้ขอขยายเวลาในการศึกษาอาจจะไม่ทัน อย่างไรก็ตาม ทางใดที่จะสามารถเร่งเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญได้ก็อยากจะให้ทำ ทั้งนี้ อยากให้การเปิดวิสามัญครั้งนี้เน้นการพูดจาสาระล้วนๆ เพราะไม่อยากให้สังคมกังวลว่าเปิดแล้วก็มาทะเลาะด่ากัน แต่เปิดเพื่อแก้ปัญหาจริงๆ ทางใดที่สามารถตอบสนองต่อประชาชนผู้ชุมนุมได้ก็ต้องทำ

“ความจริงแล้วในที่ประชุมทุกคนก็อยากจะให้มีการเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อให้ ส.ว.มาร่วมด้วย เว้นแต่หากทำไม่ได้จริงก็เปิดประชุมเฉพาะส.ส.เท่านั้น หากประธานสภาสามารถส่งหนังสือไปถึงคณะรัฐมนตรีได้ภายในวันนี้ ก็สามารถนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม.วันที่ 20 ตุลาคมได้เลย” นายสุทิน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image